กรมศิลป์รุดตรวจสอบยืนยัน กลองสำริดโบราณ อายุราว 1,500 ปีพบข้อมูลเป็นกลองใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ
วันที่ 17 มี.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชินณวุฒิ วิทยาลัย นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี นำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบเก็บรายละเอียด กรณีมีการพบ กลองสำริดโบราณ ในพื้นที่ บ้านคำอ้อม หมู่ 11 ต.นาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม หลังจากนายวิไล ศรีแสน อายุ 52 ปี ชาวบ้านมีติดต่อซื้อดินมาถมที่เพื่อปรับปรุงบ้านใหม่ จนกระทั่งภายหลังพบกลองสำริดโบราณ ติดมากับรถบรรทุกดิน จึงได้มีการนำมาเก็บรักษาไว้ บ้านเลขที่ 161 หมู่ 11 บ้านคำอ้อม ต.นาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม โดย นายจันทา ลาดบาศรี อายุ 60 ปี ผู้ใหญ่บ้านคำอ้อม หมู่ 11 ต.นาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม ได้ นำชาวบ้าน ประกอบพิธี ถวายเครื่องสักการบูชา ดอกไม้ธูปเทียน ตามความเชื่อ เพื่อเป็นการขอพรรับโชคลาภ ซึ่งชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างเดินทางมากราบไหว้ ขอโชคลาภตามความเชื่อไม่ขาดสาย
โดย นายชินณวุฒิ วิทยาลัย นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า หลังทราบข่าว ได้นำเจ้าหน้าที่ นักโบราณคดี มาตรวจสอบเก็บหลักฐาน เบื้องต้นจากการตรวจสอบ พบว่าเป็นกลองสำริดโบราณ ที่มีการสร้างขึ้นจากทองเหลือ ตรวจสอบจากหลักฐานข้อมูลที่เคยขุดค้นพบแล้ว ยืนยันเป็นกลองสำริดโบราณ จำแนกอยู่ในกลุ่มที่ 3 อายุจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 ปี หรือที่เรียกว่า กลองมโหระทึก ซึ่งถือเป็นกลองที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการหล่อในยุคโบราณ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์สำคัญ หรือเป็นกลองที่ใช้เกี่ยวกับการทำพิธีขอฟ้าขอฝน รวมถึงพิธีที่เป็นสิริมงคลต่างๆ โดยจะมีการเขียนลวดลายตามหลักความเชื่อโหราศาสตร์ ที่สำคัญจะมีรูปกบติดอยู่บริเวณหน้ากลอง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเชื่อว่า จะใส่รูปกบ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ตามหลักความเชื่อ เพราะกบจะหมายถึงฤดูฝน รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นความโชคดีของชาวบ้านที่มีการพบของโบราณอายุกว่า 1,000 ปี
จากข้อมูลการค้าพบในภาคอีสาน จะเคยขุดค้นพบประมาณ 4 -5 ใบ ที่ จ.นครพนม เคยมีการขุดค้นพบมาก่อนในพื้นที่ อ.ธาตุพนม และมีการนำไปเก็บรักษาไว้ในวัดพระธาตุพนม ซึ่งที่แหล่งที่มาส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า จะมีการฝังไว้ในยุคการก่อสร้างองค์พระธาตุพนม เนื่องจากผู้มีจิตศรัทธาจะมีการเดินทางนำสิ่งของมีค้า ทรัพย์สินเงินทอง ไปร่วมสร้างองค์พระธาตุพนม แต่ต้องเดินทางด้วยเท้า ใช้เวลาหลายปีหลายเดือน บางคนไม่ถึงต้องล้มหายตายจาก ทำให้มีการฝังสิ่งของเหล่านี้ไว้ และมีการขุดค้นพบหลายจุด สำหรับขั้นตอนการดูแลรักษา ทางสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ที่ดูแลรับผิดชอบ จะได้มีการตรวจสอบบันทึกทำประวัติ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ และให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูและเก็บรักษา ให้ประชาชน ได้มาศึกษาเยี่ยมชม