โดย ตู้ เสียง และ กัว เสี่ยวอู่
อักษรจีน เรียกว่า “ฮั่นจื้อ” หรือ “จงเหวิน” “จงกั๋วจื้อ” “ฟางไขว้ฮั่นจื้อ” เป็นระบบเครื่องหมายบันทึกภาษาจีน เป็นขุมทรัพย์อันล้ำค่าแห่งวัฒนธรรมหลายพันปีของประชาชาติจีน ปัจจุบัน อักษรจีนเป็นอักษรที่มีจำนวนประชากรใช้มากที่สุดในโลก ตามสถิติปรากฏว่า จำนวนคนที่ใช้อักษรจีนและภาษาจีนมีมากกว่า 1,600 ล้านคน
1. ต้นกำเนิดของอักษรจีนและกฎในการสร้างอักษร
ในยุคดึกดำบรรพ์เมื่อหลายหมื่นปีก่อน มนุษย์ดึกดำบรรพ์ได้เรียนรู้การใช้ภาษาสื่อความหมาย แต่บางสิ่งบางอย่างยากที่จะแสดงออกด้วยภาษาหรือการโบกไม้โบกมือได้ จึงมีคนคิดค้นวิธีการแสดงความหมายด้วยรูปภาพออกมา ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “ดวงตะวัน” ก็วาดรูปทรงวงกลม อักษรเหมือนภาพที่เก่าแก่ที่สุดจึงถือกำเนิดขึ้น ในอักษร “เจี่ยกู่เหวิน” (อักษรที่แกะสลักบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์) ตัวอักษร “自” มีรูปเหมือนจมูกคน โดยมีดั้งจมูกอยู่ตรงกลาง และมีรูจมูกอยู่สองข้าง เพราะว่าผู้คนจะแสดงความหมายตัวเอง มักจะยกมือชี้ไปที่จมูกของตนเอง อีกอย่างเช่น “ดวงอาทิตย์” “ดวงจันทร์” “ภูเขา” และ “แม่น้ำ” เป็นต้น ล้วนเป็นอักษรเหมือนภาพที่วาดรูปทรงของสิ่งของ
เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่ต้องบันทึกด้วยอักษรนับวันเพิ่มมากขึ้น ผู้คนจึงย่ออักษรเหมือนภาพบ้าง และประสมอักษรเหมือนภาพบางตัวเพื่อสร้างตัวอักษรใหม่ คนโบราณพบมานานแล้วว่า จมูกสุนัขมีความไวต่อกลิ่นมาก จึงนำตัวอักษร “自” (จมูก) กับตัวอักษร “犬” (สุนัข) ประกอบกันเป็นตัวอักษร “臭” หมายถึง กลิ่น นำตัวอักษร “人” (คน) กับตัวอักษร “木” (ต้นไม้) ประกอบกันเป็นตัวอักษร “休” หมายถึง คนๆ หนึ่งพิงโคนต้นไม้หลับพักผ่อน ยังมีตัวอักษร “木” (ต้นไม้) สองตัวประกอบกันเป็นตัวอักษร “林” (ป่าไม้) ตัวอักษร “火” (ไฟ) สองตัวประกอบกันเป็นตัวอักษร “炎” (ร้อนจัด) อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็ได้สร้างตัวอักษรอีกมากมาย ก่อรูปขึ้นเป็นรูปแบบใหม่ของอักษรจีน ---- อักษรรวมความหมาย
เพื่อเสริมส่วนบกพร่องของอักษรเหมือนภาพและอักษรรวมความหมายที่ไม่มีส่วนบอกการอ่านออกเสียง ต่อมาจึงเกิดอักษรแบบที่บอกทั้งความหมายและการอ่านออกเสียง อักษรประเภทนี้มีส่วนประกอบสองส่วนคือ ส่วนตัวข้างที่เป็นเครื่องหมายแสดงความหมาย และมีอีกส่วนหนึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงจำพวกเสียง สองส่วนประกอบกันเป็นตัวอักษรใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ตัวอักษร “洞” (ถ้ำ) “桐” (ต้นไม้ชนิดหนึ่ง) “铜”(ทองแดง) “筒” (กระบอกไผ่) เป็นต้น โดยมีตัวข้าง “氵”(น้ำ) “木”(ไม้) “金”(โลหะ) “竹”(ไม้ไผ่) ที่แสดงความหมายตามลำดับ และมีส่วนที่บอกการอ่านออกเสียงคือ “同” อักษรแบบที่บอกความหมายและเสียง เป็นรูปแบบที่สร้างตัวอักษรจำนวนมากที่สุด อักษรจีนจึงวิวัฒนาการจากตัวอักษรเหมือนภาพ มาเป็นอักษรแบบที่ทั้งบอกความหมายและการอ่านออกเสียงด้วย
