ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต สาระชีวิตแห่งงานเขียนของใครบางคนนั้น ยิ่งใหญ่ และสั่นไหวอยู่ในตัวตนเบื้องลึกของเราเสมอ แม้ว่ากาลเวลาจะพ้นผ่านไปเนิ่นนานสักเพียงไหนก็ตาม...มันอาจคือวิกฤติในทางจิตวิญญาณ หรืออาจเป็นผลลัพธ์อันสัตย์ซื่อของโลกสำนึกที่จมอยู่ในรอยอำพราง...ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นคือปรารถนาแห่งการหยั่งรู้อันไม่รู้จักสูญสิ้น...แท้จริง มนุษย์มักโดดเดี่ยวอยู่กับใจของตัวเองเสมอ...มีความลับแสนซับซ้อนสถิตอยู่กับความโดดเดี่ยวอันแสนจะเยียบเย็นนั้น...และนี่คืออารมณ์หลักแห่งความรู้สึกที่เป็นดั่งบทกวีแห่งการเล่าขาน นัยเรื่องราวนานา ให้ออกมาเป็นรูปรอยของความเป็นชีวิตในนาม... “วิญญาณขบถ” (SPIRIT REBELLIOUS)/รวมเรื่องสั้นของกวีและนักเขียนชาวเลบานอน..ผู้มีชื่อเสียงดังก้องโลกด้วยผลงานอันลึกซึ้งกินใจและเต็มไปด้วยค่าความหมายอันเปิดเปลือยต่อชีวิต..ดั่งเช่นรวมเรื่องสั้นชุดนี้ที่เน้นย้ำถึง จิตวิญญาณที่ขบถต่อกรอบความเชื่ออยุติธรรม..ซึ่งเป็นหนังสือขายดีของโลกไปในที่สุด... โดยภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ “คาลิล ยิบราน” ได้มุ่งแสดงถึงข้อประจักษ์ในประเด็นของจิตวิญญาณอันอลังการแห่งความเป็นขบถไว้ในเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง เหมือนดั่งการถอดรหัสสัจธรรมแห่งชีวิตไว้อย่างบริบูรณ์...มันสื่อถึงนัยที่บางเบาของเกสรอ่อนโยนในแต่ละเกสรที่ถูกสายลมเด็ดพลิ้ว ปลิวไปในเปลวแดดนวล...ที่จักต้องทำให้ผู้สัมผัสกับเรื่องราวต้องหลั่งน้ำตาออกมาอย่างไหวหวั่นหรือไม่เช่นนั้นก็จักเปี่ยมเต็มไปด้วยดวงใจที่หาญกล้า เมือถูกขับกล่อมจากประกายตาของบทเพลงแห่งวิญญาณขบถดวงนั้น... “แสงสว่างที่แท้จริงนั้นคือแสงที่สาดส่องออกมาจากภายในตัวของมนุษย์เอง มันเผยให้เห็นถึงความลับของวิญญาณและช่วยให้วิญญาณมีความปีติชื่นชมในชีวิต ให้ร้องเพลงอยู่ในนามแห่งดวงวิญญาณอันยิ่งใหญ่กว่า สัจจะนั้นเป็นเหมือนดวงดาวซึ่งไม่อาจแลเห็นได้ เว้นเสียแต่ในความมืดของราตรี สัจจะเป็นเหมือนสิ่งงดงามทั้งมวลที่มีอยู่ มันมิได้เผยให้เห็นความงามของมัน นอกเสียจากแก่ผู้ที่รู้สึกถึงน้ำหนักแห่งความเท็จแล้ว สัจจะคือความรู้สึกที่ซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งสอนให้เราปลื้มปีติในวันเวลาของเรา และปรารถนาที่จะให้ความปลื้มปีตินั้นแก่มนุษยชาติทั้งมวล” เจตจำนงที่ปรากฏเป็นนัยสำคัญของเรื่องสั้น “คาลิล คนนอกศาสนา” เรื่องนี้เท่ากับเป็นบทสะท้อนอันถือเป็นความพึงพอใจต่อการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างศานติ แต่ถึงกระนั้น...ก็ยังมีคนอีกมากมายที่มีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกนี้อยู่ในหัวใจของเขา และมีคนอีกมากมาย ผู้ที่เชื่อว่าความรู้สึกนี้คือกฎที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงมอบให้แก่มนุษยชาติ แต่เขาก็มิได้ปลื้มปิติในวันเวลาของเขา...มากไปกว่าการคงอยู่ในความทุกข์ระทมไปจนตาย” นั่นคือวิถีที่แกว่งไกวไปสู่มุมตกกระทบในมิติที่อยู่ตรงกันข้าม...ในเรื่องสั้น “ซาตานมารร้าย” ..มีบทสะท้อนในตอนหนึ่งว่า.. “เจ้ามันคนขี้โกงพูดปดมดเท็จ ! ..คนที่ใกล้ตายควรจะพูดความจริงซิ ข้าไม่เคยเห็นหน้าอันชั่วร้ายของเจ้ามาก่อนเลยในชีวิต จงบอกมาว่าเจ้าเป็นใคร มิฉะนั้นข้าจะปล่อยให้เจ้าทรมานไปจนกว่าจะตาย และจมอยู่ในชีวิตที่กำลังจะหนีออกไปของเจ้าเอง”... ชายผู้ต้องบาดเจ็บขยับตัวช้าๆและมองเข้าไปในดวงตาของนักบวช บนริมฝีปากของเขาปรากฏรอยยิ้มอย่างลึกลับ แล้วเขาก็กล่าวขึ้นด้วยเสียงเงียบลึกและราบเรียบว่า”ข้าพเจ้าคือซาตานอย่างไรเล่า” เชิงชั้นในการเขียนบทบาทเชิงการแสดงของ “ยิบราน” แฝงไว้ด้วยนัยอันซ่อนเร้นและแยบยล มันค่อยๆเผยกายร่างอันลึกเร้นออกมาสู่สัญชาตญาณแห่งนัยสำนึก...มันคือปริศนาที่ยากต่อการให้คำตอบอันจริงแท้/...ณ ที่นี้ “ยิบราน” ได้ตั้งคำถามอันชวนตีความว่า “ใครหรืออะไรคือผู้ที่ท่านเรียกว่าเทพมนุษย์/ใครคือเทพผู้กล้าหาญซึ่งต่อสู้กับเทพแห่งราตรีผู้รุ่งโรจน์/” เราไม่เคยคิดถึงพระองค์มาก่อนเลย” คำตอบแห่งคำถามนี้ “ยิบราน” ได้แสดงทัศนะว่า “...ในครั้งโบราณก่อนนั้น ก่อนที่จะสร้างมนุษย์ขึ้นมา เทพเจ้าทั้งหลายต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในโลกเบื้องบน เบื้องหลังความกว้างใหญ่ของดวงดาวทั้งหลายมีเทพแห่งบรรดาเทพเป็นบิดร พระองค์รู้ในสิ่งที่บรรดาเทพไม่รู้ และทำในสิ่งที่บรรดาเทพทำไม่ได้ พระองค์เก็บงำความลับอันสูงส่งทั้งหลายอันอยู่โพ้นจากกฎนิรันดร์ไว้กับพระองค์เอง” นัยแห่งคู่ตรงข้ามนี้..ถือเป็นแก่นแห่งเรื่องราวอันชวนใส่ใจและขบคิดว่า “ยิบราน” ปรารถนาจะบอกกล่าวสิ่งใดกันแน่ระหว่างคุณค่าในตัวตนที่ให้ข้อสรุปว่า “คาริล มิตรที่ดีของเราอยู่บนโน้น ประวัติชีวิตของท่านนั้น บิดาของเราได้จารึกไว้ด้วยตัวอักษรอันเรืองโรจน์ บนผืนแผ่นดินแห่งดวงใจของเรา ทิวาราตรีไม่อาจจักลบเลือนมันได้เลย” ...ประเด็นแห่งคำยกย่องตรงส่วนนี้...ล้วนมีนัยตรงข้ามกันกับสำนึกทางประพันธกรรมตรงส่วนนี้อย่างมากแต่...ทั้งสองนัยก็แฝงไว้ด้วยสำนึกขบถดุจเดียวกัน... “ข้าพเจ้าคือหัวใจของความชั่ว ท่านอยากให้ความเคลื่อนไหวของมนุษย์ต้องหยุดชะงักลงเพราะการหยุดเต้นของหัวใจข้าพเจ้าหรือ?..