เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 เวลา 21.06 น. ท่ามกลางการจ้องมองของผู้คนนับพันล้าน ห้องทดลองปฏิบัติการอวกาศ “เทียนกง-2” (Tiangong-2) ซึ่งเดินทางในอวกาศมาแล้ว 1,036 วัน ได้ถูกสั่งการให้เคลื่อนเข้าชั้นบรรยากาศอีกครั้งเพื่อเดินทางกลับสู่โลก ชิ้นส่วนจำนวนเล็กน้อยของเทียนกง-2 ตกลงสู่เขตปลอดภัยที่กำหนดไว้ในทะเลแปซิฟิกใต้ อันแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและการสิ้นสุดการทดลองห้องแล็บอวกาศภายใต้โครงการวิศวกรรมยานอวกาศที่มีนักบินบังคับของประเทศจีน เทียนกง 2 ประสบความสำเร็จอย่างมาก วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 2016 จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยเทียนกง-2 สู่อวกาศ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เทียนกง-2 ได้ปฏิบัติภารกิจมากมาย อาทิ การเชื่อมต่อกับยานอวกาศพร้อมนักบิน “เสินโจว-11” (Shenzhou-11) การทดสอบการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศในห้องปฏิบัติการ และการเชื่อมต่อกับยานขนส่ง “เทียนโจว-1” (Tianzhou-1) เพื่อทดสอบการเติมเชื้อเพลิงในห้วงอวกาศ ยานอวกาศโดยสารเสินโจวหมายเลข 11 ได้ต่อเข้ากับเทียนกงหมายเลข 2 ห้องทดลองอวกาศสำเร็จ เทียงกง-2 ถือได้ว่าเป็นห้องทดลองอวกาศที่สมบูรณ์แห่งแรกของจีน ดังนั้น การทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศจึงเป็นภาระงานหลักของเทียนกง-2 เทียนกง-2 มีส่วนประกอบทั้งหมด 14 ชิ้น น้ำหนักรวมประมาณ 600 กิโลกรัม ประกอบด้วยวัสดุอุปกรณ์ทั่วไป อุปกรณ์ทดลองทางการแพทย์อวกาศ และอุปกรณ์ทดลองการซ่อมบำรุง ในขณะที่อยู่บนวงโคจร เทียนกง-2 ได้ทำการทดลองมากกว่า 60 การทดลองตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งล้วนได้มาตรฐานระดับโลกและมีประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาทางอวกาศในด้านต่างๆ หนึ่งในการทดลองสำคัญข้างต้น ได้แก่ การที่เทียนกง-2 ได้ขน Cold atomic clock ไปทำงานด้วยเป็นครั้งแรกของโลก โดยตามสถิติที่ได้บันทึกไว้ Cold atomic clock เครื่องนี้มีความแม่นยำสูงมาก มีข้อผิดพลาดเพียง 1 วินาทีใน 30 ล้านปี และเป็นการยกระดับความแม่นยำของการคำนวณเวลาในอวกาศมากกว่าเดิม 1-2 ระดับ นอกจากนี้ เทียนกง-2 ยังบรรทุกเครื่องตรวจจับการระเบิดของรังสีแกมมา (ชื่อย่อว่า POLAR) ที่พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างจีนกับยุโรปไปด้วย โดยเครื่องดังกล่าวได้ตรวจพบการระเบิดของรังสีแกมมามากกว่า 55 ครั้งในจักรวาล ยานอวกาศโดยสารเสินโจวหมายเลข 11 ได้ต่อเข้ากับเทียนกงหมายเลข 2 ห้องทดลองอวกาศสำเร็จ เมื่อเทคโนโลยียานอวกาศที่มีนักบินอวกาศพัฒนายิ่งขึ้น การปลูกพืชในอวกาศกลายเป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขเพื่อทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตในอวกาศได้นาน