หลายครั้งที่เราได้ยินการพูดถึง “กิจกรรมทางอวกาศ” หลายคนยังคงสงสัยว่ามันคืออะไร ทำไมต้องมีกิจกรรมนี้ และเกี่ยวข้องกับเราหรือไม่ อย่างไร มีอันตรายหรือเปล่า การแจ้งเตือนเพื่อเฝ้าระวังทำให้เราย้อนกลับมามองถึงภัยใกล้ตัวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นเราจึงต้องรับรู้และเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ไว้ เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต นายบุญชุบ บุ้งทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า และประธานคณะทำงานปฏิบัติการเฝ้าระวังและเผชิญเหตุจากวัตถุอวกาศ เล่าให้ฟังว่า “กิจกรรมทางอวกาศ” มีหลายประเภทและหลากหลายรูปแบบ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกิจกรรมอวกาศในทางสันติ นั่นคือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมและการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร โดยกิจกรรมการปล่อยจรวดส่งดาวเทียมจากฐานยิงจากประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อส่งดาวเทียมสู่อวกาศ ซึ่งเส้นทางที่จรวดนำส่งดาวเทียมพาดผ่านน่านฟ้านั้น อาจจะมีชิ้นส่วนจรวดที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ร่วงหล่นลงมา ทำให้ประเทศต่างๆ ที่อยู่โดยรอบหรือใกล้เคียง จะต้องระมัดระวังและเฝ้าระวังภัยจากวัตถุอวกาศเหล่านี้เป็นพิเศษ โดยจุดที่คาดว่าจะมีชิ้นส่วนตกจะยังไม่สามารถระบุได้แน่นอน แต่จะสามารถคาดการณ์พื้นที่และช่วงวัน เวลาที่จะเกิดเหตุการณ์ ตามเส้นทางที่จรวดพาดผ่านได้ ประเทศที่ดำเนินกิจกรรมอวกาศที่อยู่ใกล้ประเทศไทยของเรา และมีเส้นทางจรวดผ่านน่านฟ้าไทยหรือใกล้เคียงอยู่บ่อยๆ อาทิ จีน อินเดีย ซึ่งการปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศหลัก ๆ มี 2 ประเภท คือส่งดาวเทียมไปที่วงโคจรค้างฟ้า หรือ Geo-stationary Orbit (โคจรในแนวเส้นศูนย์สูตร) และอีกประเภทคือวงโคจรไม่ค้างฟ้า (Non Geo-stationary Orbit) ซึ่งประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นวงโคจรลักษณะสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (โคจรในแนวเหนือใต้) รูปแบบการส่งดาวเทียมทั้ง 2 แบบนี้มีความต่างกัน โดยดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้าจะส่งให้ใกล้เส้นศูนย์สูตร ตัวอย่างเช่น อินเดีย เมื่อส่งดาวเทียมจะยิงจรวดจากฐานมุ่งสู่ทิศตะวันออกเพื่อให้การส่งดาวเทียมเข้าสู่ตำแหน่งได้ง่ายใช้พลังงานน้อย ส่วนดาวเทียมในลักษณะวงโคจรต่ำหรือไม่ใช่วงโคจรค้างฟ้า ซึ่งโคจรในแนวเหนือใต้ ปกติจะมีวิถีการส่งจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ หรือทิศใต้ไปยังทิศเหนือ วิถีการส่งของจรวดประเทศที่กล่าวมาข้างต้นก็จะเป็นไปได้ทั้ง 2 วิธี จึงเป็นไปได้สูงที่จะผ่านและส่งผลกระทบต่อประเทศไทย (หมายเหตุ: กิจกรรมทางอวกาศ ประเภทของดาวเทียม รูปแบบวงโคจรดาวเทียม มีหลากหลาย ในเนื้อหาเป็นการยกตัวอย่างพอสังเขป) ประธานคณะทำงานฯ กล่าวต่ออีกว่า จิสด้า ได้ตั้งคณะทำงานปฏิบัติการเฝ้าระวังและเผชิญเหตุจากวัตถุอวกาศขึ้นมา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน อาทิ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักนโยบายและแผนกลาโหมกระทรวงกลาโหม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย และผู้แทนบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อจัดทำแผนเผชิญเหตุสาธารณภัยจากวัตถุอวกาศ เพื่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะได้นำไปพิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปนี้​ รวมทั้ง ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์กิจกรรมอวกาศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถเผชิญเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ในอนาคตจะมีการส่งดาวเทียมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากการที่ดาวเทียมสื่อสารประเภทดาวเทียมค้างฟ้าซึ่งมีต้นทุนสูงจะลดน้อยลง จะเปลี่ยนมาใช้เป็นกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กวงโคจรต่ำ ซึ่งต้นทุนการดำเนินการจะต่ำกว่า แต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันทดแทน แต่ทั้งนี้ต้องเพิ่มจำนวนของดาวเทียมมากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่บนโลกได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ การส่งดาวเทียมเล็กในวงโคจรต่ำยังมีค่าใช้จ่ายในการส่งดาวเทียมที่ต่ำกว่ามาก โดยเฉพาะดาวเทียมขนาดเล็กที่สามารถส่งได้ครั้งละหลายดวง ตัวอย่างเช่น กลุ่มดาวเทียมสตาร์ลิ้งค์ (Starlink) ของบริษัท SpaceX ได้ลงทะเบียนดาวเทียมกว่า 30,000 ดวง กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU (International Telecommunication Union) โดยระยะ 2-3 ปีนี้ มีแผนจะส่งดาวเทียมจำนวนประมาณ 1,500 ดวงขึ้นสู่วงโคจร โดยจะส่งไปทีละ 60 ดวงพร้อมกัน ซึ่งดาวเทียมเหล่านี้เป็นกลุ่มดาวเทียมสื่อสารวงโคจรต่ำที่ความสูงประมาณ 350-600 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีบริษัทและองค์กรอวกาศของประเทศต่างๆ มีกำหนดส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศอีกหลายพันดวงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดาวเทียมทั้งที่ปฏิบัติการอยู่ในอวกาศขณะนี้ และกำลังทยอยส่งขึ้นไป จำนวนหนึ่งหมดอายุการใช้งานและกำลังจะทยอยตกกลับสู่โลก ดาวเทียมสื่อสารขนาดเล็กจำนวนมากข้างต้น ก็จะหมดอายุและจะทยอยตกกลับสู่โลกเช่นกันในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้ใช้ระบบซอฟต์แวร์ชื่อ ThaiSSA (Space Situation Awareness) ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากระบบบริหารจัดการจราจรทางอากาศ หรือ GISAVIA และระบบวิเคราะห์วงโคจรดาวเทียม หรือ EMERALD เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สถานการณ์เหล่านี้ ทั้งจากการปล่อยส่งจรวดนำส่งดาวเทียม และติดตามการตกของดาวเทียมกลับมาสู่โลก เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า หากพบว่ามีโอกาสที่จะเสี่ยงต่อพื้นที่ประเทศไทย พร้อมทั้งให้ความรู้เพื่อป้องกันไม่ให้ตื่นตระหนกเมื่อต้องเผชิญเหตุ และหากมีวัตถุอวกาศตกลงมาในพื้นที่จริงสิ่งแรกที่จะต้องกระทำคือ ห้ามสัมผัสวัตถุโดยเด็ดขาดเพราะอาจจะมีสารเคมีหรือสารปนเปื้อนตกค้าง และจะต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ปกครอง ตำรวจ หรือผู้นำท้องถิ่น ทราบทันที เพื่อเข้าตรวจสอบและเก็บกู้ต่อไป อย่างเช่นเมื่อปี 2561 ที่สถานีอวกาศเทียนกง-1 กลับสู่โลก เราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคำนวนทิศทางและดูการโคจรของสถานีอวกาศฯ แม้ว่าประเทศไทยจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเพียงแค่ 0.1% การคำนวณพิกัดตกของระบบเราใกล้เคียงกับของต่างชาติ คือ บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการแจ้งเตือนการปล่อยจรวดส่งดาวเทียมพาดผ่านหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปจนถึงกัมพูชาก่อนออกสู่มหาสมุทร ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ทำการวิเคราะห์และประเมินทิศทาง รวมทั้งพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบ และรีบแจ้งเตือนในพื้นที่ล่วงหน้า 2 – 3 วัน เพื่อรับทราบและเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น ประธานคณะทำงานฯ กล่าว