ถึงมิใช่ “แมว” ที่มี “9 ชีวิต” แต่กลุ่ม “ไอซิส” นิกเนมของขบวนการก่อการร้าย “รัฐอิสลาม” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ไอเอส” นั้น ก็ต้องยอมรับว่า จะฆ่าให้ตายได้ไม่ง่ายๆ เหมือนกัน เพราะถูกกองทัพนานาชาติ ที่นำทีมโดยมหาอำนาจสองซีกฟากโลก คือ ทั้งสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ที่ ขนทั้งสรรพาวุธ และระดมสรรพกำลัง เข้าถล่มโจมตีอย่างไม่ยั้ง จนต้องพากันทิ้งเมืองต่างๆ ที่พวกเขาครอบครองไม่ว่าจะเป็นในอิรักและซีเรียกันก็แล้ว ตลอดจนกระทั่ง หัวหน้าของขบวนการของพวกเขา คือ “นายอาบู บัคร์ อัล-บักฮ์ดาดี” ถูกเด็ดหัวปลิดชีพไปกันก็แล้ว แต่ก็ปรากฏเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ขบวนการก่อการร้าย “รัฐอิสลาม (Islamic State)” หาได้สลายขบวนการไปตามอิทธิพลอำนาจที่ถูกโค่น หรือหัวหน้าขบวนการที่ถูกทหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ เด็ดชีพไปเมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะหลบหนีการไล่ล่าที่บริเวณ โดยมีรายงานว่า เหล่าสมุนของไอเอส ได้แตกกระสานซ่านเซ็น จากศูนย์กลางเขตอิทธิพลอำนาจของพวกเขาในภาคเหนือของอิรัก และภาคตะวันออกของซีเรีย ไปตามภูมิภาคต่างๆ แทบจะทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์เรา แต่ที่นับว่า สร้างความวิตกกังวลให้แก่บรรดาผู้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวด้านการก่อการร้ายอย่างใกล้ชิด ล้วนเอ่ยปากบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การเคลื่อนย้ายระเห็จไปยังทวีปแอฟริกา หรือกาฬทวีป ซึ่งสามารถเรียกว่า การไหลบ่าอพยพของพวกนักรบจีฮัด สมุนของกลุ่มไอเอส ไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกากันอย่างขนานใหญ่เลยทีเดียว พื้นที่ที่สมุนของไอเอสที่ระเห็จเข้าไปกันครั้งใหญ่ ก็เป็นพื้นที่ที่เรียกว่า “ภูมิภาคซาเฮล (Sahel Region)” อันเป็นเขตรอยต่อ บริเวณกึ่งทะเลทราย คือ ทะเลทรายซาฮารา เขตแบ่งกึ่งกลางระหว่างทวีปแอฟริกาเหนือ – ใต้ ตั้งแต่ชายฝั่ง “มหาสมุทรแอตแลนติก” ทางตะวันตก ไปจรดยัง “ทะเลแดง” ในฟากตะวันออกของทวีปแอฟริกา ประกอบด้วยประเทศต่างๆ ดังนี้ (จากฟากตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา) ได้แก่ เซเนกัล มอริเตเนีย มาลี บูร์กินาฟาโซ แอลจีเรีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย ชาด แคเมอรูน ซูดาน และเอริเทรีย เหตุปัจจัยที่ทำให้พวกสมุนไอเอส สนใจที่เคลื่อนย้ายไปลงหลักปักฐาน สร้าง “รัฐเคาะลีฟะฮ์” คือ รัฐอิสลามกันใหม่ ในอาณาบริเวณแถบนี้ ก็มีหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดแคลนในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา และเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ปัญหาด้านการปกครองที่กลุ่มผู้ปกครอง หรือคณะรัฐบาล ขาดธรรมาภิบาล ปัญหาการไร้การศึกษาของประชากร ปัญหาการว่างงาน ที่ต้องบอกว่า ในภูมิภาคซาเฮลดังกล่าว แทบจะไร้โอกาส ไม่มีอนาคตสำหรับ หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เลยทีเดียว รวมถึงการสู้รบระหว่างกลุ่มชนเผ่าที่ติดอาวุธต่างๆ มาอย่างยาวนาน ถึงขนาดที่ผ่านมา