มาสเตอร์การ์ด ประกาศ ดัชนีผู้ประกอบการสตรี (Mastercard Index of Women Entrepreneurs) เป็นฉบับที่สาม เพื่อฉลองให้กับประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เติบโต ขณะเดียวกันเพื่อส่งสัญญาณให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันที่ยังคงมีอยู่ในสังคม ผล คือ นิวซีแลนด์ ไต้หวัน และสิงคโปร์ เอื้อต่อการประกอบธุรกิจสำหรับผู้หญิงมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ไทย ฮ่องกง และเวียดนาม ติด 20 อันดับแรกของโลก สำหรับ ดัชนีผู้ประกอบการสตรีของมาสเตอร์การ์ด รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานระหว่างประเทศ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ยูเนสโก และรายงานการศึกษาความเป็นผู้ประกอบการระดับโลก (The Global Entrepreneurship Monitor) เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงใน 58 ประเทศ (คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของแรงงานหญิงทั่วโลก) พิจารณาจากสามองค์ประกอบ ได้แก่ 1) ผลลัพธ์ด้านความก้าวหน้าของสตรี 2) สินทรัพย์ด้านความรู้และการเข้าถึงทางการเงิน และ 3) สภาพที่เอื้อต่อการประกอบกิจการ รายงานนี้ได้ตอกย้ำถึงความสามารถของผู้หญิงในการทำธุรกิจและการมีส่วนร่วมในการทำงานที่มากขึ้นในประเทศที่เปิดกว้างอย่างนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ประเทศเหล่านี้มีอัตราการสนับสนุนการทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สูงและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ผู้หญิงในประเทศเหล่านี้สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน การให้บริการด้านการเงินและหลักสูตรให้ความรู้ในด้านต่างๆ โดยทั่วไปแล้วประเทศเหล่านี้มีบรรทัดฐานทางสังคมที่ส่งเสริมความสำเร็จของบุคคลที่มีความพยายาม คิดสร้างสรรและกล้าได้กล้าเสีย รวมถึงให้โอกาสผู้หญิงอย่างเท่าเทียมในการเป็นผู้นำทางธุรกิจ ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และให้การยอมรับในฐานะผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งร้อยละ 80 จาก 20 อันดับประเทศทั่วโลกที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการสตรี เป็นประเทศที่มีฐานรายได้สูง จาก 58 ประเทศในดัชนีนี้ มี 8 ประเทศที่มีการเลื่อนอันดับมากกว่า 5 อันดับในแต่ละปี ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเลื่อนอันดับเร็วที่สุดและเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน คือ อินโดนีเซีย (+13 อันดับ) ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) (+9 อันดับ) และไทย(+5 อันดับ) ในอีกด้านหนึ่ง ผู้หญิงที่อยู่ในประเทศที่อยู่อันดับล่างของดัชนีนี้ไม่ได้รับโอกาสในการทำงานในตำแหน่งระดับสูง ถูกจำกัดโอกาสทางธุรกิจเนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ โอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินต่ำ ได้รับโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาน้อย และระบบธุรกิจและการเงินที่ด้อยพัฒนาทำให้การทำธุรกิจเป็นเรื่องยาก ที่สำคัญ สังคมและกฎระเบียบทางสังคมไม่สนับสนุนให้พวกเธอทำงาน ไม่สนับสนุนความก้าวหน้า และไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงสวมบทบาทผู้นำ จูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการศึกษานี้คือ ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วทุกมุมโลกแม้จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา เพราะแม้กระทั่งในประเทศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจก็ยังไม่สามารถผลักดันให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ สถานการณ์เช่นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จของผู้หญิงทั้งทางสังคม อาชีพ เศรษฐกิจและการเมือง ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมในภาพรวม ด้วยเหตุนี้มาสเตอร์การ์ดจึงเดินหน้าสู้กับปัญหานี้ทั่วทุกมุมโลก โดยจัดหาเครื่องมือและโครงข่ายที่จะผลักดันสังคมสู่การเติบโตแบบทั่วถึง และนำเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับทุกคนในทุกที่