“กสทช.”เดินตามแผนเดิมไม่เลื่อนประมูลคลื่นความถี่5จี-เคาะราคา 16 ก.พ.63 ขณะที่ “ดีแทค”ออกตัวเสนอรอดึงคลื่น 3500 MHz มาประมูลควบคู่คลื่น 2600 MHz แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมเปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์)เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) 1800 MHz 2600 MHz และ 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) เพื่อนำไปสู่การให้บริการ 5 จี ในเดือน ก.ค.63 เป็นต้นไป โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 12 ธ.ค.62 เพื่อรวบรวมเสนอคณะกรรมการ กสทช.พิจารณาและอนุมัติเพื่อให้ประกาศมีผลบังคับใช้ในปลายเดือน ธ.ค.62 และเปิดประมูล เคาะราคาในวันที่ 16 ก.พ.63 ทั้งนี้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ร่างมีความรัดกุม เพียงพอที่จะจัดสรรคลื่นความถี่อย่างโปร่งใส เชื่อว่ายังมีหลายประเด็นหลายจุดที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งประชาชน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะเสนอ อย่างไรก็ดีช่วงที่ผ่านมาได้ฟังหลายเรื่องมาแล้วรู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะความเห็นของภาคเอกชนที่ขอให้ กสทช.นำไปปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถทำได้ในเวลานี้ สำหรับการนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูลพร้อมกันซึ่งคงทำไม่ได้ เพราะยังไม่มีการเรียกคืนคลื่นความถี่จาก บมจ.ไทยคม ที่มีการใช้งานในดาวเทียมไทยคม 5 และการเรียกคืนคลื่นยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 300 วัน ดังนั้นความเห็นที่ต้องการให้เลื่อนการประมูลออกไปคงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้ง กสทช.ได้กำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ไว้ชัดเจนแล้ว ยังไงต้องจัดการประมูลในวันที่ 16 ก.พ.63 การแสดงความคิดเห็นขอให้อยู่บนเงื่อนไขที่เป็นไปได้ 5จีจะเกิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับร่างประกาศนี้ที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ ขณะที่นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า เห็นด้วยกับการประมูลคลื่นความถี่ 5 จีที่ กสทช.ออกแบบโดยจัดประมูลคลื่นหลายย่านความถี่พร้อมกัน หรือมัลติแบนด์ แต่เสนอให้ปรับช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อรอนำคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์(MHz) มาร่วมประมูลด้วย ทั้งนี้หากรัฐบาลต้องการขับเคลื่อน 5 จีอย่างจริงจังก็ควรรอให้มีการเคลียร์คลื่น 3500 ที่บมจ.ไทยคมใช้งานอยู่ ซึ่งจะหมดสัมปทานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส)ในเดือน ก.ย.ปี 2564 ดังนั้นควรรอคลื่น 3500 มาประมูลพร้อมกันซึ่งอาจล่าช้าไป 2-3 เดือนหรือ 6 เดือนก็ได้ แต่มั่นใจว่าไม่กระทบต่อแผนโดยภาพรวมของประเทศ “ดีแทคได้ยื่นข้อเสนอต่อสำนักงาน กสทช.ให้กำหนดเวลาประมูลใหม่ หรือเลื่อนออกไปอย่างน้อย 2-3 เดือนเพื่อรอความชัดเจนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญของความสำเร็จของการพัฒนา 5 จี เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี จากเดิมที่สำนักงาน กสทช.มีกำหนดประมูลคลื่นดังกล่าวอีกรอบในเดือนส.ค.63 ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะประมูลครบหรือไม่และราคาใบอนุญาตจะเป็นเท่าไร” นอกจากนี้ยังเสนอให้ทบทวนราคาเริ่มต้นประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่ กสทช.ตั้งไว้ 1,862 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาตขนาด 10 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ถือเป็นราคาสูงกว่าค่ากลางของสากล ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีราคาเริ่มต้นประมูลที่ 12,486 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาตซึ่งเป็นราคาสุดท้ายของการประมูลครั้งก่อนนั้นก็มีราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆหลายเท่าตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวในการประมูลได้ ขณะเดียวกันยังเห็นว่า กสทช.ควรกำหนดเพดานการถือครองคลื่น 2600 เพื่อป้องกันการบิดเบือนของตลาด และกระจายการถือครองของผู้ให้บริการอันจะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี 5จี อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีความชัดเจนในการจัดการการรบกวนของคลื่นความถี่ในคลื่น 2600 พบว่า คลื่นดังกล่าวมีกองทัพใช้งานอยู่ 20 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น กสทช.จึงควรให้ความชัดเจนถึงแนวทางการจัดการถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรบกวนกันของคลื่นความถี่และข้อกำหนดในการใช้งาน เพื่อให้ผู้เข้าประมูลสามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมในการลงทุนได้ ส่วนวิธีการประมูลและหลักเกณฑ์การประมูลควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบร่างประกาศฯ ที่กำหนดให้ใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมๆกันนั้นอาจไม่สอดคล้องกับกำหนดตามคุณลักษณะทางเทคนิคของคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้นวิธีการประมูลจึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาใหม่ เพื่อให้สอดรับกับคุณสมบัติทางเทคนิคของคลื่นย่านอื่นในอนาคต เพราะการประมูลคลื่น 5 จีแตกต่างจากการประมูลคลื่น 3 และ 4 จีที่เน้นการแข่งขันเปิดให้โอปอเรเตอร์เข้ามาแข่งขันด้านราคา แต่ 5 จีนั้นแตกต่างออกไป หลายประเทศมองเป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อย่างในมาเลเซียที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านซัพพลายโครงข่าย เพื่อผลักดันให้เกิด 5 จี