“พาณิชย์”มั่นใจหลังมะกัน-จีนบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรก-สหราชอาณาจักรประกาศผลเลือกตั้งดีต่อไทย พร้อมเดินหน้าเพิ่มส่งออกทะยานรับเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และผลเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรว่า ขณะนี้สหรัฐฯและจีนยืนยันบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรก (Phase-1) เรียบร้อยแล้วคืนวันที่ 13 ธ.ค.62(ตามเวลาประเทศไทย) ขณะที่นายบอริส จอห์นสัน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม คว้าชัยชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.62 ด้วยคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสหราชอาณาจักร (UK) แม้สหรัฐฯและจีนยังไม่เปิดเผยเนื้อหาข้อตกลงระยะแรกอย่างเป็นทางการที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทบทวนทางกฎหมาย และขัดเกลาถ้อยคำก่อนเข้าสู่กระบวนการลงนามต่อไป การยืนยันจากทั้ง 2 ประเทศจะช่วยให้บรรยากาศทางการค้าดีขึ้น และคลายความกังวลว่าสงครามการค้าจะไม่ลุกลามไปถึงการขึ้นภาษีนำเข้าเต็มจำนวน
ทั้งนี้ปรากฎรายละเอียดข้อตกลงบางส่วนได้แก่ สหรัฐฯเสนอว่า 1.ยกเลิกการขึ้นภาษี 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวิดีโอเกมส์ โทรทัศน์ วิทยุ จอคอมพิวเตอร์ และสินค้าอื่นผู้บริโภคอื่นๆเช่น นาฬิกา ของเล่น รองเท้าและเครื่องแต่งกาย(กำหนดเดิมวันที่ 15 ธ.ค.62) 2.ปรับลดภาษีสินค้า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเหลืออัตราร้อยละ 7.5 (จากเดิมร้อยละ 15 และบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย.62) และจะยังคงภาษีร้อยละ 25 สำหรับสินค้ามูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่จีนตกลงในประเด็น 1.การซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเวลา 2 ปี โดยจีนเน้นย้ำว่าจะต้องสอดคล้องกับความต้องการตลาดและเป็นไปตามข้อตกลงภายใต้ WTO 2.ลดอุปสรรคทางการค้าภาคการบริการอาทิ การเงินสาขาการธนาคาร การประกันภัย และหลักทรัพย์ 3.แก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และละเว้นการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศเพื่อการครอบครองเทคโนโลยีต่างชาติ 4.ละเว้นการดำเนินนโยบายค่าเงินที่สร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้สหรัฐฯประกาศเดินหน้าเจรจาข้อตกลงระยะ 2 (Phase-2 Deal)ทันที โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เปิดเผยเนื้อหาของข้อตกลง Phase-1 Deal ประกอบด้วยประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างและการขยายการค้าระหว่างกันได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายทอดเทคโนโลยี สินค้าเกษตร การบริการทางการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน การขยายการค้า ครอบคลุมสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร สินค้าเกษตรและอาหารทะเล พลังงาน และภาคบริการ และกลไกการระงับข้อพิพาท
ทั้งนี้ความสำเร็จของการเจรจา Phase-1 Deal นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯผลักดันให้จีนแก้ไข โดยประเมินว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภค โดยข้อตกลงระยะแรกจะช่วยลดภาระภาษีนำเข้าแก่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ และช่วยลดแรงกดดันด้านราคาต่อผู้บริโภค รวมถึงการบรรเทาภาวะการส่งออกและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนขยายตัวดีขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกไทยขยายตัวได้มากขึ้น
นอกจากนี้ต้องติดตามข้อตกลงระยะแรกไม่ระบุเงื่อนไขให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ ไทยจึงควรเร่งใช้โอกาสทดแทนสินค้าสหรัฐฯต่อไปในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2562 พบว่าไทยสามารถทดแทนสินค้าสหรัฐฯในจีนได้ดี โดยจีนนำเข้าจากสหรัฐฯลดลงร้อยละ 31.9 ขณะที่นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง และสิ่งมีชีวิต ส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต ขณะที่การลดภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯอาจทำให้ไทยได้ประโยชน์ลดลงจากการเบี่ยงเบนทางการค้า เนื่องจากสินค้าจีนจะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐฯมากขึ้น
ทั้งนี้ไทยควรกระชับมิตรผู้นำเข้าควบคู่กับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดให้มีเสถียรภาพ โดย 3 ไตรมาสแรกปี 2562 สหรัฐฯนำเข้าจีนลดลงร้อยละ 14 ขณะที่นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 โดยกลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ทดแทนสินค้าจีนได้ดีได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักร เครื่องมือ และส่วนประกอบ เหล็กและอลูมิเนียม และของใช้ในบ้านและสำนักงาน
ส่วนประเด็นการเลือกตั้งสหราชอาณาจักร (UK) วันที่ 12 ธ.ค.62 จากข้อมูลว่าพรรคอนุรักษ์นิยมของนายบอริส จอห์นสัน คว้าชัยชนะได้เสียงข้างมาก 364 จาก 650 ที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งการชนะเสียงข้างมากของพรรคอนุรักษ์นิยมสร้างความชอบธรรมในการนำ UK เดินหน้าออกจากสหภาพยุโรป (EU) และคาดว่านายบอริส จอห์นสัน จะเร่งผลักดันร่างกฎหมายการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Withdrawal Agreement Bill) ให้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา UK ได้ก่อนวันที่ 31 ม.ค.63 กำหนดวันเบร็กซิท ทำให้ UK มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) 11 เดือนถึงสิ้นปี 2563 ที่ 2ฝ่ายจะมีการเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตด้านต่างๆเช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง
โดยด้านเศรษฐกิจอาจเป็นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจากการประเมินเห็นว่า การเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่าง 2 ฝ่ายอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ทันในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน และมีโอกาสที่จะขยายเวลา ซึ่งในร่างกฎหมายการถอนตัวระบุว่าถ้า 2 ฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันก็สามารถขยายเวลาได้มากที่สุด 2 ปี จนถึงสิ้นปี 2565
ทั้งนี้ในส่วนของความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยกับสหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย และอันดับที่ 2 จาก EU รองจากเยอรมนี มีมูลค่าการค้ามากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี โดยกระทรวงพาณิชย์มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและสร้างเครือข่ายธุรกิจกับ UK อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการขายสินค้าไทยบนเว็บไซต์ซุปเปอร์มาเก็ตออนไลน์ อาทิ Ocado
ขณะเดียวกันคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์มีกำหนดเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรปีหน้าเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน ผลักดันการจัดตั้งคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างไทยกับ UK (Joint Trade Committee: JTC)ระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นกลไกการหารือระดับทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า การทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review) และการต่อยอดไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหราชอาณาจักรต่อไป