สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ วัดพระรูป ต.ท่าพี่เลี้ยง จ.สุพรรณบุรี เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นแหล่งกำเนิดพระกรุเก่าที่มีชื่อเสียงหลายประเภท ซึ่งโดยส่วนใหญ่นำมาผูกกับวรรณคดีที่เข้าใจว่าแต่งขึ้นสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 คือ ‘ขุนช้างขุนแผน’ ท่านสุนทรภู่ ยังได้รจนาใน ‘นิราศสุพรรณ’ เมื่อปี พ.ศ.2378 ไว้ว่า "ฝั่งซ้ายฝ่ายฟากโน้น พิศดาร มีวัดพระรูปบุราณ ท่านสร้าง ที่ถัดวัดประตูสาร สงฆ์สู่ อยู่เอย หย่อมย่านบ้านขุนช้าง ชิดข้างสวน บัลลังค์" พระขุนแผนไข่ผ่าซีก กรุวัดพระรูป จ.สุพรรณบุรี พระกรุวัดพระรูปที่ขึ้นชื่อลือชาและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง คือ ขุนแผนไข่ผ่าซีก หรือที่เรียกว่า “พระขุนแผนไข่ผ่า” นอกจากนี้ยังมี พระพลายงาม พระขุนไกร และ พระกุมารทอง (พระยุ่ง) เป็นต้น ผู้สร้าง พระขุนแผนกรุวัดพระรูป นี้ เข้าใจว่าสร้างในสมัยอู่ทอง ซึ่งนับว่ามีอายุเก่าแก่กว่าพระตระกูลขุนแผนทั้งหมด การค้นพบ พระกรุวัดพระรูป นั้น มีการค้นพบอยู่ตามพื้นทั่วไปภายในบริเวณวัด สันนิษฐานว่า ในสมัยก่อนน่าจะมีพระเจดีย์อยู่หลายองค์ แต่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและปรักหักพังลงมา ทำให้องค์พระในพระเจดีย์กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ยิ่งถ้าฝนตกก็จะพบองค์พระโผล่ขึ้นมาให้เห็นเสมอ ในปี พ.ศ.2508 ทางวัดมีความประสงค์จะสร้างพระอุโบสถใหม่แทนหลังเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรม จึงได้ประกาศให้ชาวบ้านให้มาช่วยขุดดินรอบๆ โบสถ์ โดยไม่มีค่าจ้าง ใครได้พระก็เอาไป พอขุดไปเพียงศอกเศษๆ ก็เริ่มพบพระ ยิ่งขุดลึกก็ยิ่งพบพระมากขึ้น บางคนที่ไม่ได้พระก็มี อันนี้น่าจะเกี่ยวกับบุญวาสนา ต่อมาในปี พ.ศ.2510 ทางวัดเอารถมาเกรดปรับพื้นที่ของวัด ก็ยังพบพระอีกบ้างประปราย และในปี พ.ศ.2513 ทางวัดมีความประสงค์จะก่อสร้างวิหารพระปางไสยาสน์ จึงได้ประกาศให้ชาวบ้านช่วยกันเช่นเดิม ก็ได้พระตระกูลขุนแผนไปอีกร้อยกว่าองค์ พระขุนแผนไข่ผ่าซีก กรุวัดพระรูป จ.สุพรรณบุรี เนื้อหามวลสาร เป็นพระเนื้อดินเผา ที่มีส่วนผสมของว่านและแร่ต่างๆ มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด พุทธลักษณะ พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนฐานบัวหงาย ภายในซุ้มเรือนแก้ว ด้านหลังเป็นหลังอูม และยังมีการแบ่งแยกออกไปเป็น 2 พิมพ์ย่อย ตามขนาดขององค์พระ คือ - พิมพ์ไข่ผ่าซีก องค์พระจะมีขนาดและลักษณะคล้ายไข่ไก่ผ่าซีก - พิมพ์แตงกวาผ่าซีก องค์พระจะมีเล็กและเรียวกว่า ลักษณะคล้ายแตงกวาผ่าซีก เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระขุนแผนไข่ผ่าซีก - ปลายพระเกศจะมีติ่งงอคล้ายเงี่ยงเบ็ดหรือแฉกลูกศรอยู่ทางซ้ายขององค์พระ อันเป็นจุดสังเกตสำคัญ - พระพักตร์เป็นทรงรี พระกรรเจียก (ขมับ) ทั้งสองข้างยุบตัวเข้าไป เหนือพระกรรเจียกซ้ายจะมีเส้นพิมพ์แตกวิ่งเฉียงไปจรดซุ้ม - พระกรรณทั้งสองข้าง ส่วนบนจะติดไม่ค่อยชัดนัก และปรากฏส่วนตอนล่างรำไร (ต้องใช้กล้องส่อง) วิ่งลงมาจรดพระอังสา และมีเส้นเอ็นพระศอวิ่งเชื่อมอีกหนึ่งเส้น - ซุ้มเรือนแก้ว มีลักษณะพลิ้วโค้ง มีเสาซุ้มรับทั้งสองด้าน - ระหว่างเสาซุ้มด้านซ้ายขององค์พระกับลำพระกรซ้ายจะมีจุดเล็กๆ หนึ่งจุด อยู่ตรงกลางเหนือพระกัประ (ข้อศอก) ด้านนอกขององค์พระ - มีเอกลักษณ์สำคัญที่คนโบราณเรียกกันว่า "ตราเบนซ์" คือ เป็นรูปดาวสามแฉก คล้ายโลโก้รถ Mercedes - Benz แฉกแหลมสามอันจะมีรอยย่นๆ เล็กน้อย บางคนเรียก แฉกดาว ใบพัดเรือ หรือ กังหัน - มีเส้นคั่นกลางระหว่างพระเพลากับฐานบัวหงาย ลักษณะเป็นเส้นหนา แต่ตรงกลางเส้นจะขาดๆ หายๆ - ฐานบัวจะคลี่กลับ บานออกด้านขวามือ ด้านล่างระหว่างกลีบบัวที่คลี่จะมีเส้นเรียวเล็กๆ ปลายแหลมโค้งสะบัดพลิ้วอย่างงดงาม พระขุนแผนไข่ผ่าซีก กรุวัดพระรูป หน้า-หลัง พุทธคุณ พุทธคุณเป็นเลิศทางด้านคงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยม การพิจารณา ดูสภาพความเก่าของเนื้อมวลสาร ซึ่งแม้จะดูคล้ายพระขุนแผนพิมพ์อื่นๆ แต่มีความแน่นตัวมากกว่า เมื่อใช้ถูกเหงื่อจะขึ้นมันเงางาม นอกจากนี้จะปรากฏเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงกระจายอยู่ทั่วองค์ นอกจาก “พระขุนแผน กรุวัดพระรูป” ที่โด่งดังแล้ว “พระกรุวัดพระรูป” ยังมีพระพิมพ์อื่นๆ ส่วนใหญ่การเรียกขานนามจะนำมา ผูกกับตัวละครในวรรณคดี อาทิ พระพลายงาม พระขุนไกร พระกุมารทอง (พระยุ่ง) พระมอญแปลง พระนาคปรกชุมพล ฯลฯ พระทุกพิมพ์ล้วนแสวงหายากยิ่งในปัจจุบันสนนราคาก็สูงขึ้นตามความต้องการครับผม