เรือพระที่นั่งเป็นพระราชพาหนะที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการเสด็จทางน้ำที่เรียกว่า ชลมารค หากเป็นเรือของพระบรมวงศานุวงศ์หรือเจ้านายองค์อื่นๆ ประทับมีชื่อเรียกต่างกันไปตามตำแหน่งฐานานุศักดิ์หรือชั้นยศ เรือพระที่นั่งสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงนั้นมีอยู่หลายประเภท หลายแบบ หรือมีพระราชประสงค์ให้สร้างเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน และรูปริ้วขบวนเพื่อความสะดวก คล่องตัว และเป็นระเบียบ จึงมีการสร้างเรือที่มีขนาดต่างๆ กัน มีรูปลักษณ์ ลวดลายเครื่องประดับที่คล้ายกันและต่างกัน เพื่อให้แลเห็นได้ชัดเจนว่าลำไหนใช้หน้าที่อะไร อยู่ตรงตำแหน่งไหน ฯลฯ เช่น การเสด็จไปในการพระราชสงคราม เรือพระที่นั่งจะเป็นเรือสำคัญที่สุด เพราะเป็นเรือที่พระมหากษัตริย์ทรง หรือประทับเป็นแม่ทัพหลวงหรือจอมทัพ เรือพระที่นั่งจะอยู่ตรงตำแหน่งของแม่ทัพตามรูปผังขบวนทัพตามหลักหรือตำราพิชัยสงคราม ถ้าในขบวนมีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญไปด้วย เช่น พระชัย จะต้องมีเรือพระที่นั่งอีกลำหนึ่งมักเป็นเรือพระที่นั่งรอง แต่ให้นำหน้าเรือพระที่นั่งทรง เพราะเป็นการถวายพระเกียรติสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขบวนแบบนี้เรียกขบวนพยุหยาตรา คือ ขบวนทัพเพื่อใช้ทางน้ำเป็นเส้นทางเดินทัพ จึงเรียกขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เช่น เมื่อคราวรบพม่าที่เมืองกาญจนบุรี ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ แสดงให้ทราบได้ชัดเจนว่า เรือพระที่นั่งในขบวนเรือพระราชพิธีเดิมใช้ในขบวนพยุหยาตราทัพ เป็นภารกิจหลักที่สำคัญขบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ นอกจากนี้ในยามบ้านเมืองปกติ พระมหากษัตริย์มักจะให้ซ้อมริ้วขบวนตามโอกาสสำคัญที่เหมาะสม เช่น ขบวนเสด็จเลียบพระนคร จะมีการจัดริ้วขบวนเรือเหมือนการเคลื่อนขบวนรบมากที่สุด นอกจากนั้นจะมีขบวนเรือเพื่อการพระราชพิธีต่างๆ เช่น การทอดผ้าพระกฐิน พระราชพิธีลงสรงในงานโสกันต์ พระราชพิธีแห่อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ พระราชพิธีอัญเชิญพระศพ พระราชพิธีลอยพระอังคาร หรือ พระราชพิธีฟันน้ำในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชพิธีเหล่านี้ใช้ขบวนเรือ มากน้อยบ้างตามความสำคัญของพระราชพิธี และมักจะเรียกขบวนเรือพระราชพิธี เมื่อมีการสร้างเรือพระที่นั่งหลายลำ มีรูปร่างขนาด ลวดลายและเครื่องประดับต่างๆ กันแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงให้จัดเรือพระที่นั่งแต่ละลำ จะใช้กี่ลำในแต่ละริ้วขบวนให้เหมาะสมกับลักษณะภารกิจที่จะใช้ จึงเกิดเป็นขบวนเรือประเภทต่างๆ ขึ้นหลายแบบ เช่น ขบวนพยุหยาตราใหญ่ ขบวนพยุหยาตราน้อย ขบวนราบใหญ่ ขบวนราบน้อย ขบวนเสด็จประพาส กระบวนแห่พระราชสาส์น ขบวนเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ฯลฯ เรือพระที่นั่งจะจัดตามความเหมาะสมของริ้วขบวนนั้นๆ ด้วย เช่น ขบวนพยุหยาตราใหญ่จะใช้เรือพระที่นั่งกิ่งลำเอกหรือลำใหญ่เป็นประธาน อย่างในตำราขบวนเพชรพวงซึ่งเป็นขบวนพยุหยาตราใหญ่ ใช้เรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย เป็นเรือพระที่นั่งทรงและเป็นประธานของขบวนเรือ เรือพระที่นั่งกิ่งลำรอง เรือพระที่นั่งเอกชัยและเรือพระที่นั่งอื่นๆ ลงตามตำแหน่งหน้าที่ในขบวนตามรูปผังของขบวนเรือที่กำหนด แต่ถ้าใช้เรือพระที่นั่งเอกไชยเป็นเรือทรงหรือเสด็จประทับ จะไม่ใช้เรือพระที่นั่งกิ่งลงในขบวนเพราะเรือพระที่นั่งกิ่ง มีศักดิ์สูงกว่าเรือพระที่นั่งเอกชัย ดังนี้เป็นต้น เรือพระที่นั่งในประเทศไทยนั้นที่พอจะมีหลักฐานให้ทราบได้ค่อนข้างชัด ปรากฏในสมัยอยุธยา โดยเฉพาะเรือรูปสัตว์ ดังในหนังสือสาส์นสมเด็จ ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ภาคที่ 46 พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันโท หลวงศารสุรไกร (ศริน จายนียโยธิน) พุทธศักราช 2516 ความว่า “ซึ่งทรงปรารภว่าตรงตำแหน่งที่ทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ อาจจะเอารูปสัตว์หัวเรือไปทำลายตรานั้น หม่อมฉันเห็นว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น น่าจะกลับกันข้ามคือเอารูปสัตว์ในดวงตรามาทำหัวเรือ ด้วยมีหนังสือที่จะอ้างได้ ตราตำแหน่งเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เป็นต้น และยังมีรูปสัตว์อื่นอีกมากมายหลายอย่างที่อยู่ในกฎหมายลักษณะศักดินา ซึ่งตั้งในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อพ.ศ.1998 ส่วนเรือรูปสัตว์มีในเรื่องพงศาวดารว่าประดิษฐ์ใช้ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อราวพ.ศ.2076 และมีเค้าว่าเลือกเอาแต่รูปสัตว์ ตามตราของข้าราชการชั้นสูง มาทำหัวเรือสำหรับเป็นพาหนะของข้าราชการตามตำแหน่งนั้น ใช้ในเวลาแห่เสด็จ มีพรรณนาไว้ในบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ถึงรูปสัตว์หัวเรือดั้ง เช่น พาลีและสุครีพก็คงสำหรับเจ้ากรมอาสาไปในนั้น แต่เรือดั้งหัวรูปครุฑกับกระบี่ เห็นจะนำเรือพระที่นั่งมาแต่เดิม” จากลายพระหัตถ์ที่ยกมาทรงเห็นว่าเรือดั้งหัวรูปครุฑกับกระบี่ เห็นจะนำเรือพระที่นั่งมาแต่เดิม แสดงให้เห็นว่าเรือพระที่นั่งมีมานานแล้ว ************ เรือพระที่นั่งในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เฉพาะที่ใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เท่าที่ปรากฏในเอกสารต่างๆ พอจะจัดเข้าพวกเป็นประเภทได้ดังนี้ ************ เรือพระที่นั่ง เป็นเรือที่ขึ้นทำเนียบหรือมีศักดิ์สูงสุดในบรรดาเรือพระพระราชพิธี และสูงสุดในขบวนเรือพยุหยาตรา มีเรื่องกล่าวไว้ในพงศาวดาร สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (น่าจะหลังพ.