ระบุเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ลงพื้นที่ชุมชนแล้วกว่า 400 ครั้งฟังเสียงคนในชุมชน ยืนยันการพัฒนาจะไม่มีผลกระทบทั้งวิถีชีวิต ธุรกิจ อาชีพ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แต่กลับจะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงได้ ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพิ่มพื้นที่สาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เชื่อมโยงโครงข่ายเดินทาง กับระบบรถ ราง เรือ จักรยาน และเดินเท้า ทั้งระบบดูแลความปลอดภัย พร้อมยินดีรับฟังทุกความเห็น จากที่มีเครือข่าย 32 องค์กร คัดค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุมีผลกระทบต่อสาธารณะทางด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม วิศวกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง ทั้งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันกลุ่มเพื่อนแม่น้ำ หรือ FOR ระบุโครงการนี้มีหลายฝ่ายทักท้วง แต่มีความพยายามจะผลักดันโครงการฯ โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและมีการปกปิดข้อมูลผลกระทบต่อแม่น้ำในมิติต่าง ๆ นั้น นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผอ.สำนักการโยธา รักษาราชการแทนผอ.สำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า การดำเนินโครงการเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีที่มาจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างทั่วถึง โดยพื้นที่ริมแม่น้ำกว่าร้อยละ 90 ถูกครอบครองโดยร้านอาหาร โรงแรม บางจุดเป็นแหล่งเสื่อมโทรม มีการบุกรุกและปลูกสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมาย ทั้งที่เป็นที่สาธารณะที่ทุกคนควรได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนกรณีที่สมัชชาแม่น้ำ ระบุโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยายังขาดการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางและขาดการเปิดเผยข้อมูลนั้น กทม.เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน ด้วยการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนมากกว่า 400 ครั้ง และเผยแพร่ข้อมูลโครงการผ่านสื่อต่างๆ พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่ได้รับมาประกอบการดำเนินโครงการและพิจารณาปรับแก้แผนแม่บทและรูปแบบโครงการให้เหมาะสมกับศักยภาพในการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ รวมถึงสอดคล้องกับแผนพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รองผอ.สำนักการโยธากล่าวว่า สำหรับเรื่องผลกระทบต่อแม่น้ำในมิติต่าง ๆ ทั้งระบบนิเวศ วิถีชีวิต อัตลักษณ์ การไหลของแม่น้ำ กทม. ได้พิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบด้านและเป็นไปตามหลักวิชาการแล้วว่า การพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อวิถีชีวิต การประกอบธุรกิจ อาชีพ การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม แต่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแม่น้ำได้อย่างสะดวกมากขึ้น เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น ทั้งยังเพิ่มพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวริมแม่น้ำ รวมทั้งสามารถใช้ระบบโครงข่ายของทางเดินริมแม่น้ำเชื่อมต่อการสัญจรกับระบบ รถ ราง เรือ จักรยาน และคนเดินเท้า ขณะที่รูปแบบทางเดินและทางจักรยาน จะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.25 เมตร ต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมปัจจุบันประมาณ 1 เมตร จึงไม่บดบังทัศนียภาพสิ่งก่อสร้างริมน้ำ ไม่บดบังภูมิทัศน์และวัฒนธรรมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขนาดเสาเข็ม เมื่อเทียบกับความกว้างเฉลี่ยของแม่น้ำเจ้าพระยา ความกว้างแม่น้ำลดลงประมาณร้อยละ 1 ดังนั้น เสาทางเดินจะไม่กระทบต่อการไหลของน้ำ นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงระบบการขนส่งทางน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบการเดินเรือทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงจัดให้มีระบบป้องกันมิให้รถจักรยานยนต์และหาบเร่แผงลอยเข้ามาในบริเวณทางเดินริมแม่น้ำ มีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ไฟฟ้าแสงสว่าง การตรวจตราสอดส่อง ทั้งจัดให้มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและดูแลความปลอดภัย จะเห็นได้ว่า กทม. มีกระบวนการดำเนินงานและศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ ตลอดจนพิจารณาวางแนวทางแก้ไขข้อกังวลและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนและรอบด้าน โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม กทม. ยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อกังวลจากทุกภาคส่วน โดยสามารถให้ข้อคิดเห็นผ่านช่องทาง Line @อัศวินคลายทุกข์ หรือสายด่วน กทม. 1555