นับเป็นเวลา 94 ปี การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งหนหลังสุดในสมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ.2468 จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถือเป็นพระราชพิธีเบื้องปลาย ซึ่งได้เลื่อนจากวันที่ 24 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2562 เวลา 15.30 น. ดังเดิม การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ เป็นขบวนพยุหยาตราใหญ่ กองทัพเรือได้จัดเรือพระราชพิธีรวมจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ มีเรือพระที่นั่งที่ถือว่าสำคัญชั้นสูงสุด ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น มีกำลังพลพายประจำเรือ รวม 2,200 นาย ชุดแต่งกายของผู้ประจำเรือพระราชพิธีตามแบบชุดโบราณราชประเพณี เส้นทางขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากท่าวาสุกรีถึงท่าราชวรดิฐ ระยะทาง 4 กิโลเมตร การจัดรูปขบวนเรือตามรูปแบบโบราณราชประเพณี แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโม เป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง ทางด้านซ้ายและด้านขวามีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วย เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชัก ริ้วสายนอก ขนาบริ้วสายในด้านซ้ายและด้านขวาประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ บทกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ 3 บท ได้แก่ บทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือ และบทชมเมือง นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ผู้ประพันธ์ หลังจากเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคแล้ว จึงเป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์แบบตามโบราณราชประเพณี *********** เรือพระราชพิธีทุกลำทำจากไม้ มีอายุในการสร้าง โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ 5 มีอายุกว่า 102 ปี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 108 ปี เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 95 ปี ส่วนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2539 มีอายุ 23 ปี เรืออื่นๆ ในขบวนเรือรูปสัตว์แต่ละลำที่มีอายุการสร้างนับร้อยปี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานถึงความสง่างามของเรือพระที่นั่งลำนี้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ จากบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ที่ทรงประพันธ์ไว้ว่า “สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงส์ทรงพรหมิน ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างใหม่ แต่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา สำหรับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบันสร้างขึ้นในปลายรัชกาลที่ 5 แต่สร้างแล้วเสร็จในรัชกาลที่ 6 มีพลเรือตรีพระยาราชสงคราม รน. (กร หงสกุล) เป็นนาวาสถาปนิกผู้ต่อเรือสุพรรณหงส์ ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2454 ลักษณะของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง โขนหัวเรือจำหลักเป็นรูปหงส์เหมราช (สัตว์หิมพานต์) มีจงอยปากยาวปลายเชิดเล็กน้อย ลำคอเรียวยาว ตกแต่งด้วยแนวลายประจำยามก้านแย่ง ภายในแนวเส้นโค้งถี่ซ้อนกันเปรียบประดุจเป็นแนวขนของหงส์ และตกแต่งด้วยการลงรักปิดทองประดับกระจกแวววาว ลำเรือด้านนอกแนวต่อจากส่วนคอของโขนเรือลงมา ตกแต่งด้วยลายจำหลักกระหนกเครือเถาว์ก้านขด สวยสง่างามตามสุนทรียะแบบไทยประเพณี พระมหากษัตริย์เสด็จประทับเรือพระที่นั่ง จะมีการติดเครื่องสูงหักทองขวาง เช่น ฉัตร 7 ชั้น ฉัตร 5 ชั้น พระกลด บังสูรย์ พัดโบก กลางลำเรือมีบัลลังก์บุษบก หรือพระแท่นบัลลังก์กัญญา