การกำเนิดของอักษรจีนตั้งแต่เมื่อไรยังยากที่จะบอกได้แน่นอน อักษรที่โบราณที่สุดเท่าที่พบเห็นในทุกวันนี้คือ ตัวอักษร “เจี่ยกู่เหวิน” ที่ขุดพบจากโบราณสถานยินซวี เมืองอันหยัง มณฑลเหอหนานของจีน สมัยราชวงศ์ยินซาง การที่ได้ชื่อว่า “เจี่ยกู่เหวิน” เพราะว่าตัวอักษรเหล่านี้แกะสลักบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการทำนายในช่วง 270 ปีนับตั้งแต่ระยะหลังของราชวงศ์ซางที่พระเจ้าผานเกิงย้ายราชธาณีไปอยู่ยินไปจนถึงพระเจ้าโจ้ว ซึ่งห่างจากปัจจุบันนี้ประมาณ 3,400 ปี คนจีนในสมัยนั้นสามารถบันทึกภาษาอย่างสมบูรณ์ได้แล้ว จากนั้นคาดหมายได้ว่า ยุคที่อักษรจีนก่อรูปขึ้นในขั้นแรกๆ น่าจะก่อนราชวงศ์ซางอีกไกล อักษร “เจี่ยกู่เหวิน” ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่ “บันทึกรายชื่อความทรงจำโลก” เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
“ตำนานช้างจี๋สร้างอักษร” เป็นตำนานที่เล่าลือกันมากในยุคจั้นกั๋ว (พ.ศ.140 - 322) ในบทประพันธ์ช่วงหลังของยุคจั้นกั๋วเรื่อง “หลวี่ซื่อชุนชิว” (บันทึกตามปีของตระกูลหลวี่) ก็มีบันทึกเรื่อง “ช้างจี๋สร้างตัวหนังสือ” ระบบอักษรจีนสร้างขึ้นจากการค้นคว้าเป็นเวลายาวนาน การทดลองใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า และการเสริมสร้างสมบูรณ์ขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยประชาชน ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่งสามารถสร้างขึ้นเองได้อย่างไรก็ตาม ในตอนเริ่มต้นของวิวัฒนาการอักษรจีน มีความเป็นไปได้มากที่มีบุคคลอย่างช้างจี๋ที่ได้เคยทำงานรวบรวมตัวอักษรและจัดให้มีระเบียบมาตรฐาน
หลายสิบปีหลังๆ นี้ วงการโบราณคดีของจีนได้ประกาศข้อมูลจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการขุดพบโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของอักษรจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเก่าแก่กว่าอักษร “เจี่ยกู่เหวิน” ด้วยซ้ำ เครื่องหมายที่แกะสลักบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ที่ค้นพบในโบราณสถานเผยหลี่กาง ทางตะวันออกของหมู่บ้านเจี่ยหู อำเภออู่หยัง มณฑลเหอหนาน เมื่อปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ.2530) ห่างจากปัจจุบันนี้ถึง 