นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน มาตรา 27 บัญญัติให้จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีภารกิจสำคัญสองส่วนคือ (1) เงินกู้ยืมกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน (2) เงินสบทุนกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานจะประกอบด้วยเงินที่โอนมาจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี และดำเนินการบริหารกองทุนตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2539 และอีกส่วนก็เป็นเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินสมทบที่ผู้ประกอบกิจการส่งเข้ากองทุน ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนอื่นๆ โดยกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เป็นผู้เก็บรักษาและดำเนินการเบิกจ่ายกองทุนตามพระราชบัญญัติ ซึ่งการให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุน แบ่งออกเป็นสองกรณี กรณีที่หนึ่ง เป็นการช่วยเหลือหรืออุดหนุนแก่ “ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน” ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายนี้และมีการดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในรอบปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 100 คน เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงานในปีที่ขอรับเงินอุดหนุนปีละ 10,000 บาท ซึ่งใช้กับผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป เช่น หากปี 2558 ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจำนวน 200 คน ในปี 2559 จะสามารถยื่นคำขอรับการช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานได้ 10,000 บาท กรณีที่สอง เป็นการช่วยเหลือหรืออุดหนุนแก่ “ผู้ประกอบกิจการที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน” ภายในเวลาที่กำหนดในปีที่ผ่านมา และได้ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานครบตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดในปีถัดมา เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างในปีที่ขอรับเงินอุดหนุน โดยให้จ่ายร้อยละ 10 ของเงินสมทบที่นำส่ง ซึ่งใช้บังคับแก่ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนการพัฒนาฝีมือแรงงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นไป ตัวอย่าง สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป อยู่ในข่ายบังคับเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ต้องดำเนินการการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างในสัดส่วนร้อยละ 50 ของลูกจ้างทั้งหมด เช่น ในปี 2557 สถานประกอบกิจการมีลูกจ้าง 200 คน ต้องดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานจำนวน 60 คน และนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนจำนวน 40 คน เป็นเงินจำนวน 43,200 บาท ต่อมาในปี 2558 ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างครบตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด ทำให้ในปี 2559 จึงสามารถยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานจำนวน 4,320 บาท (43,200x10%) อธิบดีกพร. กล่าวต่ออีกว่าผู้รับการฝึกที่ต้องสามารถกู้ยืมได้ต้องมีคุณสมบัติ เช่น อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 55 ปี มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และต้องไม่เป็นลูกหนี้กองทุน ส่วนสาขาช่างที่สามารถขอกู้เงินกองทุนการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อใช้ในการฝึกอบรม ได้แก่ ช่างไฟฟ้า ช่างอุตสาหการ ช่างก่อสร้าง ช่างเครื่องกล ช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ช่างเกษตรอุตสาหกรรม และภาคบริการ เป็นต้น และล่าสุดได้ปรับเพิ่มวงเงินกู้ยืมไม่เกิน 1 ล้านบาท ทำสัญญาตั้งแต่ 13 กรกฎาคม-12 มกราคม และลดอัตราดอกเบี้ยเป็น 0 % ตลอดอายุสัญญา เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานไปพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างเพิ่มมากขึ้น สนใจติดต่อได้ที่กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ โทรสอบถามได้ที่ 0-2643-603339 หรือดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ www.dsd.go.th/sdpaa