ที่ประทับบนเรือพระที่นั่งติดพระวิสูตรหรือผ้าม่าน และธง 3 ชายที่ท้ายเรือ บริเวณปากหงส์ประดับพู่จามรีห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึกเจียระไน และขนจามรีสีขาว คอหงส์คล้องพวงมาลัยดอกไม้ขนาดใหญ่ เรือพระที่นั่งมีขนาดความยาว 44.90 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึก 0.94 เมตร กำลังพลเรือรวม 71 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือ 64 นาย ได้แก่ นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 50 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนขานยาว 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง 7 นาย ในการพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พลพายใช้พายทอง พายในท่านกบิน โดยถือเป็นธรรมเนียมแต่เดิมมาว่า ถ้าจะเปลี่ยนท่าพายเป็นพายธรรมดา หรือพายกระเดียด จะต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน จึงเปลี่ยนท่าพายได้ ด้วยความสง่างามของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ทำให้องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักรมอบรางวัลเรือโลก โดยคณะกรรมการองค์การ World Ship Trust ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำปี พ.ศ.2535 (The World Ship Trust Maritime Heritage Award “Suphannahong Royal Barge”) *********** เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 3 เริ่มใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนลำปัจจุบันเป็นเรือสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 6 เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2457 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช คำว่า อนันตนาคราช มาจากภาษาสันสกฤต อนันตะ แปลว่า ไม่สิ้นสุด-นิรันดร นาคะ แปลว่า นาค หรือ งู ราชะ แปลว่า เจ้านาย หรือ พระราชา รวมความได้ว่า ราชาแห่งนาคที่ไม่สิ้นสุด โขนเรือเป็นรูปพญาอนันตนาคราช หรือ พญานาค 7 เศียร ปิดทองประดับกระจก บริเวณรัดอกประดับลายกระจังปฏิญาณมีเทพนมประดับอยู่ภายในรอบเข็มขัดรัด กลางลำเรือทอดบุษบกใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้ากฐิน ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ลวดลายไม้จำหลักของเรือเป็นลายก้านขดปิดทองประดับกระจกสีเขียว ตลอดทั้งลำเรือยังประดับลวดลายพญานาคเคลื่อนไหวอย่างพริ้วไหวและทรงพลังหันเศียรไปยังโขนเรือ สีพื้นภายนอกของเรือประดับกระจกสีน้ำเงินสื่อความหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ท้องเรือภายในทาสีแดง เรือพระที่นั่งมีขนาดความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึก 0.87 เมตร กำลังพลเรือรวม จำนวน 72 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือ 69 นาย ประกอบด้วยนายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 54 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย พนักงานเห่เรือ 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 3 นาย *********** เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรีในลำดับชั้นรอง ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินลำลอง ภายหลังนำเข้าขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรียกว่า เรือพระที่นั่งรอง ในพ.ศ.2510 งดการเข้าร่วมริ้วขบวน เนื่องจากอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก กระทั่ง พ.ศ.2512 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่แล้วเสร็จ พ.