8,000 ปี ซึ่งเครื่องหมายเหล่านี้ประกอบด้วยหลายขีด น่าจะเป็นผู้แกะสลักตั้งใจสลักไว้ อักษรเก่าแก่ที่สุดที่ยอมรับกันในโลกปัจจุบัน เป็นอักษรรูปลิ่ม (Cuneiform) ที่ขุดพบในภูมิภาคตะวันออกกลาง ห่างจากปัจจุบันนี้ 5,000-6,000 ปี ถ้าหากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเครื่องหมายการแกะสลักที่ค้นพบจากหมู่บ้านเจี่ยหูเป็นตัวอักษรได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่จะเป็นอักษรที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติในทุกวันนี้
2. วิวัฒนาการของรูปแบบและศิลปะการคัดลายมือ
อักษรจินเหวิน (อักษรโลหะ) หมายถึง ตัวหนังสือที่หล่อหรือแกะสลักไว้บนเครื่องสัมฤทธิ์ โดยทั่วไปหมายถึง ตัวหนังสือบนเครื่องสัมฤทธิ์สมัยราชวงศ์ยินซาง ราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่นเฉพาะ ซึ่งเป็นตัวหนังสือระบบเดียวกันกับอักษร “เจี่ยกู่เหวิน” อักษรจินเหวินมีขีดที่หนาและกว้าง จุดแต้มกลมทรงพลัง ตัวหนังสือสง่างาม เป็นบรรทัดฐานมากกว่าอักษร “เจี่ยกู่เหวิน” โครงสร้างเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่า
หลังจากรัฐฉินยึดครองอีก 6 รัฐ รวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่น ฉินสื่อหวง (จิ๋นซีฮ่องเต้) ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าให้หลี่ ซือ อัครมหาเสนาบดี รวบรวมอักษรจีนให้เป็นเอกภาพ อักษรเสี่ยวจ้วน (อักษรกลมหมุน) เป็นตัวหนังสือที่ใช้กันแพร่หลายหลังจากรัฐฉินรวมแผ่นดินจีนเข้าด้วยกัน ซึ่งยึดถือตัวอักษรของรัฐฉินเป็นพื้นฐาน โดยอ้างอิงตัวอักษรของบรรดารัฐอื่นๆ ด้วย นับเป็นแบบเขียนบรรทัดฐานรุ่นแรกสุดในประวัติศาสตร์ศิลปะการคัดลายมือจีน อักษรเสี่ยวจ้วนมีขีดกลมโค้งหมุน ถึงแม้ได้รักษาลักษณะของอักษรเหมือนภาพในระดับหนึ่งก็ตาม แต่มีลักษณะความเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อักษรเสี่ยวจ้วนไม่สะดวกในการเขียน ชาวบ้านจึงนิยมแบบเขียนที่ค่อนข้างเรียบง่ายชนิดหนึ่งคือ อักษรลี่ซู ซึ่งมีรูปตัวอักษรแบนเรียบ โครงสร้างตัวอักษรมีมุมหักที่คม ขีดมีหนามีบาง ก่อรูปเป็นแบบคลื่นและแบบตวัดยกขึ้น อักษรลี่ซูเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของอักษรจีน เป็นเส้นแบ่งแยกของอักษรโบราณกับอักษรปัจจุบัน ซึ่งได้เปลี่ยนวิธีการเขียนและแนวโน้มสุนทรียะของอักษรจีน และเป็นการปูพื้นฐานแก่การเกิดขึ้นของศิลปะการคัดลายมืออักษรข่ายซู (ตัวบรรจง)
ช่วงหลังของราชวงศ์ฮั่น อักษรลี่ซูวิวัฒนาการเป็นอักษรข่ายซู ซึ่งเปลี่ยนแบบคลื่นและวิธีการตวัดของอักษรลี่ซูเป็นขีดลากตวัดที่แน่นอน รูปทรงตัวหนังสือจึงเป็นสี่เหลี่ยมเรียบตรงมากขึ้น ซึ่งเขียนง่ายขึ้น ที่อยู่ควบคู่กับอักษรข่ายซู ยังมีอักษรเฉ่าซู (อักษรหวัด) และอักษรสิงซู (อักษรหวัดเล็กน้อย) ลักษณะของอักษรเฉ่าซูคือ ลายขีดเชื่อมต่อกัน โครงสร้างตัวอักษรเรียบง่าย มีพลังต่อเนื่องกัน รูปแบบไม่จำกัด ส่วนอักษรสิงซูเป็นแบบอักษรที่ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเสริมในส่วนของอักษรข่ายซูที่เขียนช้ามากและอักษรเฉ่าซูที่เขียนหวัดเกินไปจนยากที่จะอ่านออก ในกระบวนการวิวัฒนาการหลายพันปีของอักษรจีน อักษรเจี่ยกู่เหวิน อักษรจินเหวิน อักษรจ้วนซู อักษรลี่ซู อักษรเฉ่าซู อักษรข่ายซู และอักษรสิงซู รูปแบบการเขียน 7 รูปแบบนี้ เรียกรวมกันว่า “ 7 แบบเขียนอักษรจีน” ซึ่งเปี่ยมด้วยสุนทรียะทางรูปแบบที่สมดุลและสมมาตรอย่างเข้มข้น
ยกตัวอย่างอักษรจีน “車” กับ “馬” ใน 7 แบบเขียนอักษรจีน (เจี่ยกู่เหวิน / จินเหวิน / จ้วนซู / ลี่ซู / เฉ่าซู / ข่ายซู / สิงซู)
ในประวัติศาสตร์ ระบบอักษรที่เก่าแก่กว่าอักษรจีน ยังมีอักษรเหมือนภาพของอียิปต์โบราณ อักษรคิวนีฟอร์ม (Cuneiform) ของชาวซูเมเรียนส์ (Sumerians) โบราณ เป็นต้น ซึ่งอักษรเหล่านั้นต่างไม่ได้ใช้อีกแล้ว มีแต่อักษรจีนที่สืบทอดจนถึงทุกวันนี้ในฐานะระบบอักษรที่มีแหล่งกำเนิดเอง ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นพลังชีวิตที่มหัศจรรย์
ในสมัยตั้งแต่ยุคจั้นกั๋วถึงยุคราชวงศ์เว่ยและราชวงศ์จิ้น (ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์กาล – ศตวรรษที่ 5 ตามคริสต์กาล) วัสดุหลักสำหรับการเขียนตัวหนังสือจีนคือ แผ่นไม้ไผ่หรือแผ่นไม้ที่แคบๆ ยาวๆ ซึ่งเรียกว่า เจี่ยนซู (ตัวหนังสือบนแผ่นไม้ไผ่) และมีการใช้ผ้าไหมมาเขียนด้วย เรียกว่า โป๋ซู (ตัวหนังสือบนผ้าไหม) ทั้งสองอย่างเรียกรวมกันว่า หนังสือเจี่ยนโป๋ (ตัวหนังสือบนแผ่นไม้ไผ่หรือบนผ้าไหม)
นักเขียนอักษรวิจิตรสมัยโบราณของจีน เวลาเขียนอักษรข่ายซู ได้สร้างแบบเขียนที่มีลีลาลักษณะของตัวบุคคล โดยมีนักเขียนอักษรวิจิตรที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน อย่างเช่น หวัง ซีจือ โอวหยัง สวิน หยัน เจินชิง หลิ่ว กงฉวน และจ้าว จี๋ (พระเจ้าฮุยจงฮ่องเต้ราชวงศ์ซุ่ง) เป็นต้น แบบลายมือที่พวกเขาสร้างขึ้นมา เป็นแบบฉบับในการหัดคัดลายมือพู่กันของผู้เรียนหนังสือของจีนตลอดมา เพื่อผลักดันการสืบสานและพัฒนาวัฒนธรรมดั้งเดิมของประชาชาติจีน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนได้คัดเลือกผลงานดีเด่นของนักเขียนอักษรวิจิตรชื่อดังยุคต่างๆ จำนวน 100 ชิ้น พัฒนาเป็นคลังแบบเขียนในระบบคอมพิวเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น ในคลังแบบเขียนอักษรสิงซูของหวัง ซีจือ นักเขียนอักษรวิจิตรที่ได้ฉายาว่า “ซูเซิ่ง” ปราชญ์ทางศิลปะการคัดลายมือ จะมีผลงานการคัดลายมือเรื่อง “เซิ่งเจี้ยวซวี่” เป็นแบบฉบับหลัก และได้รวบรวมแบบเขียนอักษรสิงซูชนิดต่างๆ จากศิลาจารึกที่มีอยู่ในโลกของหวัง ซีจือ มาเป็นที่อ้างอิง
