หากพูดถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย ที่เป็นปัญหายอดฮิตติดอันดับของคนไทย คงหนีไม่พ้นโรคริดสีดวงทวาร ที่ไม่มีใครอยากเป็นและมีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็น บางคนเป็นน้อยแต่บางคนเป็นมากถึงขั้นรุนแรง ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แม้จะนั่งเฉยๆ ยังลำบาก
คณะศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคริดสีดวงทวารพบได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเกิดจากการเบ่งถ่ายอย่างรุนแรงและเรื้อรัง เพราะผู้ที่มีอาการท้องผูกต้องเบ่งอย่างรุนแรงเวลาขับถ่ายจึงทำให้เลือดคั่งในเส้นเลือดดำที่ผนังรูทวารหนัก ส่งผลให้กลุ่มเส้นเลือดดำ และเนื้อเยื่อบริเวณส่วนปลายของทวารหนักโป่งพองเกิดเป็นริดสีดวงทวาร
ปัจจัยของโรคนอกจากการเบ่งถ่ายรุนแรงแล้ว สามารถเกิดจากท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระบ่อยๆ นั่งถ่ายเป็นเวลานานๆ เช่น อ่านหนังสือพร้อมกับขับถ่าย หญิงตั้งครรภ์ ภาวะตับแข็ง และอายุมากขึ้น
ประเภทของโรคริดสีดวงทวาร 1.ริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoids) ริดสีดวงประเภทนี้อาจมองไม่เห็นก้อนริดสีดวงทวาร แต่สามารถสังเกตได้ว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารได้หลังถ่ายอุจจาระจะมีเลือดหยดออกมา
2.ริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoids) จะเห็นก้อนเนื้ออยู่ที่ปากทวารหนัก ไม่สามารถดันเข้าไปในทวารหนักได้ บางครั้งเกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระรุนแรง ทำให้เส้นเลือดดำบริเวณปากทวารหนักแตก และเกิดเป็นก้อนแข็งๆ เจ็บ เรียกว่า Thrombosed External Demorrhoids
ระยะความรุนแรงของริดสีดวงทวารหนัก แบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะ 1 พบเพียงอาการเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ ระยะ 2 พบหัวริดสีดวงทวาร อาจโผล่ออกมาตอนถ่ายและกลับเข้าไปได้เอง ระยะ 3 หัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมาตอนถ่ายและต้องใช้นิ้วดันกลับเข้าไป ระยะ 4 หัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมาตลอดเวลาไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจมีเลือดคั่งและเจ็บปวดได้
ทั้งนี้ การรักษาริดสีดวงทวาร แพทย์จะพิจารณาจากอาการและระดับความรุนแรงของโรค ระยะที่ 1 เน้นการใช้ยาและการปฏิบัติตัว ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 (ในช่วงแรก) ใช้ยา การปฏิบัติตัว รวมถึงบางกรณีอาจใช้ยางชนิดพิเศษในการรัดริดสีดวงทวาร และสุดท้ายระยะ 3 (ขนาดค่อนข้างใหญ่) และระยะที่ 4 ต้องจัดการด้วยการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
ในปัจจุบันมีการนำเครื่องมือแบบใหม่มาใช้รักษาริดสีดวงทวารหนักที่เป็นมากอย่างกว้างขวาง เครื่องมือนี้เรียกว่า สแตปเลอร์ หรือเครื่องตัดเย็บอัตโนมัติ (Stapled hemorroidectomy) การผ่าตัดแบบนี้จะช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยได้ เพราะวิธีนี้จะผ่าตัดบริเวณที่สูงกว่าหูรูด
อาการเจ็บปวดแผลหลังผ่าตัดจึงมีน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเก่า ใช้เวลาในการผ่าตัดและนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อยกว่าเดิม และสามารถกลับเข้าทำงานได้รวดเร็วกว่าเดิม
สำหรับการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร ควรดูแลเรื่องอาหาร โดยการรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มกากใย ประเภทผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดและมัน ลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ใหญ่ สุขลักษณะในการขับถ่าย ควรหลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอย่างรุนแรง และไม่ใช้เวลาในการถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน