“สนธิรัตน์”เตรียมแผนนำพลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจ ศึกษาแผนใหม่นำไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการ มาใช้ลดค่าตั๋วรถไฟฟ้า ส่งเสริมอีวี ขีดแผนปี 2563 ลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน 70,000-80,000 ล้านบาท เจรจาพื้นทีทับซ้อนไทย-กัมพูชา โยนคำถามถ่านหินอาจช่วยค่าไฟฟ้าต่ำลง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาข้าราชการและรัฐวิสาหกิจกระทรวงพลังงาน ในหัวข้อ “การสื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563” โดย ยอมรับปี 2563 เศรษฐกิจไทยไม่ดีแน่นอน เป็นผลพวงจากเศรษฐกิจโลก เป็นภาวะที่ลำบากมาก กลไกแก้ไขเศรษฐกิจของภาครัฐทำได้ยาก มีข้อจำกัด ดังนั้นกระทรวงพลังงานต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน คาดจะมีเม็ดเงินลงทุน 70,000-80,000 ล้านบาทในปีหน้า ขณะเดียวกันการพิจารณานำไฟฟ้าส่วนเกินที่เหลือใช้ หรือสำรองไฟฟ้าที่ประเทศมีถึงประมาณร้อยละ 30 มาเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าสาธารณะต่างๆ โดยเป้าหมายคือ ต้องลดค่าตั๋วภาคประชาชนถูกลง และไฟฟ้าส่วนเกินจะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)และการค้าไฟฟ้าระหว่างประเทศ ตามแผนการเชื่อมโยงไฟฟ้าของอาเซียน(อาเซียนกริด) ทั้งนี้ในส่วนของอีวีนั้น ได้หารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมว่า ต้องส่งเสริมร่วมกันทั้งระบบ เพื่อรองรับทิศทางในอนาคต โดยเห็นร่วมกันว่า รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาดูแล โดยในส่วนของกระทรวงพลังงาน พร้อมสนับสนุนเรื่องของสถานีชาร์จไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม ส่วนการปรับปรุงแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี(PDP 2018)ไม่ได้ตั้งเป้าหมายให้ค่าไฟฟ้า 20 ปีราคาจะต้องไม่สูงกว่า 3.58 บาท/หน่วย แต่ต้องเน้นความสามารถการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน ดังนั้นควรจะพิจารณาว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ ควรก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งกรณีเวียดนาม ต้องยอมรับว่า ค่าไฟฟ้าที่ต่ำส่วนหนึ่งมาจากการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างไรก็ตาม ต้นทุนเหล่านี้ก็ต้องพิจารณาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ขณะเดียวกันจะมีการส่งเสริมพลังงานชุมชน เพื่อให้ผลิตเองใข้เองลดค่าใช้จ่าย โดยใช้กองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานไปส่งเสริม ให้พิจารณาตั้งเป้าหมายว่า ใน 3-5ปีข้างหน้า ทุกพื้นที่ในประเทศไทยต้องมีไฟฟ้าใช้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้มีประมาณ 40 จังหวัด 662 หมู่บ้าน 53,687 ครัวเรือน และมีพื้นที่อยู่ปลายสายส่งที่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยอีก 11 จังหวัด 52 หมู่บ้าน 60,599 ครัวเรือน โดยโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีกว่า 1,000 เมกะวัตต์ช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยระยะแรกหรือปีหน้าคาดจะมีเงินลงทุน 70,000-80,000 ล้านบาท ให้ชุมชนถือหุ้นร่วมกับเอกชน และนำพืชเกษตรกรเช่น ไผ่ หญ้าเนเปียร์ ทลายปาล์ม ซังข้าวโพด ฟางข้าว ไปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยรายละเอียดทั้งหมดจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)วันที่ 16 ธ.ค.นี้ สำหรับในปี 2563 จะผลักดันให้เกิดการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อหาข้อตกลงในการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนระหว่างกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อความมั่นคงร่วมกันใน 20 ปีข้างหน้า รองรับก๊าซในอ่าวไทยลดลง เพราะแม้ไทยจะประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ปริมาณที่เหลือก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะยาวนานได้มากน้อยขนาดใด ขณะเดียวกันแผนการส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานทั้งการซื้อขายไฟฟ้าและแอลเอ็นจีต้องตอบโจทย์ด้วยว่า ประชาชนจะได้อะไรจากแผนเหล่านี้ โดยนโยบาย “Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน” ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนก.ค.62 และยังเป็นนโยบายหลักที่จะผลักดันต่อไปในปี 2563 และภาพลักษณ์เดิมของกระทรวงถูกมองว่าให้ความสำคัญกับการลงทุนขนาดใหญ่ ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงพลังงาน ซึ่งจะต้องผลักดันให้มากขึ้นเช่น ช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย ส่วนการลดค่าก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างราคาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และหนึ่งในแผนคือส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล ซึ่งจากนโยบายส่งเสริม B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐาน และมีB 20 ที่ใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ช่วยยกระดับราคาปาล์มน้ำมันขึ้นมาที่กิโลกรัมละกว่า 4 บาทแล้ว รวมทั้งยังช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้อีกทางหนึ่ง