3. การย่ออักษรจีนกับการสืบสานวัฒนธรรม
พจนานุกรมที่โด่งดังที่สุดของจีนคือ “ซัวเหวินเจี่ยจื้อ” (อธิบายคำแกะรอยตัวอักษร) ที่นายสวี่ เซิ่น คนสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเขียนในศตวรรษที่ 2 ตามตริสต์กาล เป็นพจนานุกรมเล่มแรกของจีนที่วิเคราะห์แบบเขียนและศึกษาค้นคว้าต้นกำเนิดอักษรจีนอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้บรรยายสรุปกระบวนการวิวัฒนาการของอักษรจีนตั้งแต่ต้นกำเนิดจนถึงก่อนราชวงศ์ฮั่นตะวันออกอย่างเป็นระบบ พจนานุกรมเล่มนี้รวบรวมตัวข้างจำนวน 540 ตัว ริเริ่มวิธีการเรียบเรียงตามลำดับตัวข้างที่ใช้จนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ ได้รวบรวมตัวอักษรจีน 9,353 ตัว และ “ฉงเหวิน” (ตัวอักษรที่พ้องเสียงและพ้องความหมายแต่เขียนต่างกัน) อีก 1,163 ตัว รวมทั้งหมดมีจำนวน 10,516 ตัว “พจนานุกรมคางซี” สมัยราชวงศ์ชิงรวบรวมตัวอักษร 47,035 ตัว “จงหัวจื้อไห่” ยุคปัจจุบันรวบรวมตัวอักษร 85,568 ตัว ซึ่งนับเป็นพจนานุกรมที่รวบรวมตัวอักษรจำนวนมากที่สุดในปัจจุบัน
อักษรจีนขึ้นชื่อด้วยประวัติศาสตร์ช้านาน และขึ้นชื่อด้วยความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งทั้งสองอย่างมีความสัมพันธ์เชิงเป็นเหตุเป็นผลในระดับหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ อักษรจีนได้ประสบกับกระบวนการย่อตลอดมา อักษรจีนบางตัวเนื่องจากโครงสร้างสลับซับซ้อนมากเกินไป กระทั่งมีวิธีการเขียนมากมายที่แตกต่างกัน ซึ่งเรียนรู้ยาก เขียนยาก และจำยาก นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้ผลักดันการย่ออักษรจีนขนาดใหญ่ หลังจากสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใหม่ๆ มีการจัดตั้งสมาคมปฏิรูปตัวอักษรจีนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) การปฏิรูปอักษรจีนเชิงระบบ (รวมทั้งการย่อตัวอักษรจีน การจัดระเบียบตัวอักษรพ้องเสียงพ้องความหมายที่เขียนต่างกัน และการกำหนดมาตรฐานการอ่านออกเสียง เป็นต้น) จึงเข้าสู่วาระ เดือนธันวาคม ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) พจนานุกรม“ซินหัวจื้อเตี่ยน” เริ่มจัดพิมพ์และวางตลาด การตั้งชื่อด้วยคำว่า “ซินหัว” (จีนใหม่) ก็เพื่อให้พจนานุกรมเล่มนี้แบกหน้าที่กำหนดเกณฑ์มาตรฐานภาษาจีนสมัยใหม่ และขจัดความไม่รู้หนังสือ วันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) คณะรัฐมนตรีจีนได้ลงมติผ่านและประกาศ “แผนการย่ออักษรจีน” โดยอ้างอิงอักษรสิงซูและอักษรเฉ่าซู เพื่อลดลงจำนวนขีดของตัวอักษรจีน ยกตัวอย่างเช่น ตัวอักษรเต็ม “漢” ย่อเป็น “汉” ตัวอักษรเต็ม “複”กับ“復” รวมตัวกันเป็น “复” เป็นต้น
ถึงแม้ว่าอักษรจีนจะยุ่งยากมากสำหรับผู้ที่เริ่มเรียน แต่ก็มีข้อดีที่โดดเด่น ตัวอักษรจีนตัวหนึ่ง โดยทั่วไปสอดคล้องกับพยางค์หนึ่งในคำภาษาจีน และมีความหมายของคำหนึ่งหรือหน่วยคำหนึ่ง จึงมีลักษณะ “ตัวหนังสือ-พยางค์-หน่วยคำ” อย่างชัดเจน อักษรจีนมีความสามารถมากในการจัดกลุ่มคำ ถ้าเรียนรู้ตัวอักษรที่ใช้ประจำประมาณ 3,000 ตัว ก็จะอ่านหนังสือและหนังสือพิมพ์ทั่วไปรู้เรื่อง พยางค์เป็นระเบียบเรียบร้อย 4 เสียงวรรณยุกต์มีสุนทรียะสูงๆ ต่ำๆ ของดนตรี วรรณกรรมคลาสสิกของจีนจึงมีความหลากหลายมากมาย ดังเช่น ฉู่ฉือ (กลอนแคว้นฉู่) ฮั่นฟู่ (ร้อยแก้วราชวงศ์ฮั่น) ถังซือ (บทกวีราชวงศ์ถัง) ซ่งฉือ (กลอนเนื้อเพลงราชวงศ์ซ่ง) และหยวนฉวี่ (เพลงงิ้วราชวงศ์หยวน) เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นที่รู้จักกันดีของชาวจีน ความแตกต่างระหว่างภาษาถิ่นจากพื้นที่ต่างๆ ของจีน มากกว่าความแตกต่างระหว่างภาษาอิตาลี ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส และภาษาโรมาเนีย ของยุโรป แต่ภาษาถิ่นเหล่านี้ล้วนใช้อักษรจีนเป็นระบบการเขียนที่เหมือนกัน ตัวอักษรจีนจึงก้าวข้ามข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาเอกภาพของประเทศ สืบทอดวัฒนธรรม และเผยแพร่อารยธรรมประชาชาติจีน
ก่อนศตวรรษที่ 20 อักษรจีนยังเป็นอักษรมาตรฐานของทางการประเทศญี่ปุ่น คาบสมุทรเกาหลี เวียดนาม และหมู่เกาะรีวกีว เป็นต้น หลังจากอารยธรรมตะวันตกในยุคใกล้เข้าสู่เอเชียตะวันออกแล้ว ประเทศต่างๆ ในวงวัฒนธรรมอักษรจีนทั้งวงพากันก่อกระแสความคิดที่เรียนจากฝ่ายตะวันตก อักษรจีนที่มีความยุ่งยากในการเขียน จึงถูกมองว่าเป็นคอขวดที่จำกัดการศึกษาและการพัฒนาความเป็นแบบสารสนเทศ มีบางคนเสนอให้ปรับเปลี่ยนอักษรจีนเป็นแบบอักษรละติน” กระทั่งเลิกใช้อักษรจีน และนำไปปฏิบัติ หลังทศวรรษปี 1980 จีนได้วิจัยและพัฒนาคลังอักษรจีนและระบบพินยิน (ระบบในการถอดเสียงภาษาจีนมาตรฐานด้วยตัวอักษรละติน)ที่เข้าชุดกัน กับ “อู๋บี่จื้อสิง” (วิธีการพิมพ์ตัวอักษรจีนลงในคอมพิวเตอร์) เป็นต้น คำพูดที่ว่า “อักษรจีนล้าหลัง” และ “การปรับเปลี่ยนอักษรจีนให้เป็นอักษรละติน” จึงถูกทอดทิ้งอย่างมีขั้นตอน
