คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ตั้งใจจะเขียนรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ “โป๊ปฟรานซิส” ที่เสด็จเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2562 อย่างเป็นทางการ แต่ก็พลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย เพราะคำนวณวันผิดไป สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีพระนามเดิมว่า “ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ” ทรงเป็นประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก เป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ทรงดำรงตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ซึ่งทรงสละตำแหน่งเมื่อ ค.ศ.2013 ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง พระองค์คือพระอัครสังฆราชแห่งบัวโนสไอเรส (ประเทศอาร์เจนตินา) พระนาม “ฟรังซิส” (ฟรานซิส) หมายถึงนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกจากทวีปอเมริกา และคณะเยสุอิต และเป็นองค์แรกในรอบ 1,300 ปี ที่ไม่เป็นชาวยุโรป (ทั้งไม่เป็นชาวอิตาเลียนคนที่ 3 ติดต่อกัน) ใช่ครับ ทางเป็นพระประมุขแห่งนครวาติกัน (ในประเทศอิตาลี) สมเด็จพระสันตะปาปาองค์แรกเสด็จเยือนประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2537 คือ “โป๊ป จอห์น ปอล ที่ 2” นับจากปีนั้นถึงปีนี้ รวม 35 ปี สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิสมีพระญาติใกล้ชิดอยู่ในประเทศไทย คือ “ซิสเตอร์ อานา โรซา ซิโวรี” (S.Ana Rosa Sivori) เลขาธิการโรงเรียนคาทอลิกสตรี (โรงเรียนเซนต์เมรีอุดรธานี) โดยเป็นญาติพี่น้องกัน สมัยซิสเตอร์เป็นเด็ก ครอบครัวอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ซิสเตอร์มาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2509 “มิสซังสยาม” (สถานประกอบพิธีกรรมของคาทอลิก) มีในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (350 ปีมาแล้ว) ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับนครวาติกันนับได้ 50 ปีแล้ว ชาวคริสต์มีส่วนในการพัฒนาชาติไทยในด้านต่างๆ ตลอดมา โดยเฉพาะด้านการศึกษา เป็นที่ยอมรับกันว่า โรงเรียนที่บริหารโดยชาวคาทอลิก ล้วนแต่เป็นโรงเรียนมีคุณภาพ ไม่ว่า จะเป็นโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเซนต์ฟรังฯ ฯลฯ โรงเรียนพยาบาลเซนต์หลุยส์ ว่าไปแล้ว พุทธศาสนาก็ได้พึ่ง “ฝรั่ง” เป็นอันมาก ถ้าไม่ได้ฝรั่งช่วย ป่านนี้ โบราณสถานของพุทธศาสนาในอินเดียก็คงยังจมอยู่ในดิน ไม่มีใครเห็น ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์พุทธคยา ไม่ว่าจะเป็นสังเวชนียสถานใดๆ ที่จมอยู่ในดินนับพันปี ก็ล้วนแต่ได้ฝรั่ง หรือ “ชาวคริสต์” (โดยเฉพาะชาวอังกฤษ) ช่วยขุดค้นและฟื้นฟูบูรณะขึ้นมาทั้งสิ้น วันนี้ เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (ซึ่งเป็นฝรั่ง) เสด็จมาเยือนประเทศไทย จึงขอระลึกอุปการคุณของฝรั่งในอดีตที่ชาวพุทธจะไม่มีวันลืมได้ แม้ว่า พุทธศาสนาได้ถูกสงครามล้มล้างจนสูญสลายไปจากแผ่นดินแม่ (ชมพูทวีป) เมื่อราว พ.ศ.1741-1750 แต่ชาวอังกฤษภายหลังที่เข้ายึดครองชมพูทวีป เป็นเวลาเกือบ 200 ปีแล้ว ก็ได้มีการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีครั้งใหญ่ ได้ตั้งส่วนราชการทางโบราณคดีขึ้นมาทำงานโดยเฉพาะ เป็นระดับกรม (หรือกระทรวง?) ชื่อ Archaeological De partment ตั้งแต่เข้ายึดครองชมพูทวีป จนอินเดียได้เอกราช (เมื่อ พ.