เฟซบุ๊ก Holl Ptong และ อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำโขงไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ นาฬิกาข้อมือบอกเวลา 21นาฬิกา20นาที บรรดาอ้ายน้องหน่วยลาดตระเวรที่มีชื่อบนกระดานดำ ต่างก็มารวมตัวกัน เพื่อตระเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการออกปฏิบัติภารกิจน้ำมันเรือ อาหาร น้ำดื่ม และอาวุธปืนอาก้าจำนวนหนึ่ง ถูกนำมาวางเรียงรายบริเวณลานห้องการปกครองหมู่บ้านหางคอน เมืองโขง แขวงจำปาสัก หลังจากตรวจเช็คทุกอย่างเรียบดีแล้ว ชายฉกรรจ์ราว 6-8 นาย ก็ได้เวลาติดเครื่องเรือจักร ออกทะยานสู่น่านน้ำโขง เขตพรมแดนลาว-กัมพูชา รอยต่อเมืองโขง แขวงจำปาสัก และเมืองสะเตร็งตรึง แขวงเชียงแตง สานต่อภารกิจพิทักษ์ปลาข่า หรือโลมาอิรวดี 3-4 ตัวสุดท้ายในประเทศลาว ให้เป็นมรดกถึงลูกหลาน "นาเวียกหลักของพวกพ่อนี้ก็แม่น คอยติดตาม กวกกา บ่ให้มีปะชาชน หรือกลุ่มคนบ่หวังดีเข้ามาหาปลาด้วยวิธีที่มันบ่ถืกต้องหั้นนะ เป็นต้นแล้วแม่น การใช้สารพิษบ่, ใช้ไฟฟ้าช็อตปลาบ่ หรือว่าใช้ระเบิดน่อ ย้อน โตปัจจัยดังว่านี้ มันมาเฮ็ดให้เกิดผลกระทบต่อปลาข่า (ปลาโลมาอิรวดีในภาษาไทย) ของพวกเฮานี้ ทั้งทางกง และทางอ้อม ลูกชายเอ้ย" พ่อหนูใหม่ บัวประเสริฐ กำนันบ้านหางคอน หัวหน้าชุดหน่วยลาดตระเวนทางเรือ เล่าให้ฟังเสียงดังเป็นฉากๆผ่านโทรศัพท์มือถือตลอดเช้านี้ เกี่ยวกับภารกิจ การออกลาดตระเวรป้องกันวังสงวนโลมาอิรวดี หรือปลาข่า หลังจากประชากรสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมนี้ลดลงอย่างน่าใจหายตลอดหลายปีที่ผ่านมา เป็นตัวปลุกให้ชาวบ้านเริ่มสะดุ้งตื่น พวกเขารวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มชุดเฉพาะกิจบ้านหางคอนเมื่อปี 2010 โดยการสนับสนุนจากทางการ และองค์การสากนด้านสิ่งแวดล้อม (ทุนสิ่งแวดล้อมโลก) กับองค์การสัตว์ป่าสากล หรือ (WWF) ในทีมจะประกอบด้วยหน่วยป้องกันความสงบ (ปกส.) ,หน่วยป้องกันชาติ (ปกช.) และการประมงท้องถิ่น การลาดตระเวนตามน่านน้ำโขงเขตวังสงวนปลาข่า จะแบ่งออกเป็น 2 ทีม โดยแยกกันออกตรวจตรา 9 จุดวังสงวน ร่วมกับทีมเฉพาะกิจด้านการอนุรักษ์ของฝ่ายกัมพูชาที่เจอหน้าคร่าตากันบางครั้งระหว่างออกปฏิบัติงาน พ่อหนูใหม่บอกว่า พวกเขาออกลาดตระเวนเดือนละไม่ต่ำกว่า15ครั้ง โดยมักเลือกวันคู่ตามปฏิทิน หรือตามการแจ้งเรื่องของสายสืบชุมชน ที่บางครั้ง ก็ต้องรีบกระโดดลงเรือออกน่านน้ำเป็นกรณีเร่งด่วน "พวกเฮาไทบ้านหางคอนนี้ มาฮอดปัจจุบัน ทุนฮอนในการลาดตระเวน มันบ่มีแล้วได๋ ทุนจากสิ่งแวดล้อมโลก. เขาเจ้า(พวกเขา) ก็ให้มาตกสู่พวกเฮาแต่ปีละ10พันบาท (10000บาท) เป็นค่าน้ำโหมกน้ำมันเฮือบ่ (เรือ) มันบ่เพียงพอนะ สะเหลี่ยคืนนึง คันออกหมดคืนนี้ ค่าน้ำมัน ค่าน้ำกิน อย่างต่ำตีเป็นเงินไทยก็ 400 ~ 500 แล้วได๋ เฮาจังต้องมาประกอบส่วนกันเองแล้วเดี๋ยวนี้นะ" หัวหน้าหน่วยลาดตระเวนทางน้ำ ระบายอุปสรรคของการปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองปลาข่าให้ฟัง และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น คือ ทุนจากสิ่งแวดล้อมโลกที่ช่วยในการออกลาดตระเวนนั้น