สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ หลวงปู่จีน วัดท่าลาด ต.ท่าถ่าน อ.พนมสารคาม พระเกจิอาจารย์ผู้มีอาวุโสและเป็นเคารพศรัทธามากที่สุดของจังหวัดมาแต่อดีต เป็นพระเกจิรุ่นเดียวกับ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก ของท่าน ก็เป็นที่เลื่องลือและได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในห้าสุดยอดพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักของประเทศ ที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบันเช่นกัน นอกจากนี้ยังถือเป็นต้นกำเนิดพระปิดตาของเมืองแปดริ้วอีกด้วย ผู้สร้าง ผู้เฒ่าเล่าต่อกันมาว่า วัดท่าลาดแห่งนี้ สร้างโดย พระยาเขมร ที่อพยพมาจากพระตะบอง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2395 วัดสร้างเสร็จได้ประมาณปีเศษ ก็มีพระธุดงค์ผ่านมา 3 รูป ด้วยวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสศรัทธา ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ให้จำพรรษาที่วัดท่าลาด ต่อมาพระ 2 รูป ได้ออกธุดงค์ต่อลงมาทางใต้ เหลือเพียง หลวงปู่จีน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดท่าลาด พิมพ์เม็ดกระบกใหญ่ ประวัติความเป็นมาของหลวงปู่จีนนั้น ไม่มีผู้ใดได้บันทึกไว้ เพียงเล่าสืบต่อมาจากผู้ที่เกิดทันได้พบหลวงปู่ ซึ่งสันนิษฐานว่าท่านเกิดในราวปี พ.ศ.2357 และเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าลาดในราวปี พ.ศ.2497 เป็นพระผู้มีเมตตาธรรมสูง เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระและพุทธาคมเป็นพิเศษ รวมทั้งวิชาการแพทย์แผนโบราณ ซึ่งท่านได้ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านทั้งเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยและเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจต่างๆ ด้วยความเมตตา เป็นที่เคารพนับถือศรัทธาของชาวฉะเชิงเทราและใกล้เคียง ต่อมากิตติศัพท์ชื่อเสียงของท่านเริ่มขจรไกล มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านมรณภาพในราวปี พ.ศ.2440 สิริอายุประมาณ 83 ปี พิมพ์เม็ดบัวเศีรยแหลม เนื้อหามวลสาร สันนิษฐานกันว่า หลวงปู่จีนสร้าง “พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก” ไว้ประมาณปี พ.ศ.2430 โดยสร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณผสมว่านวิเศษต่างๆ นำมาคลุกรักเพื่อเป็นตัวประสาน แล้วกดแม่พิมพ์พระปิดตา ซึ่งมีการจัดสร้างหลายครั้ง แต่ละครั้งจำนวนไม่มากนัก เพราะวิธีการสร้างทำได้ยากมาก พิมพ์แข้งหมอนหน้า พุทธลักษณะ พระปิดตาหลวงปู่จีนนั้น องค์พระประธานนั่งขัดสมาธิราบ เศียรโล้น พระหัตถ์ปิดพระเนตร และมีเส้นโค้งรอบองค์ ด้านหลังส่วนใหญ่จะอูมเป็นแบบหลังเบี้ยหรือหลังประทุนแทบทุกองค์ และมักมีการลงรักทับไว้อีกชั้นหนึ่ง มีการจัดสร้างเป็นหลายพิมพ์ พิมพ์ที่เป็นพิมพ์นิยม มีอาทิ พิมพ์แข้งหมอน, พิมพ์เม็ดกระบก, พิมพ์กลีบบัวใหญ่, พิมพ์กลีบบัวเล็ก และ พิมพ์ไม้ค้ำเกวียน เป็นต้น โดย ‘พิมพ์แข้งหมอน’ นับเป็นพิมพ์นิยมอันดับหนึ่ง และพบน้อยมาก พิมพ์แข้งหมอนหลัง เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระปิดตาหลวงปู่จีน พิมพ์แข้งหมอน - เส้นซุ้มมีรอยขยัก 2 ตำแหน่ง คือ ระหว่างใต้พระกรรณกับพระอังสาทั้งสองข้าง และระหว่างพระกัประ (ข้อศอก) กับแข้งหมอน - เส้นซุ้มด้านล่างใต้พระเพลาด้านซ้ายขององค์พระจะชิดกับพระเพลาแล้วค่อยๆ ถ่างออก - พระเศียรด้านบนลักษณะคล้ายครึ่งวงกลมโค้งลงมาถึงพระกรรณทั้งสองข้าง - ลำพระพาหาทอดโค้งข้างซ้ายใหญ่กว่าข้างขวาขององค์พระ - ข้อพระหัตถ์ทั้งสองบรรจบกันที่ลำพระศอ - ด้านหลังส่วนใหญ่จะอูมมาก แนวทางในการพิจารณา พระปิดตาหลวงปู่จีน เนื้อผงคลุกรัก ส่วนใหญ่จะจุ่มรักหรือทารัก จึงเห็นเนื้อในเฉพาะส่วนสูงที่ถูกสัมผัส เนื้อละเอียดแบบเนื้อกะลา ซึ่งแห้งและจัดมาก ถ้าถูกเหงื่อสีจะออกน้ำตาลเข้ม บางองค์เห็นรักเป็นเกล็ดในเนื้อ บางองค์ก็มีการปิดทอง พิมพ์กลีบบัว พุทธคุณ โดดเด่นในด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ และแคล้วคลาด ใครมีไว้ครอบครองรับรอง ไม่เป็นสองรองใคร น้องๆ พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เลยนะครับผม