ศ.2490) ที่ใช้คำว่า “อินเดีย” หลังคำว่า “ชมพูทวีป” เพราะก่อนที่อินเดียจะได้เอกราชนั้น แผ่นดินใหญ่ที่เรียกว่าชมพูทวีปยังมีเนื้อที่กินไปถึงบังกลาเทศ (แคว้นอังคะเดิม) ปากีสถานและอัฟกานิสถานปัจจุบัน ในยุคที่ชมพูทวีปยังไม่ถูกแบ่งแยก (กินเวลาถึง 17 ศตวรรษ หรือ เกือบ 2,000 ปี) นั้น พุทธศาสนารุ่งเรืองไปถึงอัฟกานิสถาน เมื่อถูกสงครามเข้าทำลาย (พระสงฆ์ถูกฆ่า วัดถูกเผาทำลาย สถานศึกษาทางพุทธศาสนา เช่น มหาวิหาร (มหาวิทยาลัย) นาลันทา ถูกเผาย่อยยับ เป็นเหตุให้พุทธศาสนาสูญสลายไปจากชมพูทวีปหรืออินเดียตั้งแต่นั้นมา (ปัจจุบัน พุทธศาสนาไปก่อตัวขึ้นใหม่ในแผ่นดินอื่นอย่างทุลักทุเล เป็นศาสนาเล็กๆ อยู่อันดับ 5 มีชาวพุทธไม่ถึงพันล้านคนหรือประมาณเกือบ 7 % ของประชากรโลกเท่านั้น) เรื่องความเป็นไปของพุทธศาสนาในยุคที่ถูกสงครามล้มล้างนั้น ยังหาอ่านได้ในวารสารเอเชียสมาคมแห่งเบงกอล พ.ศ.2405 (Journal of the Asiatic Society of Bengal for 1862) แสดงว่า ประวัติศาสตร์ “ลบไม่สูญ” นั่นเอง ในการขุดค้นโบราณสถานทางพุทธศาสนาภายใต้งานการศึกษาทางโบราณคดีของ Archaeological Department นั้น รัฐบาลอังกฤษ (สมัยนั้น) ได้ตั้งหน่วยงานทำการสำรวจเฉพาะกิจขึ้นมา เรียกว่า Indian Archaeological Surrey คนสำคัญที่ชาวพุทธจะไม่มีวันลืม คือ เซอร์ อเลกซานเดอร์ คันนิงแฮม ( Sir Alexander Cunningham) ในตำแหน่งผู้อำนวยการ (Director General) เป็นผู้อุทิศตนทั้งชีวิตทำการสำรวจและขุดค้นโบราณสถานทางพุทธศาสนาในชมพูทวีป เช่น สารนาถ สาญจี ตักสิลา และพุทธคยา ซึ่งเป็นปูชนียสถานตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชโน้น (ราว พ.ศ.200 เศษ) มีบางท่านเขียนหรือกล่าวชวนให้เข้าใจสับสนเกี่ยวกับยุคสมัยช่วงนี้อยู่ ขอทำความเข้าใจว่า เซอร์ คันนิงแฮม ทำการสำรวจและขุดค้นโบราณสถานทางพุทธศาสนาตามบันทึกของ “พระถังซัมจั๋ง” หรือ “ยวนฉ่าง” (หรือ “เสวียนจั้ง” ส่วนพระถังซัมจั๋งนั้น เดินทางบันทึกตามร่องรอยสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อพันกว่าปีล่วงแล้ว และงานสำรวจ-ขุดค้น ของคันนิงแฮม เริ่มขึ้น เมื่อ พ.ศ.2404 ยุติเมื่อเขามีอายุ 71 ปี (ราว พ.ศ.2428) จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีฝรั่ง (ซึ่งเป็นชาวคริสต์) ทำงานสำรวจและขุดค้นโบราณสถานทางพุทธศาสนาสมัยนั้น พุทธศาสนาก็คงจมอยู่ในดิน ไม่มีร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองในอดีตได้เลย ผมจึงมาระลึกถึงอุปการคุณของฝรั่งอยู่ทุกวันนี้ ว่าไปแล้ว แม้แต่พระไตรปิฎกของเถรวาท หรือพระไตรปิฎกฉบับบาลี อันเป็นพระคัมภีร์หลักของพุทธศาสนา (ฝ่ายเถรวาท)ก็ได้อาศัยฝรั่งแปลให้ทั้งสิ้น “สมาคมบาลีปกรณ์” (Pali Text Society หรือ PTS) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่สถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อทำงานแปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ก็เป็นของฝรั่ง (แม้ฝรั่งเหล่านั้น จะเปลี่ยนศาสนามาเป็นชาวพุทธก็ตาม) ดูไปแล้ว ชาวพุทธเองไม่ได้ทุ่มเทฟื้นฟูพุทธศาสนาของตนเท่าฝรั่งด้วยซ้ำ จึงมานึกว่า ฝรั่ง (ชาวคริสต์) มีอุปการคุณต่อพุทธศาสนายิ่งนัก ชาวพุทธทั่วโลกควรจะได้สำนึกในอุปการคุณนั้น ทุกวันนี้ พุทธศาสนากำลังฟื้นตัว แพร่หลายไปยังประเทศทางตะวันตก (เมืองฝรั่ง) และดูเหมือนว่า