คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น
ในห้วงกลางเดือนนี้ มีข่าวฮือฮาเรื่องภาพสไลด์ “รอยพระพุทธบาท” ทั่วประเทศไทย ซึ่งมีทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนัง และภาพรอยพระพุทธบาทบนหิน นับเกือบ 10,000 ภาพ ที่เป็นผลงาน (สะสม) โดยฝรั่งชาวอเมริกันชื่อ ดร.วอร์เดมาร์ ซี ไซเล่อร์ ก่อน 50 ปีก่อน ภาพทั้งหมดนั้นอยู่ในความดูแลของ ศาสตราจารย์ นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต
ข่าวรายงานว่า ภาพที่เก็บรักษาไว้นั้น อยู่ในรูปสำเนาคัดลอก
ภาพรอยพระพุทธบาทมีทั้งใน เนปาล จีน เกาหลี ญี่ปุ่น พม่า อินเดีย ยูนนาน ทิเบต และศรีลังกา นับกว่า 400 ภาพที่ทั้งสำเนากระดาษสา และสำเนาแผ่นพลาสติกใสลอกลายถ่ายลงกระดาษ ม้วน และคลุมไว้ด้วยพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง ป้องกันฝุ่นละอองและแมลงอย่างดี แต่ละแผ่นมีความยาวเฉลี่ยกว่า 2 เมตร มีบันทึกชื่อและสถานที่ตลอดถึงรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับภาพ เขียนด้วยลายมือเป็นภาษาอังกฤษ
ดร.นิยะดา กล่าวว่า มีต้นฉบับงานหนังสือซึ่งยังไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน (ซึ่งท่านเก็บรักษาไว้ด้วย) ชื่อเรื่อง “A Buddha Tradition-Buddha Pada-Lan Chana and Pada:Buddha Footprint and Feet” (มีเนื้อหาว่าด้วยรอยพระพุทธบาท)
ดร. นิยะดา มองว่า ผลงานเหล่านั้นเป็นของประเทศ เจ้าของผลงานที่รวบรวมโดย ดร.ไซเล่อร์ ซึ่งทำงานนี้ทั้งชีวิต ท่านเสียชีวิตแล้ว ก่อนเสียชีวิต เคยไปอาศัยอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ดร.ไซเล่อร์ เคยเขียนบทความประมาณ 30 เรื่องลงในวารสารคิวเซประทีป (รายเดือน) เนื้อหาเกี่ยวกับ พุทธศิลป์ล้านนา, พระแผง (ของไ ทย) ฯลฯ แสดงว่า ท่านเป็นคนสนใจศิลปกรรมของไทยเป็นพิเศษ
ระหว่างนี้ มีมหาวิทยาลัยต่างๆในต่างประเทศ มีหนังสือผลงานของ ดร.ไซเล่อร์ไปเก็บไว้ แต่ ดร.นิยะดา อยากให้ผลงานเหล่านั้นเป็นของไทย ทั้งๆ ที่ไม่มั่นใจในศักยภาพที่จะเก็บรักษาไว้ได้ ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ก็มีความเห็นอย่างเดียวกัน อยากจะใช้กรมศิลปากร หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือสถาบันการศึกษา เป็นแหล่งเก็บรักษา ถ้าไม่มีหน่วยงานใดรับไว้จริงๆ ค่อยให้ต่างประเทศที่ขอมา
อาจารย์ศรีศักดิ์กล่าวว่า มีหลายครั้งที่นักวิชาการของไทยนำผลงานของ ดร.ไซเล่อร์ไปใช้ แต่ไม่มีการให้เครดิตหรืออ้างอิงใดๆ
“น่าสงสาร ดร.ไซเล่อร์ (ซึ่งเคยพูดคุยกัน) ผลงานของท่านที่รวบรวม เป็นงานละเอียดประณีตอย่างยิ่งโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท หาใครเปรียบได้ยาก ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ทราบว่า ท่านป่วย ชีวิตค่อนข้างลำบาก งานเกี่ยวกับพระรัตนตรัยท่านตั้งใจทำอย่างละเอียดเป็นพิเศษ...”
