ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ในโลกปัจจุบันคงไม่มีสื่อคนไหน ที่สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ และต้องถูกตามล่าล้างผลาญ จากการสมคบคิดกัน อันประกอบด้วยสหรัฐฯเป็นตัวต้นเรื่อง อังกฤษผู้รับจ๊อบ สวีเดนผู้ช่วย และอิควาคอผู้หักหลัง จูเลียน อัศซานจ์ เจ้าของสื่อวิกกี้ลีค (wikileaks) ผู้เปิดโปงแผนชั่วของซีไอเอ ในการล้วงความลับของบุคคลสำคัญต่างๆทั่วโลก และอาชญากรรมสงครามของทหารอเมริกันในอิรัก และอาฟกานิสถาน จนข้อมูลที่เขาเปิดเผยกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ศาลอาชญากรสงครามนานาชาติ ทำการสอบค้น และเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาคดี หากทว่าสหรัฐฯไม่ยอมให้ความร่วมมือ และยังระงับยับยั้งเพื่อปิดบังพฤติกรรมชั่วของทหารในกองทัพ แม้องค์การสหประชาชาติจะพยายามนำเอาเรื่องนี้เข้ามาพิจารณาในการประชุมสมัชชาใหญ่ แต่องค์คณะผู้สอบสวนก็ถูกกีดกันไม่ให้เดินทางเข้าประเทศเพื่อมายังสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก ล่าสุดประธาณาธิบดีทรัมป์ยังใช้อำนาจอภัยโทษทหารอเมริกันบางคนที่ก่ออาชญากรรมสงคราม และรัฐมนตรีทบวงทหารเรือตั้งกรรมการสอบ โดยไม่ฟังคำสั่งของทรัมป์ที่ระงับการสอบสวน ในที่สุดรัฐมนตรีทบวงทหารเรือก็ถูกรัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบันสั่งปลดออก จากวีรกรรมของจูเลียน อัสซานจ์ ที่เปิดโปงพฤติกรรมชั่วร้ายของทหารสหรัฐฯ และการล้วงความลับของบุคคลสำคัญทั่วโลก ทำให้เขาต้องเผชิญกับวิบากกรรม เริ่มจากการต้องลี้ภัยเข้าไปอยู่ในสถานทูตอิควาดอ ที่เขาถือสัญชาติอยู่ (อัสซานจ์ เกิดในออสเตรเลีย) ตั้งแต่ปี 2010 ด้วยข้อกล่าวหาของสวีเดนที่สมคบคิดกับสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเขามีคดีข่มขืนสตรีในสวีเดน ซึ่งจูเลียน อัสซานจ์ก็ปฏิเสธมาโดยตลอด แต่ตนเองก็ต้องลี้ภัยเข้าไปอยู่ในสถานทูตอิควาดอที่ไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ณ กรุงลอนดอน นับเป็นเวลาเกือบ 8 ปี ที่เขาต้องมีสภาพเหมือนถูกกักบริเวณในสถานทูต และสวีเดนก็ดำเนินการสอบสวนแล้วยกเลิก แล้วก็ตั้งอัยการใหม่มาสอบสวนอีกเป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยยังไม่มีคำกล่าวหา แต่ต้องการตัวไปสอบสวนที่สวีเดน จนถึงปัจจุบันสวีเดนก็ยกเลิกการสอบสวนทั้งมวล และยกเลิกการขอให้ส่งตัวจูเลียน ไปสอบสวนที่สวีเดน มันง่ายๆอย่างนั้น ภายหลังที่ใช้เวลาเกือบ 8 ปี สอบไปสอบมาพอ อัสซานจ์ถูกตำรวจอังกฤษลากตัวออกจากสถานทูตอิควาดอก็เลิกขอตัวชะงั้น ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯขอตัวอัสซานจ์ไปดำเนินคดีในข้อหาจารกรรม ด้วยกฎหมายเก่าแก่ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนอังกฤษที่ลากตัวจูเลียน อัสซานจ์ ออกจากสถานทูตอิควาดอ ก็เพราะสหรัฐฯไปเจรจาความนัยกับประธานาธิบดีอิควาดอให้เปิดทางให้ตำรวจอังกฤษบุกเข้าไปจับ โดยทันทีที่ประธานาธิบดีอิควาดอประกาศถอนสัญชาติ จูเลียน อัสซานจ์ จากการเป็นพลเมืองอิควาดอ นอกจากนี้อังกฤษยังลากตัวจูเลียน อัสซานจ์ ไปขึ้นศาลฐานหนีประกันจากข้อกล่าวหาของสวีเดน ซึ่งในข้อเท็จจริงก็ไม่มีการกล่าวหาอย่างเป็นทางการ และปัจจุบันสวีเดนก็ยกเลิกการสอบสวนแล้ว ในศาลผู้พิพากษายังได้แสดงความมีอคติอย่างชัดเจน โดยเรียกเขาว่า “ไอ้คนหลงตัว” ทั้งที่ในการนำตัวขึ้นศาล เขามิได้พูดอะไรเลย นอกจากกล่าวว่าเขาไม่มีความผิด ทีนี้มาพิจารณาในแง่ของระบบยุติธรรมของอังกฤษที่ควรจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม แต่กลับกลายเป็นว่าโทษหนีประกันนี่โดยปกติไม่ใช่โทษหนัก อย่างมากก็ถูกปรับ หรือกักขังระยะสั้น แต่นี่จูเลียน โดนสั่งขังที่คุกเบลมาร์ชของอังกฤษถึง 50 สัปดาห์(เกือบปี) นอกจากนี้หากพิจารณาในแง่มุมของกฎหมาย จูเลียน ไม่ได้หนีประกัน แต่เขาได้รับสิทธิให้ลี้ภัยในสถานทูตอิควาดอ ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนของอิควาดอ ไม่ใช่เดินแดนของอังกฤษ ที่สำคัญผู้พิพากษาในคดีนี้ มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์เพราะคู่สมรสของเธอถูกเปิดโปงพฤติกรรม ฉ้อฉลโดยวิกกี้ลักส์ ซึ่งทนายของจูเลียน อัสซานจ์ พยายามร้องเรียนคัดค้าน แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ส่วนสหรัฐฯได้มีการขอตัวจูเลียน อัสซานจ์ ไปดำเนินคดีข้อหาจารกรรมด้วยข้อหา 18 คดี และมีโทษรวมกันถึง 175 ปี นั่นคือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นชั้นความลับของซีไอเอ และรัฐบาลสหรัฐฯ แต่หากเราจะมาพิจารณาในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่เป็นประเด็นสำคัญนั้น จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะจูเลียน ถูกกล่าวหาว่า ได้พยายามช่วย เซลซี แมนนิ่ง แฮกเกอร์ในการให้รหัสผ่านเข้าชั้นเอกสารลับ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในประเด็นนี้หากใครก็ตามดำเนินการเพื่อเข้าไปดูเอกสารลับ แต่ไม่ประสบความสำเร็จก็คงต้องโทษไปหมด ที่สำคัญอัสซานจ์ไม่ใช่คนอเมริกัน และตอนเกิดเรื่องเขาก็มิได้อยู่ในแผ่นดินสหรัฐฯ นอกจากประเด็นนี้ข้อกล่าวหาอื่นๆต่อจูเลียน อัสซานจ์ มันก็เป็นภารกิจปกติของสื่อที่จะเสนอข่าวต่างๆที่เป็นพฤติกรรมฉ้อฉลของรัฐบาล และการก่อาชญากรรมสงครามของสหรัฐฯในอิรัก และอาฟกานิสถาน ซึ่งแทนที่สาธารณชนจะให้ความสนใจ และโฟกัสไปที่การก่ออาชญากรรมสงคราม สหรัฐฯกลับเบี่ยงเบนไปเป็นเรื่องความผิดฐานจารกรรมข้อมูล มิหนำซ้ำประธานาธิบดีทรัมป์ ยังอภัยโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดบางคนที่มีพฤติกรรมชัดแจ้งจนถูกสอบสวนอีกด้วย ครั้นมาดูขบวนการไต่สวนและพิจารณาคดีของสหรัฐฯ คณะลูกขุนใหญ่ก็มีวิธีการดำเนินคดีที่แปลกประหลาด โดยนำเอาคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรจากการคัดเลือกเป็นพิเศษ ประกอบกับขบวนการไต่สวน ซึ่งจะมีขั้นตอนขบวนการที่เป็นความลับ หลักฐานลับที่ไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะ สุดท้ายก็จะสรุปเอาตามที่อัยการรัฐกล่าวหา เพราะลูกขุนต่างก็ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และความมีอิสระของสื่อในฐานะฐานันดรที่ 4 หรือ แนว 5 (Fifth Column)ที่จะช่วยปกป้องสิทธิพลเมืองต่อการกระทำที่ฉ้อฉลของรัฐบาล ที่น่าสงสารคือ สภาพร่างกายและจิตใจของจูเลียน อัสซานจ์ ที่ต้องถูกกักกัน จำกัดพื้นที่ และสุดท้ายยังถูกขังคุก โดยไร้ซึ่งหลักนิติธรรม เพราะจนถึงปัจจุบัน จูเลียน ยังไม่เคยได้รับเอกสารข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบคดีที่กล่าวหาเขาแต่อย่างใด ทนายความของจูเลียน ฮัสซานจ์ พยายามขอให้ผู้ตรวจการสิทธิมนุษยชนและการทรมานผู้ต้องหาองค์การสหประชาชาติได้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งท่านผู้ตรวจการก็ได้ขอเข้าเยี่ยมอัสซานจ์พร้อมกับนายแพทย์ และจิตแพทย์ เพื่อตรวจสอบสภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งพบว่าสภาพทั้งร่างกายและจิตใจของอัสซานจ์อยู่ในสภาพย่ำแย่มาก หากต้องติดคุกในสหรัฐฯคงจะเน่าตายเป็นแน่แท้ อย่างไรก็ตามวิญญาณนักสู้และยืนหยัดในหลักการของอัสซานจ์ ควรจะได้เป็นแบบอย่างให้สื่อทั้งหลายได้ยืดหยัดเพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชน และเพื่อสันติสุขของโลก หากโลกไร้ซึ่งความยุติธรรม ความสงบสุขก็ยากจะเกิด เสรีภาพของสื่อที่มีอุดมการณ์จะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญต่อการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม