ทั้งแก้ระดูมาไม่ปกติ ได้ผลเทียบเคียงกับยาแผนปัจจุบัน เป็นยาสามัญประจำบ้านหาซื้อได้ตามร้านขายยา ไม่ก่อผลข้างเคียง แต่ห้ามใช้ในหญิงตกลูกหลังคลอด ระดูมามากกว่าปกติ หญิงตั้งครรภ์ มีไข้ และหากใช้ต่อเนื่องผู้มีปัญหาเรื่องตับ-ไตต้องระวัง นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ โฆษกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงจำนวนมากมักประสบกับปัญหาดังกล่าว ส่วนใหญ่มีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1 – 2 วัน และปวดท้องระหว่างมีประจำเดือนตามมา โดยอาการที่พบมักจะปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อยบริเวณท้องน้อยไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรง และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังส่วนล่าง เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนหรือปวดศีรษะ จากภาวะดังกล่าวทางการแพทย์แผนไทยมีตำรับยาสมุนไพรที่ผ่านการวิจัย ใช้ในการรักษาอาการปวดประจำเดือนได้ คือ ตำรับยาประสะไพล ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านและเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้รักษากลุ่มอาการทางสูตินารีเวชวิทยา มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน แก้ระดูมาไม่ปกติ จากการศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาวิจัยประสิทธิผลและผลข้างเคียงของสารสกัดตำรับยาประสะไพลเปรียบเทียบกับยา Mefenamic acid ในการลดอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ : การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ตำรับยาประสะไพล มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดประจำเดือนได้จริงเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน สามารถใช้ทดแทนกันได้ และไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ฯลฯ เนื่องจากส่วนประกอบในตำรับยาประสะไพล มีสมุนไพรฤทธิ์ร้อน เช่น เหง้าไพล ดีปลี ผิวมะกรูด พริกไทย กระเทียม ซึ่งช่วยขับลม ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก จึงไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อผู้ใช้ สำหรับวิธีใช้ยาประสะไพล กรณีปวดประจำเดือน รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ระยะเวลา 3 – 5 วัน เมื่อระดูมาให้หยุด หรือรับประทานก่อนมีประจำเดือน 2 – 3 วัน และหยุดยาหลังมีประจำเดือนแล้วสองวัน ห้ามใช้ยาประสะไพลในหญิงตกเลือดหลังคลอด ผู้ที่มีระดูมามากกว่าปกติ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้ สำหรับข้อควรระวัง ให้ระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่มีความผิดปกติของตับหรือไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรจนเกิดพิษได้ หากสงสัยข้อมูลสามารถสอบถามได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ในวันเวลาราชการ โทร. 0-2149-5678, 0-2591-7007 ขอบคุณภาพจาก คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล