ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตัวเกาะกรุงเป็นเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลอง นอกจากชาวบ้านจะสร้างเรือขึ้นใช้เป็นพาหนะในการสัญจรและขนส่งสรรพสิ่งในชีวิต ปรากฏว่าราชสำนักอยุธยาก็มีการสร้างเรือหลวงขึ้นมากมายเพื่อใช้ในราชการ ซึ่งเชื่อแน่ว่านอกจากเรือที่สร้างเพื่อใช้ลำเลียงกำลังพลและเสบียงตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรบแล้ว ก็คงมีการจัดสร้างเรือสำคัญขึ้นใช้การพระราชพิธีด้วย เท่าที่ปรากฏหลักฐาน ดังเช่น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงสร้างเรือพระที่นั่งกิ่งขึ้นกับทรงตั้งกฐินบกพยุหยาตราใหญ่เป็นครั้งแรก ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชบ้านเมืองมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ มากมาย อีกทั้งทรงสร้างเมืองลพบุรีขึ้น จึงมีการเสด็จฯ โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค และในบางโอกาสได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดขบวนเรือหลวงออกรับคณะราชทูตและแห่พระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสจากกรุงศรีอยุธยาไปยังเมืองลพบุรี ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการเขียนริ้วขบวนเสด็จฯ ไว้ทั้งกระบวนพยุหยาตราสถลมารคและกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในหนังสือริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งคัดลอกมาจากภาพเขียนฝาผนังที่วัดยม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งภาพเขียนจริงนั้นปัจจุบันถูกทำลายไปหมดแล้ว โดนเฉพาะขบวนพยุหยาตราชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับว่าเป็นริ้วกระบวนที่ยิ่งใหญ่มาก ยามบ้านเมืองสุขสงบ ชาวกรุงศรีอยุธยาก็จะใช้เรือแบบชาวบ้านเป็นเครื่องมือในการหาความบันเทิง โดยเล่นเพลงเรือ แข่งเรืออย่างเอิกเกริก ฝ่ายราชสำนักก็ใช้เรือหลวงในการเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าแผ่นดินทั้งการแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ หรือเสด็จพระราชดำเนินไปทอดผ้ากฐินยังพระอารามและวัดต่างๆ โดยสันนิษฐานว่าขบวนเรือหลวงจะมีขนาดเท่าใดนั้น คงขึ้นอยู่กับฐานานุศักดิ์ของเจ้านายแต่ละพระองค์ โดยหากเป็นขบวนเรือที่จัดเคลื่อนกำลังทัพของพระมหากษัตริย์ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ ก็จะเรียกว่า ขบวนพยุหยาตราชลมารค แต่หากเป็นเพียงการพระราชกุศล เสด็จเลียบพระนคร หรือประกอบพระราชพิธีต่างๆ ทางน้ำ เมื่อครั้งอดีตจะเรียกการจัดขบวนในราชกิจเช่นนี้ว่า ขบวนเรือพระราชพิธี เอกสารของชาวฝรั่งเศสได้บันทึกเกี่ยวกับเรือของราชอาณาจักรสยาม ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ว่า “เรือนั้นลำยาวและแคบมาก มักจะทำขึ้นจากซุงท่อนเดียว ใช้สิ่วเจาะเอาตามความยาว แล้วถากด้วยเครื่องมือเหล็ก แล้วนำขึ้นแขวนย่างไฟ และค่อยๆ เบิกไปให้กว้างที่สุด เท่าที่จะทำได้ โดยไม่ให้เนื้อไม้แตก... เรือเหล่านี้มีราคาแพง เรือลำหนึ่งๆ ใช้ฝีพาย รวม 50-60 คน...” จากข้อมูลดังกล่าวก็เชื่อแน่ว่าการที่จะทำให้ฝีพายทั้ง 50-60 คนลงพายพร้อมกันจะต้องมีการให้จังหวะแก่พลพายไม่ด้วยวิธีการใดก็วิธีการหนึ่งอย่างแน่นอน ซึ่งวิธีการที่เรียบง่ายและยังคงใช้ในการให้จังหวะเรือดั้งในกระบวนพยุหยาตราชลมารคมาตราบจนปัจจุบัน ก็เห็นจะเป็นจังหวะการกระทุ้ง “ส้าว” หรือ “เส้า” ซึ่งปกติไม้เส้าลำยาวนี้จะใช้สำหรับยื่นให้คนที่ตกน้ำในเวลาที่เรือพระประเทียบของเจ้านายฝ่ายในล่ม ประกอบกับการขานเสียงให้เป็นที่รับรู้กัน ส่วนการเห่เรือเรือพระราชพิธีซึ่งเป็นการขับลำนำเป็นทำนองอย่างหนึ่งในขบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค โดยมีต้นเสียงเห่นำแล้วมีลูกคู่เห่ตามนั้น แม้จะมี “กาพย์เห่เรือ” พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง เป็นวรรณกรรมที่นิยมอ้างว่าน่าจะมีการเห่เรือกันมาแต่ครั้งอยุธยา แต่นักวิชาการบางท่านก็ว่า “ร้องโห่เห่ โอ้เห่มา” นั้นเป็นเพียงบทเห่เรือเล่นเชิงสังวาสเป็นการส่วนพระองค์ เพราะในสมัยนั้นเชื่อว่ายังไม่มีการส่งเสียงเห่ในกระบวนพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค