ยารักษาโรคไม่ว่าจะยาแผนปัจจุบัน หรือยาจากสมุนไพร ล้วนมีทั้งฤทธิ์รักษาและผลข้างเคียง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถเข้าใจและป้องกันแก้ไขได้ โดย Oryor.com ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีคำแนะนำถึงการป้องกันและการเฝ้าระวังโรคตับที่เกิดจากยา 1.ใช้ยาเมื่อจำเป็น ไม่ใช้ยาเกินขนาดหรือระยะเวลายาวนานเกินฉลากหรือเอกสารกำกับยาระบุ 2..สังเกตอาการตับอักเสบ เมื่อได้รับยาที่มีความเสี่ยงเกิดพิษต่อตับสูง ได้แก่ อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง (มักปวดในตำแหน่งใต้ชายโครงขวา) ตัว ตาเหลือง คันตามผิวหนัง ปัสสาวะสีเข้มและอุจจาระสีซีด 3.หากมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคตับ หรือมียาที่ใช้ประจำ รวมถึงดื่มแอลกอฮอล์อยู่เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดพิษต่อตับ ยาที่มีผลข้างเคียงต่อตับนั้น มีจำนวนมาก แต่มีบางกลุ่มยาที่มีโอกาสก่อให้เกิดพิษต่อตับได้บ่อย ควรต้องได้รับการเฝ้าระวังการใช้ยา ดังนี้ -ยาแก้ปวด/ยาลดไข้ : พาราเซตามอล (Paracetamol) ,ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) -ยารักษาวัณโรค : ไอโซไนอะซิด (Isoniazid), ไรแฟมพิซิน (Rifampicin), ไพราซินาไมด? (Pyrazinamide) -ยาลดไขมันในเลือด : ซิมวาสะแตติน (Simvastatin) , อะทอร์วาสะแตติน (Atorvastatin) -ยากันชัก : คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine), เฟนิโทอิน (Phenytoin) -ยาต้านจุลชีพ : อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ,ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ,ฟลูโคนาโซล (fluconazole) -สมุนไพรที่มีความเป็นพิษต่อตับ: ขี้เหล็ก, บอระเพ็ด ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะกังวลว่ายาจะเป็นพิษต่อตับจนเกินความจำเป็น เพราะยาไม่ใช่สาเหตุเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น อายุ โรคประจำตัว หรือพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นต้น และอาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ หากเป็นกังวลจนไม่ใช้ยารักษาโรคประจำตัว ซึ่งเราสามารถป้องกันโรคตับที่เกิดขึ้นจากยาได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้ยาอย่างระมัดระวังภายใต้การแนะนำของแพทย์และเภสัชกร