เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่อาคารสิรินธร สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสภา มร.นม. เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ขนาดใหญ่ของโลก “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” โดยมีนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รอง ผวจ.นครราชสีมา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มร.นม. และผู้รับเชิญพิเศษในฐานะผู้สนับสนุนการอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลและมีความเกี่ยวข้องกับชื่อชนิดใหม่ของไดโนเสาร์ ประกอบด้วย ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ Prof. Dr. Yoichi Azuma ผู้อำนวยการพิเศษพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ร่วมนำเสนอข้อมูลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ให้ผู้สนใจกว่า 100 คน รับฟังและเปิดโอกาสให้ซักถาม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเมือง ผอ.สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน ฯ เปิดเผยว่า สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ หรือ Siamraptor suwati ค้นพบจากแหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตั้งชื่อสกุลตามชื่อเดิมของประเทศไทย (สยาม) อันหมายรวมถึง “นักล่าแห่งสยาม” และตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฯ และนายกสภา มร.นม. ที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ถึง 25 ปี สยามแรปเตอร์ มาจากการศึกษาค้นคว้า คาดมีจำนวน 4 ตัว ที่ออกหากินในพื้นที่แห่งนี้ โดยอ้างอิงจากฟอสซิลรวมทั้งสิ้น 22 ชิ้น ประกอบด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกขากรรไกรบน-ล่าง กระดูกคอ กระดูกหลัง กระดูกหาง กระดูกสะโพก กระดูกขาหลัง กรงเล็บ กระดูกนิ้วเท้า ฟอสซิลดังกล่าว คาดมาจาก สยามแรปเตอร์ไม่ต่ำกว่า 4 ตัว สยามแรปเตอร์ จัดเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่และชนิดใหม่ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่มีการศึกษามา มีขนาดยาวไม่ต่ำกว่า 8 เมตร ทั้งนี้คำนวณจากชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรล่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จัดอยู่ในสายวิวัฒนาการของพวกอัลโลซอรอยเดีย ในไดโนเสาร์จำพวกคาร์คาโรดอนโตซอเรียน จากการอธิบายลักษณะทางกายภาคของตัวอย่าง ร่วมกับการวิเคราะห์ความหลากหลายและความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม สยามแรปเตอร์ จัดอยู่ในจำพวกไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลาม ที่มีความเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โยเฉพาะโครงสร้างสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว สมกับเป็นนักล่าและถือเป็นหลักฐานไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลามนี้ได้มีการกระจายตัวในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ตั้งแต่ยุคครีเทเชียสตอนต้น หรือเมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน
ผอ.สถาบันฯ กล่าว การวิจัยครั้งนี้เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ที่ได้ตกลงทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างประเทศกับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันสำรวจและขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ผลการขุดค้นในปี พ.ศ. 2554 ได้ค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ” (Ratchasimasaurus suranareae; Shibata et al., 2011) ปี พ.ศ. 2558 มีการค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส”(Sirindhorna khoratensis; Shibata et al., 2015) ล่าสุดค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลก นำโดย ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ Dr. Soki Hattori Dr. Elena Cuesta ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล Dr. Masateru Shibata และ Dr. Yoichi Azuma ตีพิมพ์เผยแพร่ใน วารสาร PLOS ONE โดยเผยแพร่ออนไลน์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ด้านนายสุวัจน์ กล่าวว่า นับเป็นความสำเร็จของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นและชาวไทย ได้ค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อตัวที่12 ของประเทศไทย ซึ่งมีฉายา “นักล่าแห่งสยาม” สะท้อนถึงความหลากหลายของแหล่งฟอสซิลที่เกิดขึ้นใน จ.นครราชสีมา เมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา พบไม้กลายเป็นหินจำนวนมากและนำไปสู่การขุดค้นพบแหล่งฟอสซิลระดับสากลซึ่งมีช้างโบราณ จระเข้โบราณ เต่าโบราณ หนูโบราณ ล่าสุดไดโนเสาร์ ฯ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 พย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นชอบให้สถาบันไม้กลายเป็นหินฯ เป็นแหล่งอุทยานธรณีโลกหรือโคราชจีโอพาร์ค เนื่องจากค้นพบแหล่งฟอสซิลที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องในอาณาเขตพื้นที่ 3,167 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งควรคุณค่าในการอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา เข้าเงื่อนไขในการเสนอให้องค์กรยูเนสโกประกาศรับรองเป็นมรดกโลกแห่งที่ 3 ขณะนี้มีแหล่งมรดกโลกได้รับรองแล้ว คือ 1.ผืนป่าดงพญาเย็นและเขาใหญ่ และ 2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ซึ่งเป็นมรดกมนุษย์และชีวมณฑล เหลือเพียงจีโอพาร์คโลกเพียงแห่งเดียว ซึ่งจะประเมินรับรองในปีหน้า เพื่อนำไปสู่ จ.นครราชสีมา ได้รับขึ้นชื่อว่า UNESCO Triple Crown หรือดินแดน 3 มงกุฎของยูเนสโก ประเทศที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้และจีน เราสามารถใช้แบรนด์ยูเนสโกในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งยูเนสโกจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้อีก ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทย สามารถลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นและความสุขอย่างยั่งยืน