สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ต้อนรับเช้าวันจันทร์ด้วยเรื่องชวนฉงน #ดวงจันทร์สว่างกว่าดวงอาทิตย์?! ภาพพิสูจน์จาก #กล้องโทรทรรศน์อวกาศเฟอร์มี
ภาพถ่ายดวงจันทร์ในช่วงรังสีแกมมา โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเฟอร์มี (Fermi Gamma-ray Space Telescope) ภาพแสดงความสว่างของดวงจันทร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รูปดวงจันทร์ในช่องสุดท้ายมีความสว่างกว่าดวงอาทิตย์ และมีพลังงานมากกว่าแสงที่ตามองเห็นสิบล้านเท่า
งานวิจัยครั้งนี้นำทีมโดย มารีโอ นีโกลา มัซซีออตา (Mario Nicola Mazziotta) และ ฟรันเซสโก โลปาร์โก (Francesco Loparco) นักวิจัยจากสถาบันฟิสิกส์นิวเคลียร์แห่งชาติอิตาลี วิเคราะห์การแผ่รังสีแกมมาของดวงจันทร์เพื่อทำความเข้าใจอนุภาคพลังงานสูงในอวกาศที่เรียกว่า “#รังสีคอสมิก”
มัซซีออตา อธิบายว่า “รังสีคอสมิกส่วนใหญ่เป็นโปรตอนที่ถูกเร่งความเร็วโดยปรากฎการณ์ที่รุนแรงในเอกภพ เช่น การระเบิดของดาวฤกษ์ หรือลำอนุภาคที่เกิดขึ้นเมื่อสสารตกลงไปในหลุมดำ”
ดวงจันทร์ไม่มีสนามแม่เหล็ก ทำให้รังสีคอสมิกซึ่งเป็นอนุภาคที่มีประจุพุ่งชนดวงจันทร์ได้อย่างง่ายดาย แม้แต่รังสีคอสมิกที่มีพลังงานต่ำก็สามารถไปถึงพื้นผิวของดวงจันทร์ได้ เมื่อปะทะกับพื้นผิวของดวงจันทร์จะเปล่งรังสีแกมมาออกมา
โลปาร์โก กล่าวว่า “ถ้ามองในช่วงของรังสีแกมมา ดวงจันทร์จะไม่มีเฟส (ไม่มีข้างขึ้น-ข้างแรม) และเป็นดวงจันทร์เต็มดวงเสมอ”
แม้ว่ารังสีแกมมาจะไม่แสดงเฟสของดวงจันทร์ แต่ความสว่างของดวงจันทร์จะเปลี่ยนไปตามเวลา ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์เฟอร์มีแสดงให้เห็นว่าความสว่างของดวงจันทร์แปรผันตามรอบวัฏจักร 11 ปี ของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า “วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle)” คือ เมื่อดวงอาทิตย์ผลิตรังสีคอสมิกออกมามาก ดวงจันทร์จะเปล่งรังสีแกมมาได้มากตามไปด้วย
การสังเกตการณ์ครั้งนี้ ทีมนักวิจัยสังเกตการณ์รังสีแกมมาที่ระดับพลังงาน 31 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ ทำให้ดวงจันทร์สว่างกว่าดวงอาทิตย์ แต่หากสังเกตการณ์ที่ระดับพลังงาน 1,000 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ขึ้นไปดวงอาทิตย์จะสว่างกว่าดวงจันทร์
การสังเกตการณ์รังสีแกมมาจากดวงจันทร์เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้พิจารณาการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ในปี พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการ “อาร์ทิมิส (Artemis)” โดยชุดนักบินอวกาศจะต้องป้องกันรังสีคอสมิกซึ่งสามารถทำอันตรายต่อนักบินอวกาศได้โดยตรง
เรียบเรียง : พัชริดา ยั่งยืนเจริญสุข - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง : https://www.nasa.gov/…/moon-glows-brighter-than-sun-in-imag…”
ภาพจาก https://www.nasa.gov/…/moon-glows-brighter-than-sun-in-imag…”