เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย เหลือเวลาอีกไม่กี่อึดใจ บรรดาประชาชาวเมืองผู้ดี ก็จะได้เข้าคูหาไปใช้สิทธิลงคะแนนกันแล้ว สำหรับ การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธ.ค.นี้ การเลือกตั้งข้างต้น ก็จะเปิดโอกาสให้ชาวเมืองผู้ดีที่มีสิทธิออกเสียงจำนวนกว่า 46 ล้านคน ได้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ของพวกเขา ซึ่งจะมีจำนวนทั้งสิ้น 650 คน โดยบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ส่งผู้สมัครลงชิงชัยเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก พรรคใหญ่ๆ สำคัญๆ ก็ได้แก่ พรรคอนุรักษ์นิยม พรรคแรงงาน พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคเบร็กซิต พรรคกรีน หรือพรรคเขียว และพรรคชาตินิยมสกอต หรือเอสเอ็นพี เป็นต้น โดยถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งที่ได้รับเลือก ส.ส. มากกว่า 326 ที่นั่ง ก็จะได้รับโอกาสให้จัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคเสียงข้างมาก หรือถ้าพรรคเดียวมี ส.ส.ได้รับเลือกมาไม่ถึงจำนวนข้างต้น แต่สามารถรวบรวมจากพรรคอื่นๆ มาเข้าร่วมด้วย จนมี ส.ส.เกินจำนวนดังกล่าว ก็สามารถจัดตั้งฟอร์มรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศได้เช่นกัน ซึ่งในการบริหารประเทศอังกฤษครั้งหลังสุด ก็เป็นไปในลักษณะ “รัฐบาลผสม” เช่นนี้ ที่มีให้เห็นกันไม่บ่อยนัก สำหรับการเมืองในอังกฤษ ที่มีพรรคใหญ่สองพรรค โดยพรรคการเมืองผู้นำการชิงชัยข้างต้น ก็ได้แก่ “พรรคอนุรักษ์นิยม” ซึ่งเป็น “พรรครัฐบาล” ในเวลานี้ ภายใต้การนำของ “นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน” ขับเคี่ยวกับ “พรรคแรงงาน” อันเปรียบเสมือนเป็น แกนนำ “พรรคฝ่ายค้าน” ณ เวลานี้ ภายใต้การนำของ “นายเจเรมี คอร์บิน” ที่ทั้งสองพรรคฯ จะได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ เช่น พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคเบร็กซิต พรรคกรีน และเอสเอ็นพี เป็นต้น ก็เป็นเพียงพรรคการเมืองสอดแทรก หรือไม้ประดับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็ก หรือพรรคใหญ่ บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตลอดจนแกนนำพรรคทั้งหลาย ต่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกันอย่างหนัก ส่งผลให้บรรยากาศการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษในครั้งนี้เป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้น เพื่อหวังให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคของตนได้รับเลือกเข้าสู่สภาให้ได้มากที่สุด โดยมี “บ้านเลขที่ 10” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนดาวนิง ในกรุงลอนดอน เป็นรางวัลชิ้นโต ในฐานะ บ้านพักจวนที่พำนักของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษเป็นกำนัลมือ ขณะเดียวกัน ทางด้านบรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า การเลือกตั้งทั่วไปในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ไม่ผิดอะไรกับให้ประชาชาวเมืองผู้ดี ได้ลง “ประชามติ” กันอีกครั้งก็ว่าได้ เป็นประชามติที่ว่าด้วยการนำพาอังกฤษออกพ้นจากชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิต กันอีกคำรบ ภายหลังจากได้เปิดให้ชาวอังกฤษลงประชามติกันไปอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงกลางปี 2559 ซึ่งผลปรากฏว่า ฝ่ายเบร็กซิต คือ ฝ่ายที่ต้องการให้พ้นจากชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ได้รับชัยชนะ ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น นอกจากถูกเปรียบว่า เป็นการลงประชามติเบร็กซิตรอบสองแล้ว ก็ยังเป็นการกำหนดชี้ชะตาอนาคตของอังกฤษเองในเรื่องเกี่ยวกับเบร็กซิตอีกด้วยว่าจะเอาแบบใด ระหว่างนโยบายของพรรคอนุรักษ์นิยมภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจอห์นสันคนเดิม กับนโยบายของพรรคแรงงาน หากว่าชาวอังกฤษได้นายคอร์บินเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยนโยบายของพรรคอนุรักษ์นิยมนั้น หากมีชัยชนะ ได้นายจอห์นสัน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็หมายความว่า “เบร็กซิต” ก็จะยังคงดำเนินต่อไปตามกำหนดการปกติ คือ อังกฤษต้องพ้นจากสมาชิกของสหภาพยุโรปภายในวันที่ 31 ม.ค.ปีหน้า ซึ่งนายจอห์นสันได้ให้คำมั่นไว้ และยังระบุด้วยว่า จะหยิบยกเรื่องเบร็กซิตข้างต้น ขึ้นสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้งก่อนเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงด้วย ทว่า ถ้าเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาล คือ พลพรรคผู้สมัครของพรรคแรงงานได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเข้าสภา จนเป็นเสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาล พร้อมกับได้นายคอร์บิน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ชาวอังกฤษ ก็ต้องเตรียมตัวตบเท้าเข้าคูหากันอีกครั้ง เพราะเขาจะจัดการให้ลงประชามติกันใหม่อีกรอบว่า จะยังคงให้อังกฤษ เดินหน้าในกระบวนเบร็กซิตอยู่ต่อไปอีกหรือไม่ ใช่แต่เท่านั้น ทางพรรคแรงงานภายใต้การนำของนายคอร์บิน ซึ่งได้รับฉายาว่า “เบอร์นี แซนเดอร์ส” แห่งเกาะอังกฤษ เพราะมีแนวคิดแบบซ้าย คือ สังคมนิยม เช่นเดียวกันนั้น ก็ยังมีแนวนโยบายการจัดการเบร็กซิตแบบฝ่ายซ้ายอีกต่างหากด้วย แบบจัดทำเป็นแผนสอง หากเบร็กซิตยังคงเดินหน้าต่อไปภายใต้รัฐบาลของเขา นั่นคือ การดำเนินนโยบายในอันที่จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม พร้อมๆ กับการกระจายรายได้ของประชาชนกันเสียใหม่ ซึ่งแนวคิดข้างต้น ก็สร้างความหวั่นวิตกให้แก่บรรดาชนชั้นนายทุนกันไม่น้อย ถึงขนาดมีบางรายประกาศตัวว่า ถ้านายคอร์บินได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายจอห์นสัน ก็เตรียมย้ายถิ่นฐานออกจากเกาะอังกฤษกันเลยก็มี อย่างไรก็ดี บรรดากลุ่มทุนข้างต้น ก็ออกอาการใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง เมื่อปรากฏว่า ผลการสำรวจคะแนนนิยม หรือโพลล์ ครั้งล่าสุด ปรากฏว่า สำนักโพลล์ทุกสำนักยังให้นายจอห์นสัน มีคะแนนนิยมเหนือกว่านายคอร์บินอยู่หลายจุด โดยบางแห่งทะลุเกินกว่า 10 จุด ก็มี คือ ร้อยละ 43 ต่อร้อยละ 32 ก็สะท้อนให้เห็นว่า อังกฤษจะยังได้นายกรัฐมนตรีคนหน้าเดิมต่อไปอีกสมัย พร้อมกับการเดินหน้าเบร็กซิตที่ดำเนินไปตามกำหนดการ