ศ.2515 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งลำนี้มีลักษณะเด่นคือโขนเรือเชิดเรียว ส่วนคำ อเนก หมายถึง จำนวนมาก และชาติภุชงค์ หมายถึง นาค สอดคล้องกับรูปโขนเรือที่มีเป็นรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปพญานาคแปลง คือมีใบหน้าเป็นมนุษย์รวม 7 หน้า ประดับกระจกสีเขียวเป็นหลักแต่ไม่ได้ลงยาสี ลักษณะเดียวกับศิลปกรรมหน้าบันพระอุโบสถต่างๆ ถัดจากหัวเรือมีเข็มขัดรัดแกะสลักเป็นลายนาคมีผ้าหน้าโขนเรือ และพู่ห้อยซ้าย-ขวา ลำเรือภายนอกทาสีชมพูแกะสลักลวดลายเป็นนาคเรียงซ้อนกันทั้งชั้นบนและล่างเป็นนาคเรียงหันหน้าไปทางหัวเรือ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญา เป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนเสด็จขึ้น หรือลงเรือพระที่นั่งอีกลำ โดยปกติเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราใหญ่จะทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ และทรงพระมหามงกุฎหรือพระชฎามหากฐิน ทรงพระมาลาเส้าสูง เรือที่ใช้ทรงเปลื้องเครื่องนี้เรียกว่า เรือพลับพลา เรือนี้จะเข้าเทียบท่าก่อน แล้วเรือพระที่นั่งลำทรงเทียบด้านนอกเรือพลับพลา เมื่อเสด็จสู่พลับพลาเปลื้องพระมหามงกุฎ หรือ พระชฎามหากฐินแล้ว จึงเสด็จขึ้น เช่นเดียวกันในการเสด็จกลับจะเสด็จลงเรือพลับพลาทรงพระมหามงกุฎหรือพระชฎามหากฐินก่อน แล้วจึงเสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่ง เรือพระที่นั่งมีขนาดความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ลึก 0.91 เมตร กำลังพลเรือรวม 82 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือจำนวน 75 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 61 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง 7 นาย *********** เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก รัชกาลที่ 9 โดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรได้นำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ และทรงพระราชทานนามนามเรือพระที่นั่งลำนี้ว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9” ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2539 ศิลปกรรมตลอดทั้งลำเรือแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก โขนเรือแกะสลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับติดตั้งปืนจ่ารง ลายบริเวณหัวเรือมีลักษณะเป็นก้านขดใบเทศมีครุฑประกอบที่ตัวก้านขด ท้ายเรือมีลักษณะคล้ายท้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แต่ส่วนเหนือมาลัยท้ายเป็นสร้อยหางครุฑ ปลายหางสุดของท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑ ตัวเรือภายนอกทาสีดำท้องเรือทาสีแดง ขอบเรือด้านบนแกะสลักอย่างวิจิตรต่อเนื่องตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือ ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียกราชบัลลังก์กัญญาเป็นลวดลายแกะสลัก ลงรักปิดทองประดับกระจก หลังคาพระแท่นกัญญาดาดด้วยผ้าสักหลาดสีแดงลายทองแผ่ลวด เป็นที่ประทับสำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูงที่เสด็จแทนพระองค์ จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง เคยเป็นเรือพระที่นั่งทรงเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 เรือพระที่นั่งมีขนาดความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึก 1.10 เมตร กำลังพลเรือรวม 71 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือ 64 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นายฝีพาย 50 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 7 นาย *********** เรือเอกไชยเหินหาว เรือเอกไชยหลาวทอง เรือเอกไชยเหินหาว เอกไชยเหินหาว แปลว่า ชัยชนะสูงสุดทะยานสู่ท้องฟ้า เอกไชยหลาวทอง แปลว่า เรือที่บรรจงสร้าง โดยการหลาวหรือเหลา เพื่อชัยชนะ หรือแปลว่า อาวุธทองคำที่นำชัยชนะ เรือสองลำนี้เป็นเรือคู่ชัก ทำหน้าที่ลากเรือพระที่นั่ง เช่น ชักลากเรือพระที่นั่งเมื่อน้ำเชี่ยวต้องการให้แล่นเร็วขึ้น ชื่อเรือทั้ง 2 ลำนี้ปรากฏอยู่ในสมุดภาพในขบวนพยุหยาตราชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เรือทั้งสองลำสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานถล่มที่กรุงเทพฯ โรงเก็บเรือพระราชพิธีได้รับความเสียหายและเรือทั้งสองลำนี้อย่างมาก พ.