ปัจจุบัน ในเขตพื้นที่ที่ใช้ภาษาจีน ส่วนใหญ่ใช้ตัวอักษรจีนมาตรฐานสองแบบ คือตัวเต็มกับตัวย่อ โดยตัวเต็มใช้ในวงชาวจีนที่ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า และอเมริกาเหนือ ตัวย่อใช้ที่แผ่นดินใหญ่ของจีน สิงคโปร์ และชุมชนชาวจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ระบบการเขียนตัวอักษรจีนทั้งสองแบบแม้จะมีความต่าง แต่ความต่างของตัวอักษรจีนที่ใช้ประจำมีไม่ถึง 25% เนื่องจากอักษรจีนไม่ว่าตัวย่อหรือตัวเต็มมีแหล่งกำเนิดเดียวกันทางประวัติศาสตร์ การติดต่อสื่อสารกันระหว่างตัวย่อกับตัวเต็มจึงมีอุปสรรคไม่มากนัก ขีดที่เรียบง่ายต่างๆ ของอักษรจีน ซึ่งรวมถึงเหิง (ขีดขวาง) ซู่ (ขีดตั้ง) เผี่ย (ขีดลากโค้งซ้าย) น่า (ขีดลากโค้งขวา) ได้ซึมซับเข้าไปในสายเลือดของชาวจีนทุกคนแล้ว จนกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมประชาชาติจีน และสายเชื่อมที่ผูกวิญญาณประชาชาติจีน ชาวจีนที่หาเลี้ยงชีพที่ต่างแดน ไม่ว่าเดินทางไปถึงไหน ขอให้เห็นอักษรสี่เหลี่ยมเท่านั้น ก็จะมีความรู้สึกใกล้ชิด และบำรุงขวัญให้มีกำลังใจ
ต้นกำเนิดของอักษรจีนอาจารย์ฟาน จูน แปล
อักษรจีน เรียกว่า “ฮั่นจื้อ” หรือ “จงเหวิน” “จงกั๋วจื้อ” “ฟางไขว้ฮั่นจื้อ” เป็นระบบเครื่องหมายบันทึกภาษาจีน อักษรจีนที่ใช้บ่อยในปัจจุบันมีประมาณ 10,000 ตัว อักษรจีนพื้นฐานมีประมาณ 4,000 ตัว ส่วนประกอบโครงสร้างพื้นฐานของอักษรจีนมีประมาณ 600 ตัว ส่วนประกอบที่เป็นตัวข้างในพจนานุกรมมีประมาณ 200 ตัว ตัวข้างเป็นส่วนประกอบอันดับแรกที่เรียงลำดับเพื่อการค้นหาตัวอักษรจีนในพจนานุกรม ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “汉” มีส่วนประกอบ “氵” กับ “又” สองส่วน โดย “氵” เป็นตัวข้าง (ส่วนนี้แปรรูปมาจากคำว่า “水” คือ น้ำ) คำว่า “字” มีส่วนประกอบ “宀” กับ “子” สองส่วน โดย “宀” เป็นตัวข้าง ตัวอักษรจีนที่ง่ายๆ มีส่วนประกอบได้เพียงส่วนเดียว (โดยทั่วไปตัวอักษรเองก็เป็นตัวข้างด้วย) ยกตัวอย่างเช่น อักษร “口” ที่หมายถึงปาก อักษรที่ยากๆ แบ่งได้เป็นหลายชั้น ก็อาจมีส่วนประกอบหลายส่วน ยกตัวอย่างเช่น อักษร “齉” ที่หมายถึงอาการคัดจมูก มีทั้งหมด 36 ขีดทีเดียว โดยส่วนประกอบข้างซ้ายคือ “鼻” ส่วนประกอบข้างขวาคือ “囊” และอักษร “鼻” เอง ยังสามารถแบ่งเป็นส่วนประกอบได้อีกคือ “自” กับ “畀” สองส่วน วิเคราะห์อักษร “畀” แบ่งได้เป็นส่วนประกอบ “田” กับ “丌” อีกสองส่วน ถ้าวิเคราะห์อักษร “囊” จะสลับซับซ้อนยิ่งกว่า โดยจะมีส่วนประกอบบางส่วนที่ไม่ใช่อักษรเดี่ยวๆ แล้ว แต่กลับเป็นเพียงเครื่องหมายรูปทรงเท่านั้น
