“EPG” รับมือเศรษฐกิจโลกผันผวนจากปัญหาสงครามทางการค้า ปรับแผนธุรกิจขยายตลาด ตกแต่งยานยนต์ป้อนลูกค้าโออีเอ็ม-รายย่อยทั่วไปในแอฟริกาใต้-บริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพเสริมแกร่งเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมโชว์ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 62/63 กำไรสุทธิ 326 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.5%เตรียมจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.10 บาทวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยังคงยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงอาจเกิดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ โดยข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าเศรษฐกิจไทยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ขยายตัว 2.5% คาดว่าทั้งปีจะเติบโตได้ 2.6% จากเดิมคาดการณ์เติบโตไว้ที่ 2.7-3.2% โดย EPG ทำธุรกิจในตลาดโลกจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์เพื่อที่จะสามารถเติบโตได้อย่างเนื่องแม้อยู่ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัจจุบัน EPG มีสัดส่วนรายได้แบ่งเป็น AEROKLAS 48% AEROFLEX 29% และ EPP 23% สำหรับแนวโน้มธุรกิจและทิศทางการเติบโตในช่วงต่อจากนี้ (ต.ค.62-มี.ค.63) ยังคงดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ โดยคาดว่ารายได้จากขายในปี 62/63 เติบโตที่ 5-6% เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจโลก แต่คาดว่าจะรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 28-30% เนื่องจากยังคงได้รับผลบวกจากราคาวัตถุดิบกลุ่มปิโตรเคมีที่ปรับลดลง และการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การเติบโตของ EPG มาจากการสนับสนุนของ 3 ธุรกิจหลักได้แก่ 1.ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ AEROFLEX มุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นต้น ในด้านการผลิตบริษัทจะทยอยลงทุนขยายโรงงานใหม่ในสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างปีหน้า เน้นใช้เครื่องจักรอัตโนมัติความเร็วสูง ขณะที่การลงทุนในประเทศของ AEROFLEX 5 อยู่ระหว่างดำเนินการ ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 6,000 ตัน/ปี ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสขยายตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นเช่น ในกลุ่มประเทศ CLMV และตะวันออกกลาง 2.ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS มุ่งเน้นทำตลาดผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทพื้นปูกระบะ (Bed Liner)/ หลังคาครอบกระบะ (Canopy) และบันไดข้างรถกระบะ (Sidestep) ที่มีความต้องการใช้จากกลุ่มลูกค้าต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ได้แก่ ฝาปิดกระบะ (Roller lid)ออกสู่ตลาดแล้ว และผลิตภัณฑ์อื่นๆจะทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศเห็นว่าการบริโภคในประเทศชะลอตัวลงโดยเฉพาะรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าคงทน ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.62 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขยอดขายรถกระบะในประเทศลดลง 9.6% และยอดส่งออกลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน AEROKLAS เตรียมความพร้อม ปรับกลยุทธ์การลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตทดแทนเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ในทวีปแอฟริกา ซึ่งผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของโลกหลายรายเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจากสามารถจะขยายธุรกิจไปยังทวีปแอฟริกาและเป็นประตูสู่ทวีปยุโรปจากการสนับสนุนของรัฐบาลแอฟริกาใต้ โดย AEROKLAS ได้ลงทุนในกิจการร่วมค้า Aeroklas Duys (Pty) Ltd. ประเทศแอฟริกาใต้ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภท อุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ให้กับลูกค้า OEM และลูกค้ารายย่อยทั่วไปในแอฟริกาใต้ ขณะที่ธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย TJM Products Pty.Ltd (TJM)ได้ทำตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น ในประเทศมาเลเซีย อีกทั้งช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า TJM จะเปิดแฟรนไชน์ในประเทศไทย 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้คนไทยที่ชื่นชอบการตกแต่งรถกระบะ 4WD ได้เลือกใช้สินค้าคุณภาพดีมาตรฐานประเทศออสเตรเลียภายใต้แบรนด์ TJM 3.ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP เร่งทำการตลาดในประเทศมากขึ้นในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่ม ส่วนลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม EPP มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับงานด้วยความพร้อมของกระบวนการผลิตและมาตรฐานความสะอาด ความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ได้รับการรับรองจากองค์กรชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกตามที่ได้ปรับกลยุทธ์ โดยใช้หลักการบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ EPP เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยในปีนี้จะทำการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการสินค้ามาตรฐานสูง และกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่ม นอกจากนี้ EPP สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบประเภท Bio plastic ได้เนื่องจากมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม และมีแผนลงทุนขยายไลน์การผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษเพื่อสามารถให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร รวมถึง มีแผนที่จะขยายตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนของปี 2562/63 (เม.ย.62-ก.ย.62) บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 5,434.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% มีกำไรสุทธิ 541.3 ล้านบาท ลดลง 4.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ไตรมาส 2 ปี 62/63 (ก.ค.62-ก.ย.62)มีรายได้จากการขาย 2,762.5 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 2,682.3 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 30.5% และมีกำไรสุทธิ 326.3 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 262.1 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 24.5% ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานสิ้นสุด 30 ก.ย.62 ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท (สิบสตางค์)รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 280 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 29 พ.ย.62 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 12 ธ.ค.62