จึงทำให้บางท่านว่าการเห่เรือนั้นเป็นประเพณีที่เพิ่งสร้างใหม่ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ โดยน่าเชื่อว่าเริ่มมีในละครและเพลงดนตรีที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสร้างสรรค์ขึ้นในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ที่น่าสนใจก็คือ มีเอกสารในบันทึกของชาวต่างชาติที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเห่เรือที่ว่านี้ อย่างเช่น นิโคลาส แชร์เวส บุคคลในคณะทูตฝรั่งเศสผู้หนึ่งซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยนั้น ได้บรรยายไว้ในหนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” ถึงขบวนพยุหยาตราชลมารคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ว่า “...จะไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั่นใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายจะพายพร้อมกันเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทองเหมือนกัน เสียงพายกระทบนั้นเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน...” เมื่อครั้งที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งลาลูแบร์เป็นราชทูตเข้ามายังประเทศสยาม พร้อมกับคณะบาทหลวงเยซูอิด ใน พ.ศ.2228 โดยมีบาทหลวงผู้หนึ่งคือ กวีย์ ตาชาร์ด ร่วมคณะมาด้วย ตาชาร์ดผู้นี้เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง “จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ประเทศสยาม” ในตอนหนึ่งได้เล่าถึงขบวนเรือที่ใช้ออกรับเครื่องราชบรรณาการว่า “...มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่ 4 ลำมา แต่ละลำมีฝีพายถึง 80 คน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน 2 ลำแรกนั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้าปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมันมาแต่ไกลในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมันมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์ 2 นายมาในเรือทั้ง 2 ลำ เพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออก ไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลาที่ลอยลำอยู่นี้ ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่ง และไม่มีเรือลำได้เลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบัลลังก์หลวง และเครื่องราชบรรณาการที่บรรทุกอยู่นั้น...” บาทหลวง ตาชาร์ด ยังเขียนถึงขบวนเรือที่แห่พระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการที่เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา ไปยังเมืองลพบุรีไว้อีกว่า “...ขบวนอันยืดยาวของเรือบังลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้มีจำนวนถึง 150 ลำผนวกกับเรือลำอื่นๆ เข้าอีกก็แน่นแม่น้ำ แลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามยิ่งนัก เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยาม อันคล้ายจะรุกไล่เข้าประกับข้าศึกนั้น ก้องไปทั้งฟากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชาพลเมืองมาคอยชมขบวนเรือยาตราอันมโหฬารนี้อยู่...” จากบทบันทึกดังกล่าว คงจะทำให้ต้องกลับมาทบทวนและด่วนสรุปว่าแต่ก่อนแต่ไรมาไม่มีการเห่เรือไม่ได้เสียแล้ว เพียงแต่ไม่อาจจะรู้ได้ว่าการเห่ที่ว่านั้นถือเป็นการเห่ในขบวนพยุหยาตราชลมารคหรือขบวนเรือพระราชพิธี ตลอดทั้งเนื้อความที่ใช้เห่รวมทั้งทำนองและระเบียบในการเห่เมื่อครั้งอดีตนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้น ก็คงทำได้เพียงต่างคนต่างสันนิษฐานตามการตีความจากหลักฐานเท่าที่มีอยู่ ซึ่งมีอยู่เพียงน้อยนิดและช่วงเวลาที่ส่งผลต่อธรรมเนียมนิยมในยุคสมัยก็ห่างจากปัจจุบันไปมากโข เพราะแม้แต่ทำนองและลีลาในการเห่เรือที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็มีการปรับเปลี่ยนทางเห่ให้ต่างไปจากในประวัติการเห่เรือที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงประดิษฐ์ทางเห่ไว้ใช้ในการพยุหยาตราชลมารคเมื่อครั้งรัชกาลที่ 7 แล้วต่อให้ครูโป๊ะ เหมรำไพ เป็นผู้สืบทางไว้ไม่น้อยทีเดียว (เรียบเรียง : วัฒนรักษ์ [email protected])