เนื่องจากอักษรจีนบางตัวมีโครงสร้างสลับซับซ้อนเกินไป และมีแบบเขียนแตกต่างกันหลายแบบ จึงเรียนรู้ยาก เขียนยาก และจำยาก ไม่สะดวกแก่การเรียนการสอนและการแลกเปลี่ยน ดังนั้น จึงมีการปฏิรูปอักษรจีนอย่างเป็นระบบในตอนที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใหม่ๆ ซึ่งรวมทั้งการย่ออักษรจีนให้ง่ายขึ้น การจัดระเบียบอักษรจีนที่มีแบบเขียนหลายแบบ และการกำหนดมาตรฐานการอ่านออกเสียง ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “汉” เป็นอักษรตัวย่อ อักษรตัวเต็มเดิมเป็น “漢” อักษร “复” เป็นอักษรตัวย่อเช่นกัน แต่ก่อนเขียนเป็น “複” หรือ “復” เป็นต้น
อักษรจีนขึ้นชื่อว่ามีประวัติศาสตร์มาช้านานมาก และขึ้นชื่อว่ายุ่งยากสลับซับซ้อนมาก แต่ทั้งสองอย่างมีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุในระดับหนึ่ง การเรียงลำดับกระบวนการวิวัฒนาการของอักษรจีนที่ช้านานให้ถูกต้อง จะมีความหมายสำคัญต่อการศึกษาคุณลักษณะของอักษรจีน แล้วเข้าใจลักษณะของภาษาจีน และลักษณะของวัฒนธรรมชนชาติจีน
อักษรจีนตัวหนึ่ง โดยทั่วไปจะเป็นพยางค์หนึ่งของคำภาษาจีน โดยแสดงความหมายของคำๆ หนึ่งหรือหน่วยคำ (หน่วยภาษา) หน่วยหนึ่ง จึงมีคุณลักษณะ “ตัวอักษร-พยางค์-หน่วยคำ” อย่างชัดเจน ระบบศัพท์ของภาษาจีนโบราณมีคำพยางค์เดียวเป็นหลัก ดังนั้น คำพูดกับอักษรเขียนจะตรงกัน หลังจากวิวัฒนาการเป็นภาษาจีนสมัยใหม่และภาษาจีนยุคปัจจุบันแล้ว ถึงแม้ว่ามีคำสองพยางค์และคำหลายพยางค์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วมาก แต่หน่วยคำพยางค์เดียวยังคงมีรูปลักษณ์โครงสร้างหน่วยอย่างเด่นชัด เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์พ้องความหมายระหว่างอักษรกับคำก็ยังคงได้รับการรักษาไว้อย่างเต็มที่
************************
插图ภาพประกอบ
仓颉ช้างจี๋ ผู้ประดิษฐ์คิดค้นอักษรจีน
贾湖契刻符号เครื่องหมายแกะสลักที่ค้นพบในหมู่บ้านเจี่ยหู
汉字七体代表性作品 ผลงานตัวแทนของ 7 แบบเขียนอักษรจีน
历代书法家代表性作品ผลงานตัวแทนของนักเขียนอักษรวิจิตรราชวงศ์ต่างๆ
《说文解字》书影 ภาพพจนานุกรมเรื่อง “ซัวเหวินเจี่ยจื้อ”
唐人街汉字招牌照片 ภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนที่ไชน่าทาวน์
*******************
เขียน โดย
ตู้ เสียง (1971---) นักวิจัยสถาบันวิจัยภาษา สภาวิทยาศาสตร์สังคมแห่งประเทศจีน ผู้อำนวยการสำนักงานบรรณาธิการพจนานุกรม
กัว เสี่ยอู่ (1960---) นักวิจัยสถาบันวิจัยภาษา สภาวิทยาศาสตร์สังคมแห่งประเทศจีน ผู้เชี่ยมชาญอักษรศาสตร์ (ลูกศิษย์ปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายหู โห้วซวน นักอักษรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณชื่อดัง)
แปล โดย อาจารย์ฟาน จูน
*******************