ศ.2508 กองทัพเรือและกรมศิลปากรจึงได้ร่วมกันบูรณะเรือทั้งสองลำนี้ใหม่ โดยใช้หัวเรือเดิมมาประกอบ เรือทั้งสองลำจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ หัวเรือเป็นรูปดั้งเชิดสูงงอนขึ้นไป ลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำรูปเหรา (สัตว์ในตำนาน ลักษณะคล้ายมังกรแต่มีหัวเป็นงูหรือนาค) ส่วนหัวเรือเขียนลวดลายเป็นศิลปกรรมไทย ลายกนกเปลวประกอบเข้ากับลายเหราลักษณะกำลังคาบลูกแก้ว ด้านในลูกแก้วเป็นลายประจำยามมีดอก 4 กลีบ เขียนเป็นรูปฟันแหลม มีลิ้น หนวด ส่วนแก้มเป็นลายกนกเปลว อย่างไรก็ตามสามารถสังเกตความต่างของเรือทั้งสองลำได้จากรูปลักษณ์ของหัวเรือ คือ เรือเอกไชยเหินหาวสีของดวงตาเหราจะเป็นสีทอง กระทงเรือมีแท่นรองฉัตร 7 ต้น ด้วยเพราะเคยเป็นเรือพระที่นั่งทรงมาก่อน ส่วนเรือเอกไชยหลาวทองดวงตาของเหราจะเป็นสีดำ ตัวเรือมีความยาว 27.50 เมตร กว้าง 1.97 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.60 เมตร กำลังพลประจำเรือลำละ 44 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 38 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย *********** เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือรูปสัตว์ประเภทเหล่าแสนยากร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 4 ชื่อเรือทั้ง 2 ลำนี้มาจากคำภาษาสันสกฤต อสุรวายุภักษ์ แปลว่า อสูรผู้มีลมเป็นอาหาร ส่วนอสุรปักษี แปลว่า อสูรผู้เป็นนก (สัตว์หินพานต์ในตำนาน) เรืออสุรวายุภักษ์ โขนเรือทองสองลำมีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก โดยมีส่วนบนเป็นหน้ายักษ์ ส่วนล่างเป็นนก ลงรักปิดทองประดับกระจก ที่ต่างแตกกันคือ โขนเรืออสุรวายุภักษ์ สวมเสื้อแขนยาวสีม่วง มือและเท้าเป็นสีคราม ส่วนโขนเรืออสุรปักษี ใส่เสื้อแขนยาวด้านหน้าสีกรมท่าอมม่วง หรือสีมอหมึก ด้านหลังสีเขียวใบแค มือและเท้าเป็นสีเขียว มีปีกที่แขน มงกุฎเป็นยอดเดินหนใช้การแกะสลักแทนการเขียนสีเป็นยอดขึ้นไป สวมเครื่องทรง มีกรองคอ หรือ นวมคอ ด้านข้างลำตัวประดับปีกกินรี รัดเข็มขัดปั้นเหน่ง มีสุวรรณกระถอบหรือผ้าห้อยหน้าเสียบที่ชายพกลงมาระหว่างช่องหน้าขา เบื้องใต้เป็นช่องสำหรับใส่จ่ารง กลางลำเรือมีคฤห (ครึ) เป็นเรือนสำหรับนั่งบนเรือมีพนักกั้น ภายนอกลำเรือเขียนด้วยลายรดน้ำพุดตานก้านต่อดอก เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานถล่มที่กรุงเทพฯ ได้สร้างความเสียหายให้กับเรือทั้งสองลำอย่างมาก กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรดำเนินการบูรณะซ่อมแซมใหญ่ เรืออสุรปักษี เมื่อพ.ศ.2508 เรืออสุรวายุภักษ์ เมื่อพ.ศ.2514 เรือมีความยาว 31 เมตร กว้าง 2.03 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.62 เมตร กำลังพลประจำเรือลำละ 57 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 40 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้าคอยให้จังหวะ 2 นาย และคนตีกลองชนะ 10 นาย *********** เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือกระบีปราบเมืองมาร เป็นเรือรูปสัตว์ประเภทเรือเหล่าแสนยากร เรือทั้ง 2 ลำ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานถล่มที่กรุงเทพฯ ได้สร้างความเสียหายให้กับเรือทั้งสองลำนี้ โดยกรมศิลปากรได้ดำเนินการตัดหัวโขนเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ และพ.ศ.2510 ทำการสร้างใหม่โดยใช้หัวโขนเรือเดิมนำมาซ่อมแซม เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือทั้งสองลำมีโขนเรือเป็นรูปพญาวานร หรือ หนุมานทหารเอกของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ เรือกระบี่ราญรอนราพณ์มีร่างกายสีดำ เรือกระบี่ปราบเมืองมารมีร่างกายสีขาว ไม่สวมเครื่องประดับหัว ตลอดทั้งกายเขียนวงขนเป็นเส้นฮ่อ 4 สี คือ สีน้ำตาล แดง ชมพู และทองคำเปลว มีเครื่องทรงกรองคอ หรือ นวมคอ สวมพาหุรัดหรือกำไลต้นแขน มีตาบทิศหรือแผ่นประดับอกซ้ายและขวา สวมกำไลข้อมือ และข้อเท้า สวมเข็ดขัด และผ้านุ่งปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม มือทั้งสองข้างของขุ่นกระบี่นั้นถือธงสามชายอย่างหาญกล้า ด้านล่างมีช่องสำหรับใส่จ่ารง ภายในลำเรือทาสีแดง ภายนอกทาสีดำเขียนด้วยลวดลายดอกพุดตานก้านต่อดอกสีทอง บริเวณกลางลำเรือมีคฤห (ครึ) เป็นเรือนสำหรับนั่งมีพนักกั้น ภายนอกลำเรือเขียนด้วยลายรดน้ำพุดตานก้านต่อดอก เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือทั้งสองลำมีขนาดความยาว 26.80 เมตร กว้าง 2.10 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.51 เมตร กำลังพลประจำลำละ 53 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 36 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้าคอยให้จังหวะ 2 นาย และคนตีกลองชนะ 10 นาย *********** เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือรูปสัตว์ประเภทเรือเหล่าแสนยากร ชื่อเรือทั้ง 2 ลำนี้ สะท้อนถึงอิทธิพลคัมภีร์ปุราณะของอินเดียที่มีต่อคตินิยมและศิลปกรรมไทย ครุฑเป็นเจ้าแห่งนกทั้งหลาย หรือเทพปักษิณ เป็นพาหนะของพระวิษณุ กล่าวกันว่า ครุฑสามารถแปลงกลายให้เป็นรูปร่างต่างๆ ไปได้ในทุกหนแห่งตามความปรารถนา ครุฑเป็นศัตรูกับนาคหรืองูทั้งหลาย ดังนั้นในศิลปกรรมของศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาจึงเห็นการสรรค์สร้างหรือเขียนลวดลายในท่าครุฑจับนาค ที่เรียกกันว่า ครุฑยุดนาค เรือครุฑเหินเห็จ เรือทั้งสองลำสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพฯ ได้สร้างความเสียหายให้กับเรือ กรมศิลปากรจึงตัดหัวโขนเรือและท้ายเรือมาเก็บรักษาไว้ แล้วทำการสร้างใหม่เมื่อพ.ศ.2511 โดยใช้หัวโขนเรือเดิมนำมาซ่อมแซม เรือครุฑเตร็จไตรจักร โขนเรือทั้งสองลำเป็นไม้จำหลักรูปครุฑยุดนาค 2 ตัวชูขึ้น เรือครุฑเหินเห็จประดับเครื่องทรงทั้งโขนเรือและท้ายเรือ โขนเรือครุฑเหินเห็จมีกายสีแดง สวมมงกุฎลักษณะยอดชัยสีทอง เขียนลายเส้นฮ่อทั้งที่ใบหน้า ลำตัว และส่วนขาเป็นสีดำ น้ำตาล ชมพู และสีทอง ปีกสยายเหมือนกำลังบิน ส่วนที่เท้าทั้งสองข้างจับนาค ลงรักปิดทองประดับกระจกสีเขียวเป็นหลัก ภายในเรือทาสีแดง ส่วนภายนอกทาสีดำ เขียนด้วยลายรดน้ำลายดอกพุดตานก้านต่อดอก ส่วนหัวโขนเรือครุฑเตร็จไตรจักร เนื่องจากมีสีกายเป็นสีชมพูอ่อน หรือสีหงส์ดิน จึงเขียนเส้นฮ่อใบหน้า และลำตัวด้วยสีน้ำตาล สีแดง และใช้สีขาวแทนสีชมพู ปิดทับด้วยทองคำเปลว ด้านล่างมีช่องสำหรับใส่ปืนจ่ารง เรือทั้งสองลำมีขนาดความยาว 28.58 เมตร กว้าง 2.10 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.56 เมตร กำลังพลประจำเรือลำละ 41 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 34 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้าให้จังหวะ 2 นาย *********** เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือทั้ง 2 ลำ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 แต่เดิมชื่อเรือพาลีรั้งทวีปใช้ว่าเรือพาลีล้างทวีป โขนเรือเป็นรูปวานร(พาลี) สวมมงกุฎ มีร่างกายสีเขียว ส่วนสุครีพครองเมืองเป็นรูปวานร(สุครีพ) สวมมงกุฎ มีร่างกายสีแดง ความยาวของเรือ 27.54 เมตร กว้าง 1.99 เมตรความลึกถึงท้องเรือ 0.59 เมตร กำลังพลลำละ 41 นายประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 34 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 นาย *********** เรือเสือทยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ เรือเสือทะยานชล ประเภทเรือพิฆาต มีหน้าที่ทำการรบ ไม่พบหลักฐานการสร้างและจำนวนที่สร้างที่ชัดเจน แต่ปรากฏชื่อเรือทั้งสองลำในลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราชลมารค พ.