ฟัง(และอ่าน) ข่าวเรื่องนี้แล้ว ผมก็นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “รอยพระบาทพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม” เป็นงานวิจัยโดย Virginia Mckeen Di Crocco ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ แปลโดย สมหวัง แก้วสุฟอง พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2555 เพียง 500 เล่ม จัดพิมพ์โดยมูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์
ผมได้รับความรู้เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทจากหนังสือเล่มนี้
ได้ทราบว่า เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์มงคล 108 บนรอยพระพุทธบาทมีอะไรบ้าง
มีความรู้สึกว่า รอยพระพุทธบาทบนแผ่นดินไทย อาจจะไม่ใช่ “รอยตีน” ของพระพุทธเจ้า อาจจะเป็นรอยที่น้ำเคยขังอยู่นานๆ บนแผ่นหินบางรอยอาจจะมีรูปลักษณ์เหมือนรอยเท้า แล้วมีการปรับแต่งอีกทีหนึ่ง แต่คนก็ศรัทธาและนับถือบูชา อาจจะไม่เชื่อเป็นจริงเป็นจังว่าเป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า แต่ก็นับถือและเคารพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ร่องรอยบนหินอย่างนี้ จะนับเป็นโบราณวัตถุทางโบราณคดีหรือไม่?
คติเรื่องรอยพระพุทธบาท (บนหิน) เห็นจะมาจากลังกา แล้วมาแพร่หลายที่ประเทศไทย (ยังนึกไม่ออกว่า ในพระไตรปิฎกบาลีมีกล่าวถึงรอยพระพุทธบาทหรือไม่)
แม้แต่เรื่อง “พระบรมสารีริกธาตุ” ก็น่าจะมาจากลังกา (เช่น “ พระเขี้ยวแก้ว” ที่เมืองแคนดี้ ก็ถือว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุ (ฟัน-ซี่ที่เป็นเขี้ยวของพระพุทธเจ้า)
นึกถึงสมัยเรียนแปลบาลี (แปลธรรมบท) จำได้ว่าเป็นเรื่องในธรรมบทเล่ม 2 อยู่ในเรื่อง “นางสามาวดี” กล่าวถึงพราหมณ์คนหนึ่ง (ชื่อ “มาคัณฑิยะ”) มีลูกสาวสวย เห็นพระพุทธเจ้ามีลักษณะงดงาม อยากจะยกลูกสาวให้เป็นคู่ครอง จึงไปตามลูกสาวและเมียมาดูตัว (มีชาวเมืองตามมาด้วยเป็นจำนวนมาก) พระพุทธเจ้าเสด็จไปจากที่นัดพบ แสดงไว้แต่รอยเท้าไว้ที่พื้นดิน เมียของพราหมณ์เห็นรอยเท้าพระพุทธเจ้า ก็รู้ว่าเป็นคนหมดกิเลส แสดงความรู้ (ทรงดูโหงวเฮ้ง) แบบพราหมณ์ (ตามตำราดูลักษณะ) ว่า
รตฺตสฺส หิ อุกฺกุฏิตํ ปทํ ภเว,
ทุฏฐสฺส โหติ สหสานุปิธตํ,
มูฬฺหสฺส โหติ อากฑฺฒิตํ ปทํ,
วิวฏจฺฉทสฺส อิทมีทิสํ ปทํฯ
แปลว่า
“คนเจ้าราคะ (ยังเสพกาม) มีรอยเท้ากระหย่ง (เว้ากลาง), คนเจ้าโทสะ มีรอยเท้าหนักที่ส้น คนเจ้าโมหะ มีร้อยเท้าจิกปลาย( รอยนิ้วเท้าหนักที่นิ้วเท้า), รอยเท้านี้เป็นของคนหมดกิเลส”
รอยเท้าของพระพุทธเจ้านั้น ท่านใช้คำว่า “ปทเจติยํ” (เรียกรอยเท้านั้นว่า “เจดีย์” )เป็นเจดีย์ประเภท “อุทเทสิกะ” เช่นเดียวกับ “พระธาตุ หรือ “พระสถูป” เป็นต้น (คำว่ารอยเท้า ทั่วๆไปใช้คำว่า “ปทวลญฺโช)