ห้องปฏิบัติการเทียนกง-2 นำกล่องเพาะปลูกขนาดเล็กที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและแสงสว่างไปด้วย ในอดีต การเพาะปลูกพืชในอวกาศทำได้ไม่เกิน 20 วัน จึงทำให้การทดลองปลูกพืชในอวกาศหยุดเพียงแค่การเพาะต้นกล้า แต่ครั้งนี้ จีนสามารถทดลองการเพาะปลูกได้ครบทุกขั้นตอนตั้งแต่ “การเพาะเมล็ดจนถึงการผลิตเมล็ด” นอกจากนี้ เทียนกง-2 ยังได้ทำการทดลองการเปลี่ยนแปลงของตัวไหม การแกว่งของลูกตุ้มคู่ และการแปรสภาพของเมมเบรน ซึ่งทั้งสามการทดลองนี้มาจากแผนการทดลองที่ชนะเลิศในการประกวดแผนการทดลองอวกาศของโรงเรียนมัธยมในฮ่องกง ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางสังคมอีกทางหนึ่ง ช่วยสนับสนุนการพัฒนาสถานีอวกาศ ความสำเร็จของเทียนกง-2 อีกประการหนึ่ง คือ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสถานีอวกาศของจีน ห้องปฏิบัติการเทียนกง-2 ถูกพัฒนามาจากยานสำรองของเทียนกง-1 เมื่อเข้าสู่วงโคจรแล้ว เทียนกง-2 ประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกับยานอวกาศพร้อมนักบิน “เสินโจว-11” และยานขนส่ง “เทียนโจว-1” รวม 4 ครั้ง และยังประสบความสำเร็จในการสนับสนุนให้นักบินอวกาศสามารถดำรงชีวิตในห้องปฏิบัติการได้นานถึง 30 วัน รวมทั้งประสบความสำเร็จในการเติมเชื้อเพลิงกลางอวกาศด้วย นอกจากนี้ ตลอดกว่า 300 วันในการปฏิบัติงานที่เกินกำหนดเวลา เทียนกง-2 ยังได้ทำการทดลองต่างๆ ซึ่งช่วยให้จีนได้รับประสบการณ์การวิจัยและพัฒนา และการบริหารจัดการสถานีอวกาศอย่างมากมาย ซึ่งในกระบวนการเหล่านี้ นักบินอวกาศมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ยานอวกาศโดยสารเสินโจวหมายเลข 11 ได้ต่อเข้ากับเทียนกงหมายเลข 2 ห้องทดลองอวกาศสำเร็จ วันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 2016 นายจิ่ง ไห่เผิง และนายเฉิน ตง นักบินอวกาศ ได้เดินทางไปกับยานเสินโจว-11 วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 2016 ยานเสินโจว-11 ได้ทำการเชื่อมต่อกับเทียนกง-2 เข้าเป็นองค์ประกอบเดียวกัน จนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน ยานอวกาศทั้งสองได้แยกออกจากกัน ในภารกิจครั้งนี้ ยานทั้งสองที่เชื่อมกันแล้วได้เดินทางด้วยกัน 30 วัน ทำลายสถิติระยะเวลาการดำรงชีวิตในอวกาศของนักบินอวกาศจีน โดยนักบินอวกาศทั้งสองได้ดำรงชีวิตในอวกาศรวมทั้งสิ้น 33 วัน ทั้งนี้ จีนได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับการดำรงชีวิต การทำงาน และเงื่อนไขสุขภาพของนักบินอวกาศ รวมทั้งเทคนิคในการบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของยานอวกาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบการบินในอวกาศที่นานยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการเชื่อมต่อระหว่างเทียนกง-1 กับยานเสินโจวในอดีต ภารกิจครั้งนี้ของเทียนกง-2 ใช้เวลายาวนานกว่า และยังใช้อุปกรณ์ (CRDS, camera type rendezvous and docking sensor) และระบบแสงสว่างที่ล้ำหน้ากว่า ทำให้ประสิทธิภาพและความเสถียรในการเชื่อมต่อมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการทดสอบระบบป้องกันความปลอดภัยของการดำรงชีวิต ซึ่งช่วยเติมเต็มประสบการณ์และ องค์ความรู้สำหรับการพัฒนาสถานีอวกาศของจีนในอนาคต ความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจ “การเติมน้ำมันกลางอวกาศ” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสถานีอวกาศของจีน การเติมน้ำมันกลางอวกาศถือเป็นหนึ่งในปัญหาทางเทคนิดสำคัญที่จีนต้องเอาชนะให้ได้ เทียนกง-2 และยานขนส่งเทียนโจว-1 ได้เริ่มต้นการทดลองเติมน้ำมันเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 2017 เวลา 07.26 น. และถือเป็นการเติมน้ำมันครั้งแรกของเทียนกง-2 และเป็นครั้งแรกของจีนด้วย วันที่ 27 เมษายน เวลา 19.07 น. การเติมน้ำมันประสบความสำเร็จด้วยดี และถือได้ว่าจีนได้ทำความฝันนี้ให้เป็นจริงแล้ว นักบินอวกาศของจีนในเทียนกงหมายเลข 2 ห้องทดลองอวกาศ จีนก้าวเข้าสู่ “ยุคแห่งสถานีอวกาศ” อย่างเป็นทางการ ในยุค 90 ของศตวรรษที่ 20 จีนได้กำหนด “สามขั้นตอน” ของยุทธศาสตร์ยานอวกาศที่มีนักบินอวกาศ ได้แก่ หนึ่ง การปล่อยยานอวกาศที่มีนักบินอวกาศ ทดลองทางวิศวกรรมระดับต้นเกี่ยวกับยานอวกาศที่มีนักบิน เริ่มการทดลองประยุกต์ต่างๆ ในอวกาศ สอง การปล่อยยานอวกาศที่มีจำนวนนักบินมากขึ้นและบินนานขึ้น และการปล่อยห้องแล็บอวกาศที่มีนักบินอวกาศคอยดูแลในช่วงเวลาสั้น และสาม การสร้างสถานีอวกาศ แก้ไขปัญหาที่ขัดขวางการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ถึงวันนี้ เมื่อภารกิจของเทียนกง-2 จบลงด้วยดี ขั้นตอนที่สองของยุทธศาสตร์สามขั้นตอนของจีนก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ขั้นตอนที่สามซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย คือ การเริ่มการสร้างสถานีอวกาศ จึงกล่าวได้ว่า จีนได้เข้าสู่ “ยุคแห่งสถานีอวกาศ” อย่างเป็นทางการแล้ว ในงานมหกรรมการบินและอวกาศระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (แอร์โชว์ ไชน่า) (China International Aviation & Aerospace Exhibition, Airshow China) ครั้งที่ 12 ณ เมืองจูไห่ ค.ศ. 2018 ตัวอย่างโมดูลอวกาศ “เทียนเหอ” ในอัตรา 1 ต่อ 1 ซึ่งเป็นโมดูลหลักของสถานีอวกาศ (core module of space station) ได้ถูกนำมาจัดแสดง ผู้ชมที่มาเยี่ยมชมงาน เมื่อได้เห็นต่างรู้สึกตื่นเต้นและประหลาดใจ ที่จริงแล้ว การก่อสร้างสถานีอวกาศและการทดลองที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยโมดูลหลักของสถานีอวกาศขึ้นสู่อวกาศได้ในปี ค.