ศ.2153 ลงมา) เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรรอยพระพุทธบาททางชลมารคโดยขบวนเรือ ในเวลาที่เสด็จกลับ มีเรื่องเล่าว่าจะเป็นฝีพายหรือนายท้ายเรือเอาดอกเลาปักตรงปักวีเรือไชย เมื่อเรือเคลื่อนไปดอกเลาพลิ้วลมไสว มีพระราชดำรัสว่างามดี เมื่อถึงพระนครฯ เรียบร้อยแล้ว ทรงมีรับสั่งให้แปลงปักวีเรือไชยเป็นเรือกิ่ง เข้าใจว่าในการเสด็จฯครั้งนั้นจะไม่ได้เสด็จประทับเรือไชย คงจะประทับเรือพระที่นั่งอีกลำหนึ่งซึ่งตามหลังเรือไชย จึงทอดพระเนตรเห็นท้ายปักวีเรือไชยได้ถนัด และตรัสว่างามดี จึงทรงให้แกะสลักลายประดับท้ายเรือไชยแทนดอกเลาเป็นการถาวร และลายสลักที่ท้ายเรือหรือปักวีเรือไชยนี้คงจะมีทรงเป็นช่อลายคล้ายพลิ้วลมอย่างดอกเลา แลดูเป็นกิ่งลายหรือกิ่งช่อลาย จึงเรียกเรือพระที่นั่งที่แก้แปลงประดับลายใหม่นี้ว่าเรือกิ่ง และคงจะทรงโปรดเรือพระที่นั่งลำนี้มากด้วย จึงได้ขึ้นระวางเป็นเรือชั้นสูงสุด ในสมัยต่อมาเรือพระที่นั่งกิ่งมีการสร้างเพิ่มขึ้นอีกหลายลำ ดังปรากฏชื่อในขบวนเรือพยุหยาตราเพชรพวงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งเป็นลิลิต เมื่อพ.ศ.2330 ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งกิ่งหลายลำ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุนทรไชยคู่กับเรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรจักร เรือพระที่นั่งกิ่งศรีพิมานไชย เรือพระที่นั่งกิ่งไกรหิรัญญทอดบุษบกบัลลังก์ เรือพระที่นั่งกิ่งศรพรหมไชยทอดบุษบกพิมาน เรือพระที่นั่งกิ่งศรีสามรรถไชยทอดพิมานบัลลังก์ (เหมพิมานบรรยงก์) เรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรมุขทอดจตุรมุขพิมาน เหล่านี้เป็นต้น เรือพระที่นั่งกิ่งจะมีทั้งพระที่นั่งกิ่งเอก มักเรียกเรือต้น เช่น เรือพระที่นั่งศรีสามรรถไชย หรือ ศรีสมรรถไชย น่าจะมีลักษณะภาพตามที่ช่างชาวฝรั่งเศสเขียนไว้ในภาพ มี 2 ประเภท คือ เรือพระที่นั่งกิ่งเอก และพระที่นั่งกิ่งรอง ลักษณะเรือไชยสมัยกรุงศรีอยุธยา  ลักษณะเรือกิ่งสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่างชาวฝรั่งเศสที่มากับคณะมิชชันนารี เขียนจากเรือพระที่นั่งต่างๆ ตามที่บุคคลเหล่านั้น ได้เข้ามาพบเห็นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรือพระที่นั่งเอกไชย เป็นเรือพระที่นั่งที่มีศักดิ์เป็นลำดับสองรองจากเรือพระที่นั่งกิ่ง ในตำราเรือโบราณกล่าวไว้ว่า “เรือพระที่นั่งเอกไชยเป็นเรือที่มีรูปลักษณ์ ลวดลายงามที่สุดในขบวนเรือพยุหยาตรา จะเป็นรองก็แต่เรือพระที่นั่งกิ่งเท่านั้น” จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเรือพระที่นั่งเอกไชยน่าจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายใกล้เคียงกับเรือพระที่นั่งกิ่งมากที่สุด เพียงแต่มีขนาดรองลงมา