สืบเนื่องจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้มีหนังสือเชิญให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 สมาคมเข้าพบหารือตามจดหมายขอเชิญประชุมลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 โดยมีวาระสำคัญ เพื่อแจ้งมาตรการส่งออกวัตถุอันตรายที่ กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ เพื่อทราบความเห็นผู้เข้าร่วมประชุมในประเด็นเกี่ยวกับวัตถุอันตรายดังกล่าวในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 นั้น สมาคมทั้ง 3 สมาคมขอชี้แจงว่า สมาคมฯ มิได้เห็นด้วยกับมติการแบนสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด และตามที่ได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายประเภท 4 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จากการออกความเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบน 58% เห็นด้วย 42% และเมื่อรวบรวมการแสดงความคิดเห็นผ่านแบบสอบถามของเกษตรกรที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบนคิดเป็น 70% กอปรกับมาตรการรองรับการแบนก็ยังไม่มีการประกาศ หรือชี้แจงให้ผู้มีผลกระทบรับทราบเพื่อเตรียมการแต่อย่างใด รวมถึงการกำหนดให้ผู้เสียหายรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการทำลายสารเหล่านี้เองนั้น ถือเป็นความอยุติธรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมีมติให้แบนสารดังกล่าว โดยมีผลทางกฎหมายในวันที่ 1 ธันวาคม นี้ สารทั้ง 3 ชนิดจะกลายเป็นสารที่ผิดกฎหมายทันที ดังนั้นเมื่อภาครัฐมีมติให้แบนจึงหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายอยู่จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย รัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการชดเชยความเสียหายทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการเก็บส่งรัฐ ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา และค่าใช้จ่ายในการทำลาย จึงไม่ควรผลักภาระนี้ให้เอกชนและเกษตรกรรับผิดชอบเอง ทั้งนี้ สมาชิกของทั้ง 3 สมาคมยินดีปฏิบัติตามหลักกฎหมายโดยใช้แนวทางปฏิบัติของกรมวิชาการเกษตรดังที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายของกรมวิชาการฯอย่างดีเสมอมา ตั้งแต่การลดปริมาณการนำเข้า ฝึกอบรมผู้ใช้ ผู้ขาย ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามสากล ดังนั้นการจัดการสินค้าทั้งระบบซึ่งมีปริมาณมากกว่า 30,000 ตัน จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการจัดการสินค้าโดยเทียบเคียงกับที่ผ่านมาประมาณ 2 ปี ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในฤดูเพาะปลูกหลักและลดความเสียหายสำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรม ระยะเวลาที่กำหนดให้เก็บผลิตภัณฑ์นำส่งรัฐภายใน 15 วันนั้น เป็นระยะเวลาที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง การสืบและพิสูจน์สต็อกสินค้าโดยปกติแล้วใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ 6 เดือน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงระยะเวลาในการเรียกเก็บคืน และนำส่งเพื่อทำลาย อนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการชะลอคำขอและใบอนุญาตต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตรทำให้เกิดผลกระทบรวมถึงความเสียหายที่ไม่สามารถดำเนินการนำเข้า ส่งออกได้ตามปกติจนถึงปัจจุบัน การมีข้อแนะนำให้ส่งออกกลับคืนประเทศต้นทาง หรือประเทศที่ 3 นั้นเป็นไปไม่ได้เพราะการนำเข้ามาแล้วมีการนำมาปรับสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับปัญหาของศัตรูพืชในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นคือเมื่อปรับให้เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่งถือเป็นของผิดกฎหมาย จะไม่มีประเทศใดรับให้นำเข้าประเทศได้ ดังนั้น เงื่อนไขต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามจริงและไม่ได้เป็นการกำหนดที่มีสมมุติฐานมาจากความเข้าใจถึงการปฏิบัติจริงแต่อย่างใด ทั้ง 3 สมาคม จึงได้มีแถลงการณ์ความเห็นร่วมและได้แสดงจุดยืนต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้ สมาชิกทั้งสามสมาคมขอยืนยันจุดยืนที่ยังมีความจำเป็นสำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรมในการใช้สารทั้ง 3ชนิด ซึ่งยังมีการใช้อยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว สมาชิกทั้ง 3 สมาคมยินดีปฏิบัติตามหลักกฎหมายโดยใช้แนวทางปฏิบัติของกรมวิชาการเกษตร ดังที่ได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายของกรมวิชาการเกษตรอย่างดีตลอดมา ตั้งแต่การลดปริมาณการนำเข้า ฝึกอบรมผู้ใช้ ผู้ขาย ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามสากล ดังนั้นการจัดการสินค้าทั้งระบบซึ่งมีปริมาณมากกว่า 30,000 ตัน จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการจัดการสินค้าประมาณ 2 ปี ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในฤดูหลักและลดความเสียหายสำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรม การปฏิบัติตามพิธีการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรต้องไม่ขัดกับข้อบังคับกับกฎหมายเรื่องการส่งกลับโดยไม่มีการเปลี่ยนสภาพวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฉบับที่ 4 ปี 2562 การเรียกสินค้าคืนจากผู้ซื้อหรือผู้ใช้ ในทางปฏิบัติไม่มีกฎหมายรองรับเนื่องจากสินค้าเป็นสิทธิของผู้ครอบครองโดยชอบธรรม และจะมีผลเกี่ยวเนื่องกับระบบกฎหมายภาษี ซึ่งทางผู้ประกอบการขอความชัดเจนในทางปฏิบัติเนื่องจากการส่งสินค้ากลับออกไปยังผู้ผลิตตามแนวทางที่กระทรวงฯให้ปฏิบัติไม่สามารถเป็นไปได้กับทุกผู้ประกอบการเนื่องด้วยมีผู้ประกอบการบางรายผสมปรุงแต่งในประเทศและไม่สามารถส่งออกกลับคืน ดังนั้นสมาชิกทั้ง 3 สมาคมขอยึดระยะเวลาแก่ผู้ประกอบการในการดูแลสินค้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถือครองรวมทั้งเกษตรกร เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับการถือครองถูกต้องตามกฎหมายและขอความชัดเจนกับทางกรมวิชาการในการปฏิบัติ ในประเด็นเรื่องการชะลอคำขอและใบอนุญาตต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตร จากหนังสือตอบกลับของกรมวิชาการฯไม่ได้ให้ความชัดเจนในหลักปฏิบัติ และเกิดผลกระทบรวมถึงความเสียหายที่ไม่สามารถดำเนินการนำเข้า ส่งออกได้ตามปกติจนถึงปัจจุบัน