ศ.2387 ต่อมารัชกาลที่ 6 เหลือเพียง 1 คู่ คือเรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธ์ เรือทั้งสองลำได้บูรณะซ่อมแซมใหญ่ พ.ศ.2524 เช่น เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลาย ทาสีตัวเรือ เป็นต้น ตัวเรือวาดลงสีรูปเสือไว้ที่หัวเรือ มีช่องที่มีปืนจ่ารงยื่นออกมาภายในท้องเรือทาสีแดง ตัวเรือมีความยาว 22.23 เมตร กว้าง 1.75 เมตร ความลึกท้องเรือ 0.70 เมตร มีกำลังพล ลำละ 34 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นายฝีพาย 26 นาย พลสัญญาณ 1 นาย และคนนั่งประจำคฤห์ 3 นาย *********** เรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น เรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น ทำหน้าที่เรือประตูหน้า หรือเรือสำหรับนำหน้าขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ลำเดิมไม่พบหลักฐานการสร้าง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวเรือถูกลูกระเบิดได้รับความเสียหาย กรมศิลปากรจึงตัดหัวเรือและท้ายเรือ สร้างตัวเรือขึ้นใหม่ เรือทั้งสองลำมีลักษณะเป็นเรือดั้ง ทาน้ำมันยอดดั้งปิดทอง หัวเรือแกะสลักลวดลาย ท้ายเรือลงรักปิดทองประดับกระจก ตัวเรือความยาว 32.08 เมตร กว้าง 1.88 เมตร ลึก 64 เซนติเมตร ใช้กำลังพลลำละ 43 คน ประกอบด้วย นายเรือ 1 คนนายท้าย 2 คน ฝีพาย 39 คน และคนให้สัญญาณ 1 คน *********** เรือดั้ง ทำหน้าที่เรือป้องกันขบวนเรือ ไม่พบประวัติการสร้าง คำว่า “ดั้ง” แปลว่า “หน้า” เรือดั้งจึงหมายถึงเรือหน้า คำว่าเรือดั้ง ปรากฏใช้ครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เรือดั้งมีจำนวนทั้งสิ้น 22 ลำ ลำที่ 1 – 20 ทาสีน้ำมันเป็นสีดำ ลำที่ 21 - 22 เป็นสีทอง เรือดั้งไม่มีลวดลาย ส่วนหัวตั้งสูงงอน ทั้งนี้เรือดั้งแต่ละลำจะมีความยาวของเรือไม่เท่ากัน อยู่ระหว่าง 23.6 – 27.3 เมตร กว้าง 1.5 – 1.7 เมตร กำลังพล นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย พลสัญญาณ 1 นาย เส้า 2 นาย ประจำคฤห์ 5 นาย (นายทหาร 1 นาย พลทหาร 4 นาย) เหมือนกันทุกลำ แต่สำหรับฝีพายจะมีจำนวนแตกต่างกัน เนื่องจากความยาวของเรือไม่เท่ากัน เรือตำรวจ มีหน้าที่องครักษ์ มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรมนั่งคฤห์ มีจำนวน 3 ลำ ไม่พบประวัติการสร้าง รูปร่างและขนาดของเรือทาน้ำมันสีดำเกลี้ยงตลอดทั้งลำเรือ ความยาว 20.97 เมตร กว้าง 1.41 เมตร ความลึกท้องเรือ 0.47 เมตร กำลังพลประจำเรือลำละ 28 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 24 นาย พลสัญญาณ 1 นาย เรือแซง ทำหน้าที่อารักขาพระมหากษัตริย์เหมือนกับทหารมหาดเล็ก สามารถแซงเรือในขบวนมาอารักขาพระมหากษัตริย์ได้ มีจำนวน 7 ลำ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดเรือแซงจำนวน 4 ลำ ไว้ท้ายขบวน ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เพิ่มสำหรับพระตำรวจอีก 2 ลำ ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ตัดเรือแซงของพระตำรวจออกไป และเรือแซงทหารได้เปลี่ยนชื่อเป็นเรือแซงจนถึงปัจจุบัน ลักษณะหัวเรือเชิดขึ้นเหนือแนวน้ำทาสีดำ แต่ละลำมีขนาดไม่เท่ากัน โดยเรือแซง 1 – 6 มีความยาวเท่ากันคือ 23.2 เมตร แต่จะมีความกว้างไม่เท่ากัน อยู่ระหว่าง 1.40 – 1.62 เมตร ส่วนเรือแซง 7 มีความยาว 24.7 เมตร กว้าง 1.5 เมตร กำลังพล นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย พลสัญญาน 1 นาย เหมือนกันทุกลำ ยกเว้นจำนวนฝีพายเรือต่างกันไป