การผูกลายประดับแสดงฐานานุศักดิ์รองลงมาจากเรือพระที่นั่งกิ่งเท่านั้น และเรือเอกไชยนี้น่าจะมาจากเรือไชยเดิม แต่เมื่อประดับให้งดงามขึ้นจึงเป็นเรือไชยเอกแล้วเรียกเรือเอกไชย แม้เป็นเรือพระที่นั่งก็เรียกเรือพระที่นั่งเอกไชยตามที่ชาวฝรั่งเศสเขียนไว้ ลำบนน่าจะเป็นเรือไชย ลำล่างน่าจะเป็นเรือพระที่นั่งเอกไชยหรือเรือพระที่นั่งกิ่งรอง เรือพระที่นั่งเอกไชยนี้ มี 2 ประเภท ได้แก่ เรือพระที่นั่งเอกไชยใหญ่และเรือพระที่นั่งเอกไชยน้อย เรือพระที่นั่งเอกไชยน้อยนี้ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ เคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงในการเสด็จประพาสเมืองสาครบุรี เพื่อทรงเบ็ดแล้วเกิดอุบติเหตุระหว่างทางเสด็จฯ ที่คลองโคกขาม ทำให้พันท้ายนรสิงห์ต้องโทษประหารชีวิต ภาพเรือต่างๆ ในรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยา วาดโดยศิลปินชาวฝรั่งเศส คริสต์ศตวรรษที่ 17 ภาพเขียนสีผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรื่องพระปฐมสมโพธิ เขียนขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรือทรงกษัตริย์ในภาพน่าจะเป็นเรือพระที่นั่งเอกไชย ทั้งโขนและปัถวีท้ายเรือ มีลายช่อกิ่งกนกคล้ายที่ชาวฝรั่งเศสเขียนไว้ ส่วนเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยนั้น เป็นเรือพระที่นั่งเอกไชยใหญ่ สมัยรัตนโกสินทร์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับภาพเรือดังกล่าวตามยุคสมัย แต่รูปทรงส่วนใหญ่ยังคงคล้ายเรือเอกไชยโบราณอยู่มาก นิยม กลิ่นบุบผา นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ด้านช่างสิบหมู่) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เขียนให้เห็นเป็นลักษณะไทย ************ เรือพระที่นั่งโขนรูปสัตว์ คือ ที่โขนเรือมีรูปสัตว์หิมพานต์ประดับอยู่ เช่น เรือพระที่นั่งโขนมีรูปครุฑ รูปนาค และรูปหงส์ประดับอยู่ ปัจจุบันเรียกเรือพระที่นั่งเหล่านี้ว่า เรือพระที่นั่งกิ่ง เรือพระที่นั่งลักษณะนี้ในหนังสือตำราเรือของเก่าเรียก ทินครุฑ ทินหงส์ ในที่เดียวกันนั้นก็กล่าวถึงทินกิ่งด้วย แสดงให้เห็นชัดว่า ทินครุฑ ทินหงส์ ไม่ใช้ทินกิ่ง อีกทั้งเรือโขนรูปสัตว์นี้พัฒนาขึ้นมาจากเรือแซงของเก่า แต่เรือกิ่งและเรือเอกไชยพัฒนาขึ้นมาจากเรือไชยของเดิม เรือพระที่นั่งโขนรูปสัตว์นี้ในสมัยอยุธยามักมีเป็นคู่ เช่น เรือไชยสุพรรณหงส์คู่กับเรือวรสุพรรณหงส์ เรือนาคจักรคฑาทองคู่เรือนาคถของรัตน์ เหล่านี้เป็นต้น และมักใช้เชิญพระราชสาส์นและใช้เป็นเรือพระที่นั่งรองในขบวน ดังภาพที่ชาวฝรั่งเศสเขียนไว้ในรูป วาดโดยศิลปินชาวฝรั่งเศส เรื่อพระที่นั่งโขนรูปสัตว์เหล่านี้ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มักสร้างอย่างละลำ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างเรือโขนรูปนาคเจ็ดเศียร ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นกว่าของโบราณ โดยมีขนาดความยาวเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง สมัยรัชกาลที่ 5 สร้างเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ ซึ่งเรือแบบนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เป็นเรือที่ได้รูปแบบมาจากเขมร ขยายให้มีความยาวเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง สมัยรัชกาลที่ 6 สร้างเรือโขนรูปหงส์ ให้มีขนาดความยาวเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง สมัยรัชกาลที่ 9 สร้างเรือโขนรูปนารายณ์ทรงครุฑ ขยายขนาดความยาวให้เท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง ทำให้เข้าใจว่าเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ความจริงเรือพระที่นั่งกิ่งไม่ได้ใช้ขนาดของเรือเป็นกฎเกณฑ์ แต่ใช้รูปลักษณะและลวดลายเป็นกฎเกณฑ์ รวมถึงมีขนาดใหญ่ยาวที่สุดด้วย ************ เรือพระที่นั่งศรี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายแล้วมีรูปลักษณะอย่างเดียวกับเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งลำนี้ควรเป็นเรือพระที่นั่งศรีด้วย เรือพระที่นั่งศรีนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีพระดำริว่า เรือลำสีดำปัจจุบันเรียกเรือดั้ง เรือลักษณะนี้ได้รูปแบบมาจากเรือเขมร ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบาย มีรูปร่างเหมือนกับเรือที่ไทยเรียกว่าเรือศรี “เรือศรีจะหมายความว่าอย่างไร สิริ หรือสีเขียว สีแดง นึกว่าไม่ใช่สิริ เพราะมีเรือศรีสักหลาดเป็นคู่เทียบอยู่ แม้ว่าสีแดงเขียวก็ยังเป็นไปได้อีกสองทาง คือ ลำเรือทาสีอย่างหนึ่ง หลังคาคาดสีอีกอย่างหนึ่ง และที่ชื่อว่าเรือศรีนั้น จะเป็นอย่างเดียวกับเรือศรีสักหลาดหรือมิใช่ คาดดูน่าจะหมายถึงหลังคาคาดสีเสียแหละมาก เพราะเป็นยศอยู่ที่หลังคา เช่นกลอนว่า ทรงพระวอช่อฟ้าหลังคาสี อันชื่อว่าเรือศรีสักหลาดนั้น บอกชัดว่าเป็นผ้า ผ้าศรีก็มีทางอย่างเดียว แต่หุ้มหลังคา จะเป็นได้หรือไม่ว่า ก่อนโน้นคาดสีหลังคาด้วยผ้าทำในเมืองไทย มีผ้าแดงขอ เป็นต้น ซึ่งเป็นสีแดงมัว ครั้นมีสักหลาดเข้ามาสีสดใส จึงเปลี่ยนใช้สักหลาดคาดหลังคาแทนผ้าเมืองไทย ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นได้หรือไม่ว่า ถ้าคาดหลังคาด้วยผ้าเมืองไทยจะเรียกว่าเรือสี แม้คาดหลังคาด้วยผ้าสักหลาด ซึ่งมาแต่นอกจะเรียกว่าเรือศรีสักหลาด ข้อที่จะหมายถึงเรือทาสีนั้นเห็นห่างไกลอยู่มาก” แนวพระดำริของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ชวนให้น่าคิดพิจารณาอยู่มาก แต่ในบัญชีเรือพระที่นั่งศรีของนาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี ปรากฏว่ามีหลายชนิดด้วยกัน เช่น เรือพระที่นั่งศรีประกอบ หมายถึงแกะสลักลายเข้าประดับปิดทองประดับกระจก เรือพระที่นั่งศรีเขียนทอง คือเขียนลายรดน้ำ เรือพระที่นั่งศรีประดับกระจกลายยา คือปิดทองพื้นผิวด้านนอกของเรือและขุดลายอย่างลายฝังมุก แล้วประดับกระจกลงในหลุมลาย ดูได้จากทวนเรือเอนกชาติภุชงค์ เมื่อลำเรือวิจิตรแพรวพราวดังนี้ หลังคาจะมีแค่เพียงคาดผ้าสีเห็นจะไม่เข้ากัน และไม่เหมาะสมจะเป็นเรือพระที่นั่งด้วย เพราะหลังคากัญญาเรือและคฤห์เรือขุนนางยังมีลายที่ทรงอ้างถึงศรีผ้าสักหลาดนั้น อาจจะหมายถึงเดิมผ้าพื้นลายอาจเป็นผ้าไทยอย่างแนวพระดำริจริง ภายหลังใช้สักหลาดก็จริงอีก แต่คงจะไม่ได้หมายความว่าเป็นผ้าสีไทยหรือผ้าสักหลาดเกลี้ยงๆ ตามธรรมดาคนไทย และยิ่งเป็นช่างด้วยแล้วมักไม่พูดประโยคยาว รู้กันอยู่ว่าหลังคาประทุนกัญญาเรือพระที่นั่งมีลาย แต่ผ้าเดิมเป็นผ้าสีอย่างไทย เมื่อมีสักหลาดเข้ามาและเพิ่งเริ่มใช้ลำแรกในจำนวนเรือพระที่นั่งศรีหลายลำ ช่างจึงมักเรียก เรือศรีสักหลาดสั้นๆ เป็นที่เข้าใจกันในหมู่ช่าง ต่อมาเลยเรียกกันแพร่หลายขึ้นจนเข้าใจว่าเป็นชื่อเรือพระที่นั่งลำนั้น แท้จริงเรือพระที่นั่งศรีที่ใช้ผ้าสักหลาดลำนั้นน่าจะมีชื่อเฉพาะอยู่ แต่ด้วยเรือศรีมีหลายแบบลวดลาย เช่น ศรีประกอบ ศรีเขียนทอง ศรีกระจกลายยา ตามถนัดปากของช่าง จะเรียกศรีสักหลาดอีกลำหนึ่งจะเป็นไรไป เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ มีลักษณะรูปทรงอย่างเดียวกันกับเรือดั้ง หากความจริงเป็นดังที่ได้วิเคราะห์มานี้ คำว่าศรี น่าจะหมายถึงสิริ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเข้าพระทัย และพระองค์เคยเสด็จไปเขมรได้ทอดพระเนตรเห็นเรือชาวบ้านที่ชาวเขมรใช้กัน ในท้องน้ำเมืองเขมรมีรูปลักษณะอย่างเดียวกับเรือที่ปัจจุบันเรียกเรือดั้ง มีรูปทรงอย่างเดียวกับเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งศรีนี้เดิมทอดพระแท่นกัญญา ซึ่งกัญญานั้นหมายถึงนางงาม นางสาวน้อย น่าจะเป็นเรือที่เจ้านายฝ่ายในทรง หากเรือพระที่นั่งกิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรง หมายถึงพระอิศวร ทรงเรือพระที่นั่งหงส์ หมายถึงพระพรหม ทรงเรือพระที่นั่งครุฑ หมายถึงพระนารายณ์ทรงแล้วละก็ เรือพระที่นั่งศรี หมายถึงพระศรีหรือพระลักษมีทรงจะลงกันได้พอดี ตรงตำแหน่งเจ้านายฝ่ายในอีกด้วย ************ เรือพระที่นั่งกราบ เป็นลักษณะเรือไทยไม่มีภาพประดับโขนเรือและมีขนาดเล็กกว่า เรือพระที่นั่งประเภทอื่น ลักษณะเด่นคือ ไม้กระดาน ทวนหัว ทวนท้ายตัด ไม่สูงอย่างเรือศรี เรือกราบนี้ หากเป็นเรือเหล่าแสนยากร คือ เรือขุนนาง ข้าราชการแล้วจะไม่มีลวดลาย เป็นเรือทาน้ำมันเฉยๆ แต่เรือพระที่นั่งกราบจะมีลวดลายหรือไม่นั้น ไม่เหลือหลักฐานทางวัตถุ เพราะปัจจุบันไม่มีเรือพระที่นั่งกราบ แม้ชิ้นส่วนชำรุดไม่มีปรากฏให้เห็น แต่ด้วยเป็นเรือพระที่นั่งอย่างน้อยควรจะทาสี ถ้าอย่างดีควรจะเขียนลายทองบางส่วน เรือพระที่นั่งกราบนี้ ว่ากันว่า ทอดพระที่นั่งกง