คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์ / ก๊วยเจ๋ง ผมเรียนรู้จากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แบบ “ครูพักลักจำ ครูทำศิษย์เอาอย่าง” ขอเล่าให้ฟังต่ออีกนิดว่า หลังจากที่ไปเรียนเชิญท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ไปพูดเป็นองค์ปาฐกเพื่อหาเงินไปปลูกป่า แม้ว่าท่านจะไม่สะดวกที่จะไปพูดให้ แต่ท่านก็ให้เงินมาเท่าที่เรากำหนดไว้ คือ 8,000 บาท ซึ่งทำให้เราไม่ต้องไปเรี่ยไรจากรุ่นพี่คนอื่นๆ และไม่ต้องจัดงานในการหาทุนสำหรับครั้งนั้นด้วย ผมเป็นคนเดียวที่ยังเวียนไปมาหาสู่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์หลังการปลูกป่าคราวนั้น จนเมื่อปิดเทอมในเดือนมีนาคม 2520 ในวันที่ผมไปทานข้าวกลางวันกับท่านในวันหนึ่ง ผมก็ของานท่านทำ เพราะว่าปิดเทอมอยากหารายได้พิเศษ ซึ่งท่านก็ให้ผมมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น รับแขก รับโทรศัพท์ เปิดซองจดหมาย และไปซื้อโน่นซื้อนี่ตามที่ท่านสั่ง เป็นต้น จนกระทั่งเปิดเทอมผมก็ยังได้ทำหน้าที่นั้นต่อ โดยมาอยู่ช่วยในวันเสาร์อาทิตย์ จนผมสำเร็จการศึกษาในปี 2522 ผมได้ไปเป็นทหารเกณฑ์อยู่ 6 เดือน(เนื่องจากใช้วุฒิปริญญาตรีไปสมัครด้วยความสมัครใจ) พอกลับมาท่านก็ให้ผมมาทำหน้าที่เลขานุการแทนคนเดิมที่ไปทำงานในธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ และย้ายจากห้องเช่าข้างนอก มาอยู่ที่ห้องพักใกล้เรือนไทยในบ้านสวนพลู งานที่ทำก็มีมากขึ้น เช่น ช่วยพิมพ์เอกสาร ช่วยอ่านทวนบทความ ติดตามไปประชุมที่สภาและที่ธนาคาร และติดตามไปทานอาหารกับไปท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งก็เป็นงานที่ออกจะ “สุขสบาย” เพราะได้เปิดหูเปิดตา ได้รู้ได้เห็น และ “ได้ลาภปาก” อยู่เสมอ จนบางครั้งผมก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า “นี่เราทำบุญอะไรมา” หลายคนมองว่าการที่ผมได้อยู่ใกล้ชิดกับ “ปราชญ์ใหญ่” อย่างท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ น่าจะได้อะไรมากมาย โดยเฉพาะ “วิชาความรู้” ที่มีอยู่ในตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แต่ผมขอสารภาพก่อนว่า ผมน่าจะเป็นคนแบบที่โบราณเรียกว่า “ทัพพีที่ไม่รู้รสแกง” คือเป็นเหมือนทัพพีที่ใช้คนกับข้าวในหม้อแกงอยู่ทุกมื้อ แต่ทัพพีก็ไม่ได้ “ซึมซับ” เอารสหรือรับรู้รสของแกงใดๆ เลย แน่นอนว่า “คนเราไม่เหมือนกัน” และการที่จะเป็นปราชญ์ได้นั้นก็เป็นสิ่งที่ลอกเลียนกันไม่ได้ ถ้าจะได้ก็แค่ “การเอาเยี่ยงอย่าง” หรือทำตามแบบที่เราอยากจะเป็นคนๆ นั้นเท่านั้น ซึ่งผมก็พยายามที่จะ “เอาอย่าง” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่บางเรื่องเท่าที่จะเป็นไปได้ เรื่องแรกที่อยากเอาอย่างท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คือเรื่องความเป็น “พหูสูต” ดังที่ผมได้เล่าให้ฟังแล้วว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้อธิบายให้ทราบถึงที่มาที่ไปของคำๆ นี้ ว่ามาจาก “พหุ” แปลว่ามาก กับ “สุต” แปลว่าฟัง รวมความแปลว่า “ผู้ฟังมาก” ดังนี้ถ้าเราอยากจะเป็น “ผู้มีความรู้มาก” (อย่างที่คนทั้งหลายเข้าใจกันในความหมายของคำว่า “พหูสูต”) เราก็ต้องเริ่มจากการ “ฟังให้มาก” เพราะการฟังจะทำให้เรามีเวลาในการวิเคราะห์แยกแยะ ได้เรียบเรียงคำถามคำตอบที่ถูกต้องชัดเจน ทำให้การสนทนาหรือการโต้ตอบมีความรอบคอบ ได้เหตุได้ผล และที่สำคัญคือทำให้เราเป็นคนที่ “มีเสน่ห์” (อันเป็นเอกลักษณ์ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์) เพราะการฟังคือการเอาใจใส่ ให้ความสนใจแก่ผู้ร่วมสนทนา ทำให้เป็นที่รักของผู้ร่วมสนทนา ทั้งยังจะได้ความเป็นมิตร คือความรู้สึกที่ดีแก่กัน ทำให้ผู้พูดเกิดความไว้วางใจ พร้อมจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ทำให้ผู้ฟังได้ความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งก็คือ “สติปัญญา” ที่มอบให้แก่กัน ที่สุดก็จะเป็น “คนรู้มาก” และยังเป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยการสร้างสรรค์ อันเกิดจากความร่วมมือร่วมใจระหว่างกันนี้ด้วย เรื่องต่อมาที่ผมอยากเป็นเหมือนท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คือ “การใช้ชีวิตให้มีความสุข” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นแบบอย่างที่ดีของการใช้ชีวิตที่มีความสุข แม้ท่านจะอยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น ในวิกฤติทางการเมืองต่างๆ ท่านก็สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างไม่ยากเย็น สิ่งหนึ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ใช้ก็คือ “การคิดบวก” หรือ “มองโลกในแง่ดี” คือมองว่าทุกอย่างแม้มีปัญหาก็แก้ไขได้ ท่านเคยพูดว่าชีวิตของมนุษย์คือการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ เริ่มจากทำอย่างไรจึงจะให้อยู่รอด มนุษย์ต้องการความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิต ต้องการความรักความอบอุ่น และการที่คนอื่นให้ความสำคัญและให้เกียรติยกย่องนับถือ รวมทั้งต้องการความสำเร็จและบรรลุความประสงค์ที่แต่ละคนต้องการ ดังนั้นถ้าเราต้องการความสุข ก็ต้องเริ่มจากการทำให้คนอื่นมีความสุขด้วย ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยึดหลักของศาสนาพุทธ คือต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น การทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว และการทำแต่สิ่งที่ดีที่เป็นกุศล (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “กุศล” คือ “กิจของคนฉลาด”) หากดำรงชีวิตอยู่ได้ในแบบนี้ เราก็จะเป็นผู้ที่มีความสุขอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการตอบแทนจากผู้ที่เราให้ความสุขแก่เขานั้น และเรื่องสุดท้ายที่ผมอยากเอาอย่างท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คือ “การทำตัวให้เป็นประโยชน์ด้วยจุดยืนที่มั่นคง” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นผู้ที่มีจุดยืนคงมั่น ทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตส่วนรวม นั่นก็คือความจงรักภักดีและเทิดทูนต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งในส่วนตัวของท่านก็เทิดทูนยิ่งชีวิต และในทางส่วนรวมหากมีเรื่องราวอะไรมากระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านก็จะต่อสู้และปกป้องอย่างแข็งขัน ดังนั้นประโยชน์ของท่านก็คือประโยชน์ที่จะเกิดแก่สถาบันที่ท่านเคารพเทิดทูนยิ่งนี้ ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านได้แสดงบทบาทนี้มาอย่างมั่นคง ทั้งในทางการเมือง สังคมส่วนรวม และชีวิตส่วนตัวของท่าน ที่ผมขึ้นต้นไว้ว่า ผมเรียนรู้จากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แบบ “ครูพักลักจำ ครูทำศิษย์เอาอย่าง” ก็พอจะสรุปได้ว่า ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ทำไว้เป็นแบบอย่างใน 3 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ผมก็ยึดถือเอามาเป็นใช้ในการดำรงชีวิตอยู่ตลอดเวลา อนึ่งตอนนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ไม่ได้อยู่บนโลกนี้ แต่คงไปสถิตอยู่ ณ แดนอันสุขสงบที่ใดที่หนึ่งด้วยบุญกุศลที่ท่านสร้างมา จึงเหมือนว่าท่านได้ “ไปพัก” อยู่อย่างสุขสงบ ณ สถานที่นั้นแล้ว ดังนั้นเรื่องราวต่างๆ ที่ผมเขียนถึงท่านก็เขียนขึ้นจาก “ความทรงจำ” แบบว่า “ครูพักลักจำ” นั่นเอง และศิษย์ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ทุกคนก็คงจะเป็นแบบผมคือ “ครูทำศิษย์เอาอย่าง” นี้ตลอดไป