ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : จังหวัดอุตรดิตถ์ในมุมโบราณสถานวัดวาอารามสำคัญๆ คู่บ้านประจำเมืองมีอยู่หลายวัด
อย่างทริปสั้นๆ เที่ยวนี้แวะไปอัพเดทภาพถ่าย วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
วัดนี้ตั้งอยู่บนยอดเนินเล็กๆ ที่เรียกว่า “เขาทอง” ตามข้อมูลสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลาย – อยุธยา กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ พ.ศ. 2478
ภายในวิหารมีพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นศิลาแลง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2.50 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 90 เซนติเมตร ใต้พระแท่นจำหลักเป็นรูปกลีบบัวหงายบัวคว่ำ ต่อมามีผู้ศรัทธานำไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก ทำเป็นพุทธบัลลังก์ประกอบเข้ากับตัวพระแท่นและทำมณฑปสวมไว้ พระแท่นนี้เป็นพุทธอนุสรณ์ที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนในอำเภอลับแลและทั่วไป
ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาวัดนี้ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2450 มีข้อความบางตอนในพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ตอนที่ 19 อุตรดิตถ์ – ลับแล – ทุ่งยั้ง จากข้อมูลปกิณกวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม 2562
เวลาเช้า ๔ โมงเศษถึงวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นเคราะห์ดีที่ได้ไป พอเวลาเทศกาลราษฎรขึ้นไหว้พระแท่น กำหนดวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนสาม วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ นี้ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงได้เห็นคนอยู่มาก ที่ถนนตรงหน้าพระแท่นออกไปมีร้านตั้งขายของต่างๆ คนเดินไปมาเบียดกันแน่นคล้ายที่พระพุทธบาทในเวลาเทศกาล อยู่ข้างจะครึกครื้นมาก ได้ฉายรูปหมู่คนไว้ดูเล่น แล้วจึงเข้าไปนมัสการพระแท่น
อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๑๙
(๑) บานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์นั้น ต่อมาไฟไหม้เสียกับวิหาร น่าเสียดายยิ่งนัก ฝีมือจำหลักเป็นตัวกระหนกและรูปภาพเด่นออกมา ทำนองบานประตูวิหารพระศรีศากยมุนีที่วัดสุทัศน์ สันนิษฐานว่า เป็นบานเดิมของวิหารพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก ครั้นเมื่อพระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์วัดสำคัญทางเมืองเหนือโปรดให้ถ่ายลายลงมาทำเป็นบานประดับมุขพระราชทานไปเปลี่ยน ส่วนบานเดิมโปรดฯ ให้ย้ายเอาไปเป็นบานวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งทรงปฏิสังขรณ์ด้วยในคราวนั้น
วัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นพระอารามหลวงสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ได้ใช้พระวิหารของวัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกของจังหวัด
ออกจากวัดนี้ไป วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณทุ่งยั้ง มีมหาเจดีย์ทรงลังกาและวิหารหลวง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ พ.ศ. 2478 ตามข้อมูลประวัติวัด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย (สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท) ชาวบ้านนิยมเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดทุ่งยั้ง
พระมหาเจดีย์นี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง และวัดเคยใช้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการทหารและพลเรือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา – รัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งเจดีย์และวิหารได้รับการบูรณะในเวลาต่อมา เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จนมัสการพระบรมธาตุทุ่งยั้งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2444 และวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เช่นกัน
ภายในวิหารหลวงประดิษฐานพระประธาน ชาวบ้านได้ถวายพระนามว่า “หลวงพ่อโต” บ้าง “หลวงพ่อประธานเฒ่า” บ้าง “หลวงพ่อหลักเมือง” บ้าง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดหน้าตักกว้าง 2 วา 10 นิ้ว สูง 3 วา 10 นิ้ว ลงรักปิดทองคำเปลวอย่างดี เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองทุ่งยั้ง
นอกจาก 2 วัดที่กล่าวมานี้ ยังมีโบราณสถานวัดวาอารามสำคัญๆ คู่บ้านประจำเมืองในจังหวัดอุตรดิตถ์มีอีกหลายวัด เช่น วัดพระฝาง วัดพระยืน วัดพระมหาธาตุ วัดใหญ่ท่าเสา วัดดอนสัก ฯ และร่องรอยคูเมืองโบราณ เวียงเจ้าเงาะ – ทุ่งยั้ง
สบจังหวะไปเที่ยวอีกคราถ่ายภาพมานำเสนอ