คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น น่าสังเกตว่า ประเทศขนาดเล็กอย่างไทย จะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาได้ง่าย ส่วนประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย หรือ จีน กลับไม่ค่อยมีปัญหาทางศาสนา ประเทศอินเดียแม้จะเคยถูกรุกรานจนศาสนาหลักของประเทศอย่างฮินดูเคยล่มสลาย แต่เมื่อฟื้นขึ้นมาใหม่ อินเดียกลับไม่กังวลเรื่องศาสนานัก (แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ก็ดูไม่เท่าไร) ก็เลยมานึกว่า อาจจะด้วยเหตุนี้ (ขนาดของประเทศ) ก็เป็นได้ ประเทศขนาดเล็กหลายประเทศจึงเลือกเอาการมี “ศาสนาประจำชาติ” เพื่อปกป้องตนเอง (เพื่อป้องกันความวุ่นวายอันเกิดจากศาสนา) เมื่อเร็วๆ นี้ได้ข่าว (ทางยูทูบ) ว่า ประเทศเมียนมาร์หรือ พม่า ประสบความสำเร็จในการยกพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ (เข้าใจว่า มีการตราในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ) ได้เห็นภาพพระสงฆ์และชาวบ้านทั่วไปยิ้มย่องผ่องใส แสดงความยินดีกันทั่วหน้า ที่จังหวัดขอนแก่นของไทย มีการประชุมลงมติได้เสียงข้างมากให้ขอนแก่นเป็นเมืองพุทธศาสนา ไม่ให้มีการสร้างศาสนสถานของศาสนาหนึ่งแม้แต่แห่งเดียว มีการส่งข่าวเรื่องนี้ถึงชาวพุทธทั่วประเทศอย่างคึกคัก ได้ทราบว่า มีศาสนาหนึ่งกำลังก่อความหวาดระแวงให้ชาวพุทธหวั่นกลัวมากอยู่ เช่น มีการออกข่าวสร้างศาสนสถานใหญ่โต มุ่งให้เป็นศูนย์กลางของศาสนานั้น มีข่าวว่า บุคลากรบางตำแหน่งของศาสนานั้น มีเงินเดือนประจำจากรัฐ มีงบประมาณไปแสวงบุณย์ทุกปีจากรัฐ ล่าสุด มีข่าวว่า เงินกู้ยืมเรียนของนักศึกษา ที่เรียกว่าทุน กยส. รัฐให้เบิกผ่าน 2 ธนาคาร คือธนาคารกรุงไทย (ของรัฐบาล) และอีกธนาคารหนึ่งซึ่งเป็นธนาคารในชื่อของศาสนานั้น เฉพาะธนาคารของศาสนานั้น จะเบิกเงิน กยส.ได้ ต้องกรอกข้อความเปลี่ยนศาสนาก่อน นักศึกษาคนหนึ่งพยายามจะเบิกเงิน ก็เบิกไม่สำเร็จเพราะไม่ยอมกรอกข้อความในข้อหนึ่ง (ข้อ 6)เมื่อไม่ยอมกรอก ก็กรอกข้อความต่อไปไม่ได้ ทำให้เสียความรู้สึก เรื่องนี้เมื่อถามไปยังธนาคารก็ได้รับคำตอบว่า ต้องกรอกข้อความให้ครบทุกข้อ เรื่องนี้ ผู้ปกครองท่านหนึ่งเปิดเผยสู่กันฟัง ได้ฟังแล้ว ผมก็รู้สึกไม่สบายใจ ฝ่ายรัฐคงยังไม่รู้สึกอะไรหรอก เพราะมีปัญหาเฉพาะหน้ามากมายรุมเร้าอยู่ เกรงว่า สักวันหนึ่ง ปัญหาทางศาสนาจะเป็นปัญหาใหญ่แก้ได้ยาก จะปะทุเป็นความแตกแยกใหญ่โตได้ จึงมีความคิดว่า อยากให้ฝ่ายรัฐ(โดยกรมการศาสนา)คิดการไว้ล่วงหน้า ได้เสนอความคิดให้มี “กฎหมายคุ้มครองศาสนา” โดยให้ฝ่ายรัฐให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ให้แต่ละศาสนาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามคัมภีร์หลักของตน ไม่ให้ก้าวก่ายรบกวนซึ่งกันและกัน เช่น ไม่ให้ส่งเสียงทางเครื่องกระจายเสียงรบกวนกัน ไม่ให้แต่งกายแปลกแยกแตกต่างกัน ไม่ให้กีดกันการแต่งงานระหว่างผู้นับถือศาสนาหนึ่งกับอีกศาสนาหนึ่ง (ซึ่งเข้าใจว่า คัมภีร์หลักของแต่ละศาสนาไม่มีข้อบัญญัติในเรื่องเหล่านี้) การตั้งเงินเดือนประจำตำแหน่งแก่บุคลากรของศาสนา ที่ไม่ใช่นักบวช(หรือนักพรต) ไม่ควรมี (เชื่อว่า ไม่มีบทบัญญัติในคัมภีร์หลักของศาสนาใดๆ) เงินอุดหนุนการไปแสวงบุณย์ถ้าจะมี ควรจะมีกฎเกณฑ์ที่เอื้อเฟื้อแก่ทุกศาสนา อยากให้ระบุให้ชัดๆว่า นักบวช(หรือนักพรต) ของศาสนาคือบุคคลเช่นไร เช่น มีสิทธิทางการเมืองอย่างไร เป็นต้น ผมเห็นว่าทุกศาสนาล้วนแต่มีประโยชน์ต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้วยการพัฒนา (ทางวัตถุ)ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสอนให้คนมีศีลธรรม เมื่อมีกฎหมายคุ้มครองศาสนาตามแนวทางนี้ ก็จะทำให้ทุกศาสนา(และทุกนิกายของศาสนานั้นๆ) อยู่ร่วมกันได้ และจะมีการแลกเปลี่ยนแนวทางการประพฤติปฏิบัติที่ดีซึ่งกันและกัน เหตุที่ผมไม่เห็นด้วยกับการมี “ศาสนาประจำชาติ” เพราะได้เห็นชาวพุทธเองทำลายศาสนาของตัวเองด้วยวิธีแปลกๆ เช่นด้วยวิธีตั้งสำนักปฏิบัติธรรมให้คนลุ่มหลงงมงาย มีการระดมเงินทุนสร้างอิทธิพล มีการฝักใฝ่ทางการเมืองทั้งโดยแอบแฝง ทั้งโดยเปิดเผย มีการอ้างเทพศักดิ์สิทธิ์อยู่เบื้องหลังตัวเอง ฯลฯ เมื่อเกิดความวุ่นวาย และฝ่ายรัฐเข้าไปแก้ปัญหา ก็อ้างว่าตนเป็นพุทธ ถูกรังแกหรือกำจัด ปัญหาอย่างนี้ เกิดแล้วเกิดอีก ว่าไปแล้ว เกิดจากพุทธศาสนามากที่สุด และมักจะอ้างว่า ได้ปฏิบัติตามคำสอนในพระไตรปิฎกนั่นเอง แต่รัฐก็ไม่เคยมีการตรวจสอบแนวปฏิบัติอย่างจริงจัง และมักจะปล่อยให้เป็นปัญหาใหญ่โตก่อนจึงแสดงความเดือดร้อน ซึ่งมักจะก่อความแตกแยกอันร้าวลึกไปแล้ว ผมเห็นว่า โลกในสมัยปัจจุบันเป็นยุค “ประชาธิปไตย” การปฏิบัติต่อศาสนา(และต่อการปกครอง) จะให้เป็นอย่างยุค “ราชาธิปไตย” คงไม่ได้ ในยุคราชาธิปไตย อย่างสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หรือก่อนหน้านั้น เมื่อเกิดปัญหาทางศาสนา ก็ใช้อำนาจของพระราชาเข้าแก้ไข เช่นพระเจ้าอโศกมหาราชจับสึกเดียรถีย์ปลอมบวชเป็นพันเป็นหมื่นก็ทำได้ง่าย จะออกกฎให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติอย่างไร ก็ทำได้แต่ในยุคประชาธิปไตยต้องมีกระบวนการคนละอย่าง ดูเหมือนพระพุทธเจ้าจะนิยมวิธีแบบประชาธิปไตย จึงยกย่องการปกครองแบบแคว้นวัชชี สมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นแคว้นเดียวในชมพูทวีปที่ปกครองด้วยระบอบ(ที่ทางตะวันตกเรียกว่า) “สาธารณรัฐ” (สามัคคีธรรม) ซึ่งใช้เสียงข้างมากของเจ้าในราชวงศ์ลิจฉวีในการปกครอง ระบบใช้เสียงข้างมากของแคว้นวัชชีนั้น ออกจะ “ก้าวหน้า”มากอยู่ แต่ก็เป็นมากกว่านั้นไม่ได้ เพราะประชาชนทั่วไปยังไร้การศึกษาย่อมเป็นไปได้ยากที่จะให้ประชาชนปกครองกันเองด้วยระบบเสียงข้างมากแบบประชาธิปไตยปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้สมัยต่อมา แคว้นวัชชีจะอยู่ในการปกครองของพระเจ้าอชาตศัตรูและพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นระบอบราชาธิปไตยแต่ในที่สุด ชมพูทวีปทั้งหมดก็ต้องมาอยู่ในระบบสาธารณรัฐ (คืออินเดีย)อย่างปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? เป็นเพราะว่า ทั้งระบอบราชาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตย (หรือระบอบสาธารณรัฐ) ต่างก็มีจุดอ่อนในตัวเอง ระบอบราชาธิปไตย (ของพระเจ้าอชาตศัตรูและพระเจ้าอโศกมหาราช) ดำรงอยู่ได้ด้วยการรบพุ่งอย่างโบราณ เมื่อถูกฝ่ายที่แข็งแกร่งกว่า ก็พ่ายแพ้จนได้ พระเจ้าอชาตศัตรู (ราชาธิปไตย) พ่ายแพ้แก่การรบพุ่ง( สมัยต่อมา) พระเจ้าอโศกมหาราชก็พ่ายแพ้แก่การรบพุ่ง พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชของกรีก ก็พ่ายแพ้ในสมัยรบพุ่ง กองทัพมุสลิมที่ยึดครองชมพูทวีปได้ในสมัยหนึ่ง ก็ต้องพ่ายแพ้แก่อังกฤษ ซึ่งรบพุ่งด้วยอาวุธสมัยใหม่... ระบอบประชาธิปไตย (ปัจจุบัน) จะดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยเสียงข้างมาก แต่ก็มีจุดอ่อนในกระบวนการ เช่นแคว้นวัชชี (สมัยเป็นสาธารณรัฐ) พ่ายแพ้แก่ความเห็นต่างจนเกิดความแตกแยกหรือแตกสามัคคีจนได้ เราจึงพบว่า ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายดูมีแต่ความวุ่นวายขัดแย้ง (บางประเทศก็แตกแยก แต่ก็หวนกลับไปหาระบอบราชาธิปไตยไม่ได้ จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยอีกรูปแบบหนึ่ง) หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน เพื่อแสดงความเห็นว่า ในยุคปัจจุบัน เป็นยุคประชาธิปไตยผู้คนมีการศึกษามากขึ้น การศาสนาและการปกครอง คงจะคิดอย่างในยุคราชาธิปไตยไม่ได้ การจำกัดเสรีภาพ (ในการนับถือศาสนา) คงทำไม่ได้ เกรงว่าการจำกัดเสรีภาพจะนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกขึ้นในชาติระหว่างฝ่ายอนุรักษ์ (ราชาธิปไตย) กับฝ่ายประชาธิปไตย (ทางยุคสมัย) อยากให้ฝ่ายรัฐคิดการไว้ล่วงหน้าเพื่อเผชิญกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า แม้จะเห็นใจในความคิดเรื่อง “ศาสนาประจำชาติ” ของชาวพุทธบางส่วน แต่ก็เป็นห่วงว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในชาติอีกด้านหนึ่ง อยากจะให้เรื่องศาสนาหรือความเชื่อดำเนินไปอย่างสมัยพุทธกาล ที่ปล่อยให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ ในสมัยนั้นมีลัทธิ (ศาสนา) มากมายอยู่ร่วมกัน นักบวชหรือเจ้าลัทธิแต่ละสำนักมีฐานะเป็น “ครู” หรือเป็นนักวิชาการ (ในการหาความจริง) เพื่อสอนชาวโลก มีพระราชาดูแลอยู่ห่างๆ ไม่ปกครองไม่บริหารด้านความคิดความเชื่อของคน ต่างกับชาวตะวันตกที่ยกครูเป็น “ศาสดา” ยกลัทธิ(ความเชื่อ) เป็นศาสนาหรือ religion แม้แต่ “พระพุทธเจ้า” ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิหนึ่ง ก็ยกเป็นศาสดา ให้คำสอนของพระองค์เป็น “ศาสนา” หนึ่ง แล้วบัญญัติคำว่า “เทวนิยม” (Theism) และ “อเทวนิยม” (A atheism) ให้ลัทธิต่างๆแยกกันเป็นคนละฝ่าย ให้ฝ่ายเทวนิยมเป็นศาสนานับถือ “พระ(หรือเทพ) ผู้สร้าง” และให้ฝ่ายอเทวนิยม เป็นศาสนานับถือเรืองกรรม เป็นต้น อันที่จริง ทุกลัทธิแต่ดั้งเดิมมุ่งแสวงหาความจริงเพื่อบอกแก่ชาวโลก เท่าที่จะค้นพบด้วยวิธีปฏิบัติต่างๆ ความคิดแบบตะวันตกที่แบ่งแยกลัทธิเป็นศาสนาต่างๆก็ดีอยู่ แต่ก็ทำให้ “ครู” (ของลัทธิต่างๆ) หายไป กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ยึดมั่นถือมั่นอย่างเป็นอยู่ ในที่สุด ศาสนาที่เคยเป็น “ความรู้” ก็กลายเป็น “ความเชื่อ” ของใครของมัน แล้วก็นำไปสู่ความแตกแยกและเป็น...สงครามระหว่างมนุษย์ด้วยกัน!