เป็นลักษณะโถงซึ่งบางครั้งเรียกเรือพระที่นั่งโถงด้วย หากเป็นดังว่าจะต้องกั้นพระกลดและบังสูรย์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เรือคงจะเรียบเกลี้ยงไม่ได้ เพราะไม่รับกับพระที่นั่งกงพระกลดและบังสูรย์ เรือพระที่นั่งกราบนี้ ปัจจุบันพอจะเห็นเค้ารูปร่างลักษณะได้ คือ ภาพเขียนสีผนังพระวิหาร วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระยาอนุศาสตร์จิตรกรเขียนเรื่องพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวร ตอนทรงเรือพระที่นั่งพายตามจับพระยาจีนจันตุ ในภาพเห็นหัวเรือกราบห้อยพู่หัวเรือน่าจะเป็นเรือพระที่นั่งทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่มีรับสั่งให้ฝีพายนำเรือพระที่นั่งของพระองค์เข้าบังเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวร ด้วยเกรงว่าสมเด็จพระนเรศวรจะได้รับอันตรายจากศัตรู ถัดจากเรือที่เข้าใจว่าจะเป็นเรือพระที่นั่งทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถ ห่างออกยังมีเรือกราบอีก 2 ลำ และเรือพระที่นั่งกราบในภาพนี้ทอดพระแท่นกัญญา ทั้งผ้าม่าน ผ้าดาษหลังคา และผ้าจั่วเป็นลักษณะผ้าลายทองแผ่ลวด ดังรายละเอียดในภาพ หลักสังเกตรูปลักษณะของเรือพระที่นั่งประเภทต่างๆ ดังนี้ 1. เรือพระที่นั่งกิ่ง มีการพัฒนารูปแบบมาจากเรือเอกไชย แต่มีขนาดใหญ่ยาวกว่า และมีความสวยงามยิ่งกว่าเรือเอกไชย และเรือพระที่นั่งเอกไชย 2. เรือพระที่นั่งเอกไชย มีการพัฒนารูปแบบมาจากเรือไชย แต่มีขนาดใหญ่ยาวและงดงามเป็นเอกกว่าเรือไชยอื่น ๆ จึงเรียกเรือไชยเอกหรือเรือเอกไชย 3. เรือพระที่นั่งโขนรูปสัตว์ เช่น ทินครุฑ ทินหงส์ มีการพัฒนารูปแบบมาจากเรือแซ หรือเรือเซ คือเรือแม่น้ำของเดิมผสมผสานกับรูปแบบศิลปกรรมขอม เกิดเป็นเรือพระที่นั่งโขนรูปสัตว์หิมพานต์ 4. เรือพระที่นั่งศรี มีการพัฒนารูปแบบมาจากเรือเขมรตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบาย 5. เรือพระที่นั่งกราบ เป็นแบบเรือไทย พัฒนาจากเรือมาดที่ชาวบ้านใช้ เรือกราบ เหล่าแสนยากร หรือขุนนาง ข้าราชการ ปัจจุบันเรียกเรือแซง เรือรูปลักษณะนี้เป็นเรือไทยมาแต่เดิม พัฒนาขึ้นมาจากเรือมาด เรือทั้ง 3 ลำใน 2 ภาพ เป็นเรือกัญญา อย่างที่เรียกเรือกราบกัญญา แต่เรือขุนนาง ข้าราชการ ไม่มีแท่น ผู้บังคับเรือหรือนายเรือนั่งกับกระทงเรือมีพนักข้างและพนักหลัง เรือพระที่นั่งกราบคงจะคล้ายกันกับเรือข้าราชการ เพียงแต่มีขนาดและรายละเอียดงดงามกว่า กัญญามีพระแท่น ลำเรือน่าจะมีลวดลายประดับ ที่เอกสารบางฉบับระบุว่าทอดพระที่นั่งกง อาจเป็นความเข้าในคลาดเคลื่อนก็อาจเป็นได้ พอจะเข้าใจรูปร่างลักษณะของเรือพระที่นั่งต่างๆ และอาจสามารถแยกแยะรูปแบบชนิด ประเภทการใช้งาน การวางตำแหน่งในริ้วขบวน ตลอดจนฐานานุศักดิ์ของเรือได้ (คัดจากเรื่องและภาพ “เรือพระที่นั่งในอดีต” นิยม กลิ่นบุบผา นิตยสารศิลปากร ปีที่ 56 ฉบับที่ 1)