บาลีในธรรมบทอธิบายว่า รอยพระบาทนั้น พระพุทธเจ้าแสดงให้ปรากฏแก่บุคคลที่ทรงประสงค์ให้เห็น ตามเรื่อง รอยพระบาทนั้นไม่ได้ประทับอยู่บนหินแต่อย่างใด
คติเรื่องรอยพระพุทธบาทประทับอยู่บนหินมาจากลังกา ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา (คัมภีร์รองจากพระไตรปิฎก) กล่าวว่า มีรอยพระพุทธบาทอยู่ 5แห่งคือ
1. ที่ฝั่งแม่น้ำนัมทา(ในอินเดีย)
2. ที่ภูเขาสัจจพันธ์ (ไม่ระบุประเทศ)
3. ที่ภูเขาสุมนกูฏ (ในลังกา)
4. ที่ภูเขาสุวรรณหรือสุวรรณบรรพต (ในจังหวัดสระบุรี ประเทศไทย) และ
5. ที่เมืองโยนก (ไม่ระบุประเทศ)
รอยพระพุทธบาทที่สุวรรณบรรพต พระที่ลังกาบอกให้ชาวพุทธไทยไปกราบไหว้ (ตำนานกล่าวว่า นายพรานบุญไปพบ) ตั้งแต่นั้นมา (สมัยอยุธยา) รอยพระพุทธบาทก็มีบนหิน (ในภูเขา) มากมาย มีทั้งบนแผ่นหินตามธรรมชาติ มีทั้งรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้น (ดูเหมือนจะมีในทุกภาคของไทย)
ชาวพุทธไทย นับถือรอยพระพุทธบาท เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรอยที่เกิดตามธรรมชาติหรือรอยที่สร้างขึ้น
เช่นเดียวกับนับถือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเอาผ้าเหลืองไปพันไว้นั่นแหละ
ถ้าดร. ไซเล่อร์ ตามเก็บสะสม “รอยพระพุทธบาท” เหล่านั้นไว้ก็น่าจะเป็นงานทางโบราณคดีอันสะท้อนศรัทธาหรือความเชื่อของชาวพุทธไทย รอยบางมีรอยอายุกาลของหินไว้เหมือนกัน ลักษณะเป็นรอยเท้ามนุษย์ที่เคยเหยียบบนหิน แสดงว่า ที่ตรงนั้นเคยเป็นดินโคลนมีอายุยาวนาน กินเวลาหลายล้านปี
รอยพระพุทธบาท ที่มีเครื่องหมายมงคล 108 แสดงว่าเป็นรอยสร้างขึ้น (ส่วนใหญ่สร้างในสมัยอยุธยา?)
น่าสนใจตรงที่ว่า รอยพระพุทธบาทเริ่มจากลังกา เป็นคติ (ความเชื่อ) แบบพุทธ (ในศาสนาฮินดู มีความเชื่อเรื่อง “วิษณุบาท” (รอยพระบาทของพระวิษณุเจ้า) ดร.ไซเล่อร์ รวบรวมสะสมภาพของรอยพระพุทธบาทไว้นั้น มีรอยพระพุทธบาทในหลายประเทศ เช่น ในเนปาล ในจีน เป็นต้น แสดงว่าความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทค่อยๆ พัฒนาเป็น “ลัทธิ” อย่างหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งน่าศึกษาเป็อย่างยิ่ง
คติเรื่อง พระธาตุ (หรือ พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า)ก็ไม่ต่างไปจากเรื่องรอยพระพุทธบาท เป็นความเชื่อความผูกพันทางศาสนา
แต่น่าสังเกตว่า ที่ภูเขาคิชฌกูฏ (เมืองราชคฤห์) ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ และที่ภูเขาเวภาระ (เวภารบรรพต) ที่ทำการปฐมสังคายนา ไม่มีรอยพระพุทธบาทปรากฏให้เห็นเลย?
