พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า...
“พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากนายธราธร” และ “..มาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมือง..” เป็นหัวข้อโพสต์ของท่านธีระชัย อดีต รมว คลัง อดีตรองผู้ว่า ธปท และอดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.ที่ท่านโพสต์ แสดงความเห็นในวิชาชีพบัญชีและการเงินตามมาตรฐานวิชาการ ด้วย พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ไม่ได้ห้าม”การกู้ยืมเงิน” เอาไว้ ซึ่งตามข้อห้ามตาม มาตรา 72 ห้ามพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ท่านธีระชัย โพสต์ฯ ระบุว่า “ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี มาตรา 62 นั้นกล่าวถึงแต่เฉพาะ ‘รายได้’ ในขณะที่ มาตรา 59 ได้กำหนดให้ทำบัญชีที่แสดงทั้ง ‘รายได้’ หรือ ‘รายรับ’ และ ทั้ง ‘ค่าใช้จ่าย’ หรือ ‘รายจ่าย’ ดังนั้น กระแสเงินสดของพรรคการเมืองจึงมีสี่ประเภท เมื่อพรรคการเมืองได้รับเงินกู้ หรือมีการก่อหนี้ จึงอยู่ในประเภท ‘รายรับ’ และเมื่อชำระคืนหนี้ จะอยู่ในประเภท ‘รายจ่าย’ เป็นคนละประเภทจาก ‘รายได้’ หรือ ‘ค่าใช้จ่าย’...” จากประสบการณ์ส่วนตัวด้านการบังคับใช้กฏหมายกรณี พ.ร.ป. ไม่ได้บัญญัติ เรื่อง ‘พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน’ ประเด็นสำคัญคือการใช้ดุลพินิจตีความ ? กฏหมายไทยเป็นระบบลายลักษณ์อักษรที่บุคคลทุกคน สามารถอ่านและเข้าใจได้ด้วยตัวเอง กรณี ผู้บังคับใช้กฏหมายต้องใช้ดุลพินิจยึดถ้อยคำที่เป็นำลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด เพราะผู้บังคับใช้กฏหมายไม่ได้เป็นผู้บัญญัติกฎหมาย เมื่อ กกต ได้วินิจฉัยและมีการเผยแพร่มติที่ประชุมผ่านสื่อต่างๆ โดยขาดคำอธิบายที่ดี ก็ได้แต่ “งง” และสงสัยว่า ทำไมจึงมีการใช้ดุลพินิจมีขอบเขตกว้างขวางมาก ทั้งที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน นึกถึงคำกล่าวทางอาชญาวิทยาที่ว่า “กฎหมายที่ยุติธรรม จะต้องได้รับการบังคับใช้โดยผู้รักษาความสัตย์จริงเพื่อปกป้องความยุติธรรม”