ฝรั่งที่สนใจศึกษาพุทธศาสนาก็ได้อาศัยพระไตรปิฎกที่ฝรั่งเองนั่นแหละแปลให้อ่าน ส่วนชาวพุทธเองแม้จะมีหลายประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ก็ดูเหมือนจะไม่มีผลงานเท่าที่ควร และทำท่าจะไปซื้อโบสถ์คริสต์มาทำเป็นวัดอยู่เรื่อยๆ มานึกถึงสมัยสมาคมบาลีปกรณ์ (PTS) แปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่กระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ คัมภีร์เหล่านั้น เป็นภาษา และอักษรพื้นถิ่นด้วยซ้ำ เขายังอุตส่าห์แกะและอ่าน แล้วแปลจนได้ จึงเห็นด้วย ที่มีนักเขียนชาวตะวันตกเขียนว่า เขา (ฝรั่ง)เป็นลูกศิษย์ที่ดีได้ แต่ชาวเอเชียก็เป็นครูที่ดีให้เขาไม่ได้ หมายความว่า เมื่อฝรั่งจะมาพึ่งชาวเอเชีย (ในทางวิชาการหรือในทางความรู้) ก็มักจะพึ่งไม่ได้ ในเรื่องศาสนา มีแนวโน้มว่า จะมีคนประเภท “ไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้น (ปัจจุบันมีประมาณพันล้านคน!) มีแนวโน้มว่า ศาสนาฝ่ายเทวนิยม (ถือพระผู้สร้าง) จะเสื่อมถอยลงเพราะความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสต์ แต่ในความเป็นจริง ศาสนา (ทุกศาสนา)เป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นที่พึ่งทางใจ เกรงว่าในอนาคตคนที่ “ไม่มีศาสนา” ประจำใจ จะเกิดความว้าเหว่ ไร้ที่พึ่งทางใจ น่าจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายศาสนา (ทุกศาสนา) จะพึงหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันจรรโลงศาสนาของตนให้เป็นที่พึ่งทางใจให้ได้ อย่างน้อยก็ให้ศาสนาดำรงอยู่ในรูปวัฒนธรรมหรือพิธีกรรม หรือขนบประเพณีอันดีไว้ก่อน ความเจริญก้าวหน้าของยุคสมัย โดยเฉพาะความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ (ทางวัตถุ) นั้น ดูเหมือนจะไม่มีคำตอบสุดท้ายให้แก่มนุษยชาติ ได้ในที่สุด มนุษย์ก็จะต้องหันมาเพิ่งศาสนาอยู่ดี น่าเป็นห่วงก็แต่ว่า ฝ่ายศาสนา (ทางเอเชีย) ยังหมกมุ่นแต่จะขยายอิทธิพลหรือเพิ่มปริมาณคนถือศาสนาของใครของมันกันอยู่ ซึ่งส่อเค้าว่า จะเกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนาขึ้นได้ อยากจะให้เห็นบทเรียนว่า เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธา (ความเชื่อ) หรือเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ไม่อาจจะเผาทำลายหรือล้มล้างด้วยกำลังอาวุธได้ ดังได้เห็นว่า แม้พุทธศาสนาจะถูกเผาทำลายให้สูญสลายไปจากชมพูทวีป แต่แล้ว พุทธศาสนาก็ไปงอกงามขึ้นในแผ่นดินอื่นจนได้ ดังจะเห็นได้ว่า แม้ศรีลังกาซึ่งเป็นประเทศพุทธศาสนา มาก่อนถูกอังกฤษครอบครอง เบียดเบียนทางศาสนา จนเหลือเพียงสามเณร (สามเณรสรณังกร) องค์เดียว ก็ยังฟื้นขึ้นมาได้ เป็นประเทศพุทธศาสนาเหมือนเดิมอยู่ทุกวันนี้ ในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแห่งนครวาติกัน หรือองค์พระประมุขของชาวคาทอลิก ได้เสด็จเยือนประเทศไทยครั้งนี้ และจะเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นต่อจากนี้ อย่างเป็นทางการ เป็นนิมิตหมายอันดีทางศาสนาเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีทางศาสนา ขอถือโอกาสนี้แสดงคารวะต่อชาวคริสต์ทั้งมวล ขอให้ดูปฏิปทาของสมเด็จพระสันตะปาปาที่มีการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ เป็นแบบอย่างที่ดี การเผยแพร่ศาสนาเป็นหน้าที่ของศาสนิกชน แต่การจรรโลงศาสนาให้ดำรงอยู่ในโลกก็เป็นหน้าที่ของศาสนิกชนทุกคน