ก็ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยของบรรดาประเทศเหล่านี้ ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน หนีภัยไปในภูมิภาคอื่นๆ ของแอฟริกา หรือถึงขั้นยอมข้ามน้ำข้ามทะเลเมดิเตอร์เรนียน ไปตายเอาดาบหน้าในทวีปยุโรปก็มีจำนวนไม่น้อย ปัญหาความเลวร้ายต่างๆ ประการฉะนี้ ก็เป็นโอกาสให้สมุนกลุ่มไอเอส อาศัยเป็นช่องว่างในการขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงได้ประชาชนคนหนุ่มสาวในประเทศเหล่านั้นจำนวนหนึ่งมาเป็นสมาชิกใหม่ของไอเอส แบบหวังว่าจะใช้ขบวนการก่อการร้ายไอเอส เป็นสถานสร้างโอกาสให้แก่พวกเขาในฐานะนักรบจีฮัดกันก็มี ทั้งนี้ สถานการณ์ของบรรดาประเทศในภูมิภาคซาเฮลข้างต้นนั้น บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า เปรียบเทียบไปก็คล้ายหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์อาหรับสปริง ที่หลายประเทศบังเกิดสภาพการณ์ระส่ำระสาย เช่น ที่ซีเรีย เป็นต้น จนเป็นเหตุให้กลุ่มไอเอส สามารถสถาปนาขบวนการก่อการร้ายของพวกเขาได้โดยสะดวก ส่วนในภูมิภาคซาเฮล ที่นับว่า หนักหนาสาหัส ก็เห็นจะเป็น “บูร์กินาฟาโซ” ที่สามารถกล่าวได้ว่า เป็น “ซีเรียแห่งแอฟริกา” กันเลยทีเดียว คือ มีปัญหาต่างๆ สารพัด ทั้งการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ จนเป็นช่องว่างทำให้ขบวนการก่อการร้ายเข้าไปตั้งกลุ่มได้โดยง่าย นอกจากนี้ การที่กลุ่มไอเอส ย้ายถิ่นฐานข้ามจากตะวันออกกลางมายังภูมิภาคซาเฮลได้อย่างสะดวกดาย ก็ยังมีปัจจัยของกรณีที่พื้นที่แห่งนี้ มีเครือข่ายของไอเอส มาลงหลักปักฐานกันไว้ก่อนหน้า โดยกลุ่มดังกล่าวมีชื่อว่า “กลุ่มรัฐอิสลามในซาฮาราอันยิ่งใหญ่” หรือ”ไอเอสจีเอส” (Islamic State in the Greater Sahara : ISGS)” บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า กลุ่มไอเอสจีเอสนับวันมีแต่จะขยายขบวนการก่อการ้ายได้อย่างแข็งแกร่งขึ้น เพราะนอกจากร้ายกาจเป็นทุนเดิมแล้ว ก็ยังได้นักรบจีฮัดชุดใหม่จากตะวันออกกลางมาช่วยเติมเต็ม มีคำถามตามว่า เมื่อภูมิภาคดังกล่าว อดอยากแร้นแค้น แล้วกลุ่มไอเอสที่เข้าไปตั้งขบวนการกันใหม่ จะดำรงอยู่อย่างไร ทาง “กลุ่มวิกฤติระหว่างประเทศ” หรือ “ไอซีจี” (ICG : International Crisis Group) ระบุว่า “สินแร่ทองคำ” ที่มีจำนวนมหาศาลในภูมิภาคดังกล่าว คือ ปัจจัยที่จะใช้หล่อเลี้ยงของขบวนการก่อการร้ายดังกล่าวนั่นเอง โดยล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้เกิดเหตุการณ์สมุทนไอเอสเข้าบุกยึดเหมืองทองคำ “เซมาโฟ” ทางภาคตะวันออกของบูร์กินาฟาโซ ซึ่งดำเนินกิจการโดยกลุ่มธุรกิจของแคนาดา ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งและร้ายกาจของกลุ่มไอเอสที่เข้าไปสถาปนาขบวนการกันใหม่นั้น ก็ถึงขนาดต่อกรกับ “กองกำลังกลุ่ม5ชาติในซาเฮล” หรือ “เอฟซี-จี5เอส” ซึ่งเป็นการสนธิกำลังของกองทัพ5ชาติ ได้แก่ บูร์กินาฟาโซ ชาด มาลี มอริเตเนีย และไนเจอร์ แถมยังผนวกกับกองทัพจากชาติตะวันตกอย่างฝรั่งเศส ได้อย่างน่าเกรงขาม ที่บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า มิอาจมองข้ามความปลอดภัยของโลกจากภัยก่อการร้ายในภูมิภาคซาเฮลแห่งนี้ไปได้