นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมขนส่งฯได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการแท็กซี่ และประชาชน ในเรื่องมาตรการเยียวยารถแท็กซี่รูปแบบดั้งเดิม เพื่อชดเชยการเปิดให้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) สามารถจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องการเปิดโอกาสให้สามารถนำรถยนต์ที่มีกำลังของเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 50 กิโลวัตต์ มาให้บริการแท็กซี่ได้ โดยรถยนต์ขนาดดังกล่าวเทียบเท่ากับรถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco Car) ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1,200-1,300 ลูกบาศก์เซนติเมตร (CC) จากเดิมต้องใช้รถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 80 กิโลวัตต์ หรือ 1,600 CC ขึ้นไปเท่านั้น ส่วนอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ Eco Car หรือแท็กซี่ขนาดเล็ก จะมีอัตราค่าโดยสารถูกกว่าแท็กซี่ปกติแบบเดิม เพราะมีต้นทุนรถที่ถูกกว่า โดยรถแท็กซี่ขนาดปกติมีต้นทุนตัวรถและค่าติดตั้งอุปกรณ์อยู่ที่ 1 ล้านบาท แต่รถแท็กซี่ Eco Car จะมีต้นทุนรถยนต์และอุปกรณ์รวมกันประมาณ 7 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งก็จะส่งผลให้อัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ขนาดเล็กจะถูกลงจากแท็กซี่ในปัจจุบัน “การสอบถามความเห็นฯในครั้งนี้ มาจากการที่ผู้ประกอบการแท็กซี่ต้องการได้รับการเยียวยา เนื่องปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก โดย ขณะที่ราคาค่าโดยสารนั้นรถแท็กซี่ Eco Car จะถูกลงกว่ารถแท็กซี่ทั่วไปเท่าไหร่นั้น กรมขนส่งฯยังไม่ได้พิจารณา เนื่องจากต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างที่เป็นต้นทุน อาทิ ค่ารถยนต์ , ค่าติดตั้งอุปกรณ์ ,ค่าน้ำมัน ,ค่าล้างรถ และค่าแรงคนขับ เป็นต้น และขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควร ก่อนเสนอความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อไป” นายจิรุตม์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในอนาคตรถแท็กซี่จะมีทั้งหมด 3 ขนาด และมีอัตราค่าโดยสารแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รถแท็กซี่ Eco Car มีอัตราค่าโดยสารถูกที่สุด , รถแท็กซี่ขนาดทั่วไปในปัจจุบันที่ใช้รถยนต์ขนาด 1,600 CC ขึ้นไป และรถแท็กซี่ขนาดใหญ่ หรือ แท็กซี่แวน ที่มีเครื่องยนต์ขนาด 2,000 CC ขึ้นไป ซึ่งมีอัตราค่าโดยสารสูงที่สุด