แท้จริงแล้วได้มามากกว่านั้น เพียงแต่ตกถึงมือผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริงอย่างพวกเขาแค่บางส่วน อีกทั้งทุนดังกล่าวก็หมดสัญญาไปตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายนปีนี้ ส่วนทุนของทาง WWF ปัจจุบัน ก็มีโครงการแต่ในเขตประเทศกัมพูชา และบ้านหางสะดำเท่านั้น ยังมาไม่ถึงบ้านหางคอน พื้นที่ซึ่งปลาข่า ได้อพยพย้ายมาอยู่วังสงวนเขตบ้านดังกล่าว3ปีแล้ว หลังจากทนเสียงระเบิด และการสั่นสะเทือนจากการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่เริ่มในปี 2559 ไม่ไหว พ่อหนูใหม่ย้อนเรื่องราวให้ฟังว่า หลายสิบปีก่อนประชากรปลาข่า หรือโลมาอิรวดี มีนับร้อยๆตัว แต่หลังจากเริ่มมีการหาปลากันมากขึ้น ทั้งประมงฝั่งลาว และฝั่งกัมพูชา ปลาชนิดนี้ก็เริ่มดับสูญ บางจำนวนหนีจากเขตลาว ไปอยู่เขตน่านน้ำในเขตกัมพูชา ส่วนที่ไม่หนี วันดีคืนดีก็ไปติดเเห ติดมองของชาวบ้าน ต้องต้องตายไปก็เยอะ สำหรับชาวบ้าน นอกจาก "ปลาข่า" จะเป็นตำนานพื้นบ้านที่ยังมีชีวิตให้ผู้คนท้องถิ่นเคารพศรัทธาแล้ว หลายปีที่ผ่านมา ปลาฝูงนี้ ยังกลายเป็นรายได้สำคัญของชุมชนบ้านหางสะดำ และบ้านหางคอน จำนวนรวม 267 ครอบครัว ในการดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวด้วย "พอปลาน้ำของ มันหลุดลงแฮง ย้อน คนหามันหลาย, ย้อนน้ำมันบ่ปกติ เพาะเขาเฮ็ดเขื่อน บวกกับเขาใช้ระเบิดบ่ ใช้ไฟฟ้าหาปลาบ่ ไทเฮาจึงต้องหันเปี่ยนแนวมาเน้นใส่เวียกงานด้านบริการ โดยสะเพาะ ก็คือการท่องเที่ยว. เเต่พวกเฮาก็บ่ได้ถิ่มการหาปลาได๋ เฮาเอาการเฮ็ดกสิกัมเลี้ยงสัตว์-ปลูกฝัง(การเกษตร) และหาปลาเป็นอาชีพสำฮองคู้มื้อนี้นะ" พ่อหนูใหม่บอกอีกว่า ถ้าไม่ได้ปลาข่า ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ชาวบ้านก็ไม่รู้จะหันไปหาอาชีพใดเหมือนกัน เพราะแต่ละปี ประชากรปลาแม่น้ำโขง ลดลงเรื่อยๆ ตามจำนวนคนหาปลาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งก็ยังมีการใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย มีการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนอื่นๆบนแม่น้ำโขงเข้ามาทำให้การหาอยู่หากินมีอุปสรรคเพิ่มขึ้นอีก อ้ายแหวง กองหลอนบ้านหางคอน พี่ชายซึ่งผมรัก และเคารพอีกคน ที่รู้จักกันจากการลงพื้นที่เมื่อหลายปีก่อน บอกผ่านโทรศัพท์ถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบแม่น้ำโขง และการลดลงของประชากรปลาทุกวันนี้ว่า "โอ้ เว้าเรื่องปลาข่าโตนี้ อ้ายอิโตนได๋(สงสาร) พอปลามันพื้นเมืองมันหลุดลง ปลาข่าที่มันเทียวกินปลาน้อยปลาใหญ่เป็นอาหาร อาหารมันก็หลุดน้อยถอยลง เดือน 3 ปีนี้(มีนาคม) กับเดือนประมาณเดือน 4 เดือน 5 ปีกลาย (เดือนเมษา-พฤษภาปี 2018) ลูกมันเกิดมาก็ตาย อยู่บ่ฮอดเดือนซ้ำ" สำหรับลูกปลาข่า ที่เสียชีวิตในปีก่อนนั้น พี่แหวงบอกว่า มันตายเพราะติดแหติดมองของชาวบ้าน ส่วนตัวที่ตายในปีนี้นั้น แม้จะพูดได้ไม่เต็มปาก แต่ข้อสันนิษฐานของก็มีทำนองว่า "ลูกมันโตที่ตายปีนี้หั้น ฝั่งกัมปูเจีย(กัมพูชา) เขาเอาไปซันนะสูตรได๋ เฮาก็บ่ฮู้เทือว่ามันตายย้อนหยัง(เพราะอะไร) อาจจะย้อน มันบ่แข็งแฮงบ่ ย้อนน้ำมันมีสารพิษ สารหยังบ่ หรือว่า มีซีหมอกซีมังจากที่เขาเฮ็ดเขื่อนบ่ ก็จักคือกันนะ(ไม่รู้เหมือนกันนะ) แต่ละคนเขาก็เว้าก็ไปหลายแนวแหละ บ่คือกันนะ" ฟังความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับนักอนุรักษณ์ และปลาข่า ที่รายรอบเป็นทุนเดิม เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฎการณ์น้ำโขงใส ก็ยิ่งทำให้พวกเขาตื่นตกใจไปต่างๆนาๆ "โอ้ อ้ายได้เบิ่งตามเฟสสะบุ๊ก ตามโซซี่ (โซเชียลมีเดีย) เขาว่า น้ำของมันบ่เทา มันใสผิดปกติธรรมชาติ เป็นย้อนบ่มีฝุ่นตม แฮ่ธาตุ พวกเฮานี้แฮงย้านได๋. เดี๋ยวนี้น้ำของอยู่โครงเขตเฮา เขตกำปูเจีย กะใสคือกัน ใสแฮงผิดปกติ เกิดมาบ่เคยเห็นจั๊กเทือ แต่เฮาก็ฮู้เนาะ มันจะเป็นย้อนไพธรรมชาติบ่ หรือเขื่อนอยู่ทางเทิงหั้น แต่คันเป็นแนวเขาเว้า ก็ย้านปาข่ามันสิดับสูนหั้นแหละ" อิงตามการบอกเล่าของพ่อหนูใหม่ และอ้ายแหวง ปัจจุบัน แม่น้ำโขงเขตเมืองโขงกำลังงดงามไร้ที่ติ หากแต่เป็นความงดงามที่แฝงด้วยภัยร้ายซึ่งพวกเขารับรู้ ได้จากสื่อหลายแห่งของไทยในโลกโซเชียลมีเดีย จากข้อมูลที่ได้มา ไม่มีใครยินดีนัก เพราะนั่นหมายถึง ถ้าสิ่งที่นักวิชาการไทยบอกป่านสื่อคือความจริง ปากท้อง ความหวัง และตำนานพื้นบ้าน อาจถึงกาลอวสานในไม่ช้า ผมรีบเอาความกังวลชาวบ้านฝั่งลาวยกหูหา อ.วิฑูรย์ เพิ่งพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายนิเวศวิทยาลุ่มน้ำโขง จนได้ความว่า "ตอนนี้ ผมก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า สาเหตุที่น้ำโขงใสนั้น เป็นเพราะเขื่อนได้กักตะกอนไว้หรือไม่ เพราะยังไม่ได้ลงไปวิจัย แต่ตามที่การคาดการณ์ และข้อสันนิษฐาน หรือความเป็นไปได้เบื้องต้น ก็จะทำนองนั้น แต่แน่นอนว่า การที่แม่น้ำโขงใสนี้ อ.สามารถ ยืนยันได้ว่า มันจะต้องกระทบต่อการประมง การเกษตรริมฝั่ง และส่งผลต่อการกัดกร่อนดินชายฝั่งแน่นอน และหากพูดถึงเรื่องปลาโลมาอิรวดีในลาว ที่อยู่เหนือสุดของห่วงโซ่อาหารในแม่น้ำโขง ก็จะต้องได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเมื่อปลาน้อยปลาใหญ่ในแม่น้ำไม่มีสารอาหาร เพราะขาดตะกอนในน้ำ ปลาโลมาชนิดนี้ที่กินปลาเหล่านั้น ก็จะมีอาหารน้อยลง และขาดที่หลบภัย" ผมได้แต่นึกถึงภาพความทรงจำที่ตัวเองมี เมื่อ 2 ปีก่อน ต้นปีก่อน และกลางปีนี้ ในวันที่ได้ไปนั่งรอคอยยลโฉมราชาแม่น้ำโขงของลาว เสียงปรบมือ เสียงโห่ร้องที่แสดงถึงความดีใจดังลั่น ท่ามกลางการรอคอยของนักท่องเที่ยวต่างประเทศหลายสิบชีวิต เกิดทันทีที่ฝูงปลาแสนรู้ชนิดนี้โผล่เหนือน้ำ แม้จะเพียงเสี้ยววินาที ผมเห็นรอยยิ้มของชาวบ้านเมื่อได้เห็นแขกที่ตัวเองพามายิ้ม มันยังประทับตราใจในอก สำหรับนักท่องเที่ยว นี่อาจเป็นอาจเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นสัตว์น่ารักแสนรู้ ที่มีรอยยิ้มตลอดเวลา ต้องมาให้เห็นสักที แต่สำหรับคนพื้นเมือง ปลา 3 หรือ 4 ตัวสุดท้ายนี้ นั่นคือปากท้อง คือรายได้ คือความหวัง และการอยู่รอดของชุมชน. ภัทรวินทร์ ลีปาน หนองคาย ขอขอบคุณภาพจาก Wikipidia, เพจการท่องเที่ยวลาว, เพจ กินที่นี่ เที่ยวที่นี่ ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Holl Ptong และ อ้อมบุญ ทิพย์สุนา