ในงานวิจัยเรื่อง “รอยพระบาท” ของ virginia mckeen di crocco ที่กล่าวถึง มีภาพถ่ายรอยพระพุทธบาทเกือบ 200 ภาพแสดงหลักฐานที่น่าสนใจ เห็นได้ชัดว่า รอยพระพุทธบาทบางรอยจมอยู่ในแผ่นหิน บางรอยเป็นรอยนูน แสดงว่า มีการสร้างขึ้น
น่าจะมีการศึกษาทางโบราณคดี เพื่อจะได้ทราบว่า รอยพระพุทธบาทนั้นๆ สร้างขึ้นในสมัยใด
เช่นเดียวกับ “พระอุรังคธาตุ” ที่วัดพระธาตุพนม (จังหวัดพครพนม) ซึ่งตำนานกล่าวว่า มีมาตั้งแต่ พ.ศ.8 ถ้าเป็นดังตำนานว่า ก็แสดงว่า พุทธศาสนามาสู่สุวรรณภูมิก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนับเป็นร้อยๆ ปีและสมัยนั้น พุทธศาสนายังไม่แตกแยกเป็น “มหายาน” และเป็น “หีนยาน” (เถรวาท) ด้วยซ้ำ
เมื่อพุทธศาสนาประสบภัยสงครามสมัยอยุธยา ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า กรุงศรีอยุธยาถูกเผาทำลายย่อยยับ คัมภีร์ใบลานทางพุทธศาสนาถูกเผาทำลายหมดสิ้น ก็มีการฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นทางประเทศลาวและเขมร (กัมพูชา)ตลอดถึงทางอาณาจักรล้านนา
ผลงานที่ ดร.ไซเล่อร์ (และศ.ดร.นิยะดา) เก็บสะสมนั้น ย่อมจะมีคุณค่ามหาศาล สมควรที่ฝ่ายรัฐจะตื่นตัวดูแลเป็นพิเศษ ไม่ควรปล่อยให้งานศึกษาเหล่านั้นตกไปอยู่ในครอบครองของประเทศอื่นตามที่เป็นข่าว
สถาบันวิจัยสังคม มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) นั้น ตั้งขึ้นเพื่อดูแลงานทางวัฒนธรรมล้านนา แต่ดูเหมือนจะแผ่วๆไป ไม่คึกคักเท่าที่ควรอยากจะให้หันมาสนใจมรดกทางพุทธศาสนาในอดีตมากขึ้น โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานและภาษาคำเมืองในวัดต่างๆ เกรงว่าจะปล่อยทิ้งร้างจนไม่เหลือร่องรอยใดๆ
ดูเหมือนคณะสงฆ์จะไม่มีบทบาทด้านนี้เท่าที่ควร หลายวัดมีสำนักเรียพระปริยัติธรรม แต่มองข้ามคัมภีร์ใบลานในห่อผ้าหรือในตู้ โดยไม่รู้ตัวคนที่มาสนใจกลับเป็นชาวต่างชาติอย่าง ดร.ไซเล่อร์
ผมเคยเรียนอยู่ มช.ได้เห็นฝรั่งชาวอเมริกัน ชาวอังกฤษ ชาวเยอรมัน ฯลฯ และแม้แต่ชาติญี่ปุ่น มาซุ่มศึกษามรดกของล้านนาแล้วก็ใจหาย
เกรงว่า อีกไม่นานเราคงจะไปเรียนเรื่องของตัวเองจากประเทศอื่นทั้งนั้นเมื่ออ้างอิงถึงความรู้ต่างๆ ก็จะอ้างถึงแต่งานของเขาเป็นแหล่งอ้างอิง อย่างที่เป็นอยู่มากขึ้นทุกวัน
เรื่อง “รอยพระพุทธบาท” ที่ ดร.ไซเล่อร์ และศาสตราจารย์ ดร. นิยะดาใส่ใจเป็นห่วงเป็นใยเก็บสะสมไว้นั้นเป็นเรื่องใหญ่ ถ้ากรมศิลปากรไม่เห็นหรือสถาบันการศึกษาไทยไม่สนใจ ก็แสดงว่า เรากำลังจะสูญเสียอิสรภาพหรือเอกราชโดยไม่รู้ตัว เป็นการสูญเสียทางวัฒนธรรมก่อนทางอารยธรรมนั่นเอง
เรากำลังหลงอารยธรรมของยุคสมัย ไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม อันดีของตัวเอง โดยไม่รู้ตัว
ได้ยินแต่เสียงเพรียกหาในความวังเวง