สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงเรื่องราวในอวกาศเนื่องในวันศุกร์ที่ตรงกับวันที่ 13 (ตามเรื่องราวความเชื่อของคนฝั่งตะวันตก) พอดิบพอดี ด้วยภาพที่คล้ายกับฟักทองฮาโลวีนจากกล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์ “กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) เผยภาพกลุ่มแก๊สและเมฆฝุ่นในช่วงคลื่นอินฟราเรด ลักษณะคล้ายตะเกียงฟักทองแจ็คโอแลนเทิร์น (Jack-o'Lantern) จากการศึกษาข้อมูลภาพถ่ายในช่วงคลื่นอินฟราเรดของกล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์ระหว่างพ.ศ. 2547-2552 นักวิจัยพบดาวฤกษ์มวลมากกว่า 15-20 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ปรากฏเป็นจุดสีขาวภายในเนบิวลา การแผ่รังสีของดาวฤกษ์มวลสูงนี้พัดกลุ่มแก๊สและเมฆฝุ่นแยกออกจนเกิดเป็นร่องลึกดังภาพ นักวิจัยใช้ข้อมูลภาพถ่ายอินฟราเรดสามความยาวคลื่นประกอบเป็นภาพหลากสีของเนบิวลา สีเขียวและสีแดง แสดงถึงเมฆฝุ่นที่มีอุณหภูมิต่างกัน สีน้ำเงิน แสดงถึงดาวฤกษ์เกิดใหม่และเมฆฝุ่นร้อนในเนบิวลา เมื่อนำภาพทั้งสามมารวมกัน สีแดงจากฝุ่นจะปรากฏเด่นชัดที่สุด ส่วนพื้นที่สีขาวแสดงถึงวัตถุที่สว่างในทั้งสามช่วงคลื่น วารสาร Astrophysical ตีพิมพ์ผลการศึกษาบริเวณรอบนอกของกาแล็กซีทางช้างเผือกผ่านรังสีอินฟราเรด เพื่อนับจำนวนดาวฤกษ์เกิดใหม่ ระบุว่า ดาวฤกษ์เกิดใหม่ยังคงเกาะกลุ่มในเมฆฝุ่นหนาแน่น เมื่อวิเคราะห์ร่วมกับการกระจายตัวของดาวอายุมากในพื้นที่ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักวิจัยตรวจสอบได้ว่า อัตราการก่อตัวของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ในพื้นที่รอบนอกของกาแล็กซีแตกต่างจากภายในกาแล็กซีทางช้างเผือกหรือไม่ นักวิจัยทราบดีว่า พื้นที่นอกกาแล็กซีมีสภาพต่างจากในกาแล็กซีเล็กน้อย เช่น กลุ่มแก๊สและเมฆฝุ่นรอบนอกจะเย็นและกระจายตัวมากกว่าบริเวณใกล้ใจกลางกาแล็กซี จึงอาจมีอัตราการก่อตัวของดาวฤกษ์น้อย นอกจากนี้กลุ่มแก๊สและเมฆฝุ่นยังมีองค์ประกอบทางเคมีพวกธาตุหนัก รวมถึงคาร์บอน ออกซิเจน และโมเลกุลอื่นๆ สำหรับสิ่งมีชีวิตในปริมาณน้อย ท้ายที่สุด การศึกษานี้อาจบ่งชี้ได้ว่า มีโอกาสจะพบดาวเคราะห์ลักษณะคล้ายโลกที่บริเวณรอบนอกกาแล็กซีหรือในกาแล็กซีทางช้างเผือกมากกว่ากัน เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/…/spitzer-telescope-spots-a-ghoulish-g” ภาพจาก https://www.nasa.gov/…/spitzer-telescope-spots-a-ghoulish-g”