ศ. 2020 และประมาณปี ค.ศ. 2022 จีนคาดว่าจะปล่อยโมดูลห้องทดลองที่ 1 และ 2 ทั้งนี้ แต่ละโมดูลมีน้ำหนักประมาณ 20 ตัน เมื่อประกอบรวมกันจะกลายเป็นสถานีอวกาศที่สมบูรณ์ โดยจะมีชื่อว่า “เทียนกง” ในขณะปฏิบัติงาน ยานเสินโจวจะทำหน้าที่ขนส่งนักบินอวกาศ และยานขนส่งเทียนโจวจะทำหน้าที่ขนส่งวัสดุอุปกรณ์เพื่อสนับสนุน สถานีอวกาศมีอายุการใช้งาน 10 ปี และหากมีความจำเป็นให้ใช้งานนานขึ้นก็สามารถทำได้ด้วยการซ่อมบำรุงรักษา จำนวนนักบินอวกาศที่จะปฏิบัติงานในสถานีกำหนดไว้ 3 คน โดยขณะที่มีการเปลี่ยนรอบการทำงาน สถานีอวกาศสามารถบรรจุนักบินได้มากถึง 6 คน นักบินอวกาศของจีนในเทียนกงหมายเลข 2 ห้องทดลองอวกาศ โมดูลหลักเทียนเหอมีหน้าที่สำหรับการควบคุมระบบและการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศ มีช่องเชื่อมต่อ 3 ช่องและช่องยึดติด 2 ช่อง ช่องยึดติดใช้สำหรับยึดติดกับโมดูลเวิ่นเทียนและเมิ่งเทียนเพื่อประกอบกันเป็นสถานีอวกาศ ในขณะที่จุดเชื่อมต่อมีไว้เพื่อเชื่อมต่อกับยานเสินโจว ยานเทียนโจว และยานอวกาศอื่นๆ ที่จะมาเยี่ยมสถานีอวกาศ ในขณะเดียวกัน สถานีอวกาศยังได้กำหนดให้มีเคาท์เตอร์สำหรับการทดลองทั้งภายในและภายนอกสถานีอวกาศ เพื่อสนับสนุนการทดลองเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ ชีววิทยาอวกาศ และฟิสิกส์ที่อาศัยสภาวะไร้น้ำหนัก ตลอดจนวัสดุศาสตร์ทางอวกาศ สำหรับโครงการทดลองของสถานีอวกาศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนได้เริ่มรวบรวมโครงการทดลองต่างๆ ไม่ใช่เพียงจากในประเทศ แต่ยังรวมถึงการเชิญชวนให้ประชาคมโลกเสนอโครงการทดลองด้วย วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2019 สำนักงานวิศวกรรมอวกาศที่มีนักบินบังคับของจีน ได้ร่วมกับสำนักงานอวกาศแห่งสหประชาชาติได้ประกาศผลการคัดเลือกโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะนำไปทดลองในสถานีอวกาศจีน ระยะที่ 1 ณ กรุงเวียนนา ประกอบด้วยโครงการดาราศาสตร์อวกาศ วิทยาศาสตร์การเผาไหม้และฟิสิกส์ของของเหลวในสภาวะไร้น้ำหนัก ธรณีวิทยา การทดลองเทคโนโลยีใหม่ ชีววิทยาอวกาศ เป็นต้น โดยมี 9 โครงการจาก 17 ประเทศได้รับการคัดเลือก อันสะท้องให้เห็นว่าการพัฒนาวิศวกรรมอวกาศพร้อมนักบินของจีนได้ก้าวจากการพัฒนาด้วยตนเองไปสู่การสร้างความร่วมมือระดับโลก จักรวาลกว้างใหญ่ไพศาล การสำรวจจักรวาลจึงไม่มีที่สิ้นสุด เทียนกง-2 ได้เดินทางรอบโลก 16,211 รอบ ประสบความสำเร็จในการทดลองหลายรายการ เมื่องานสิ้นสุดก็ถึงเวลาต้องจากลา ในคืนนี้ เทียนกง-2 ซึ่งเป็นห้องทดลองอวกาศห้องแรกของจีนกำลังเดินทางกลับสู่พื้นโลก พร้อมกับกล่าวคำอำลากับพวกเรา ต่อจากนี้ไป สถานีอวกาศแห่งประเทศจีนจะรับไม้ต่อในภารกิจการพัฒนาวิศวกรรมอวกาศที่มีนักบินบังคับของจีน พวกเราล้วนเฝ้าตั้งตารอคอย ผู้เขียน:จาง เหวิน