ท่านจะรับผลได้หรือในเมื่อท่านทำลายเหตุเสียแล้ว?/ข้าพเจ้านี่แหละคือต้นเหตุ!ท่านจะปล่อยให้ข้าพเจ้าต้องตายอยู่ในป่าอันเปล่าเปลี่ยวนี้แหละหรือ? ท่านปรารถนาที่จะตัดพันธะระหว่างตัวท่านกับตัวข้าพเจ้าเสียเช่นนั้นหรือ?จงตอบสิ....” ว่ากันว่านัยทั้งหมดของรวมเรื่องสั้นชุดนี้...ถูกเปรียบเป็นดั่งสารแห่งการประกาศอิสรภาพที่สั่นสะเทือนต่อการรับรู้ของผู้คนในทุกยุคสมัย...ที่ต่างโหยหาถึงความมีและความเป็นเสรีที่เหล่ามวลมนุษย์สมควรจะพึงมี...คำประกาศในตอนหนึ่งของเรื่องสั้น “เรื่องของวาร์ดี อัล-ฮานี” ที่ว่า.. “เพราะเหตุว่าบุคคลที่ถูกมหาชนขับไล่ออกจากกลุ่ม ก็คือบุคคลที่วิญญาณของเขาเป็นขบถต่อความหลอกลวงและความกดขี่ ผู้ซึ่งไม่ชอบถูกเนรเทศจากความเป็นทาส ย่อมไม่เป็นอิสระในเสรีภาพอันเป็นทั้งความจริงและหน้าที่” สำนึกขบถเช่นนี้ทำให้ในปีค.ศ.1908หนังสือ “วิญญาณขบถ” ต้องถูกสั่งเก็บรวบรวมมาเผาในตลาดกลางเมืองเบรุต โดยฝ่ายศาสนจักรที่ในตอนนั้นมีอำนาจทางการเมืองการปกครองสูงสุด แต่ “ยิบราน” หาได้ยอมอ่อนข้อให้และยอมพ่ายแพ้ แต่อย่างใดไม่..แม้จะโดนเนรเทศจากบ้านเกิดในข้อหาที่หนังสือ “วิญญาณขบถ” ได้ทำลายความมั่นคงและความสงบสุขของประเทศ... “ยิบราน” ได้ใช้องค์ความรู้ทางการประพันธ์รวมทั้งถ้อยสำนวนที่บาดลึกกินใจ ของเขาต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามอย่างจริงจังและไม่ย่อท้อ/นัยความคิดอันถือเป็นการต่อต้านได้ปรากฏผ่านสำนึกออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า..ซึ่งล้วนแต่เป็นความหมายของการไม่ยอมแพ้แทบทั้งสิ้น “พวกท่านมีหลายคนแต่ผมมีคนเดียว จงทำแก่ผมตามแต่ท่านปรารถนาเถิด ลูกแกะอาจจะล้มลงเป็นเหยื่อของเหล่าหมาป่าท่ามกลางความมืดแห่งค่ำคืนได้ แต่เลือดของเหล่าหมาป่ามันจะติดอยู่บนก้อนหินหุบเขา จนกระทั่งรุ่งอรุณมาถึงและดวงตะวันจะทอแสง” ...ถ้อยคำเหล่านี้ถูกกล่าวออกมา ด้วยน้ำเสียงที่แฝงไว้ด้วยความเข้มแข็งอันถูกดลใจ เป็นพลังอันตราตรึงที่ทำให้ความโกรธและความกระด้างผุดขึ้นในใจของผู้ที่เปี่ยมไปด้วยโมหะ..จนที่สุด...มันก็ได้เงียบสงบลงหลังจากพายุใหญ่ได้กระทำความพินาศแก่กิ่งไม้ที่อยู่สูงสุดบนต้นที่แข็งแรงที่สุดแล้ว” ใจความสำคัญในตอนนี้จากเรื่องสั้น “ยูฮานนา” บ้า “...” ให้ข้อคิดสำคัญต่อผู้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้อย่าน่าพินิจพิเคราะห์ว่า...ที่สุดแล้วการข่มเหงย่อมไม่สามารถทำอันตรายต่อผู้ยุติธรรม และการกดขี่ก็ไม่อาจทำลายผู้ที่อยู่กับสัจจะได้... ผมรู้สึกล้ำลึกกับเรื่องสั้น “ฟูกแห่งเจ้าสาว”...ที่ยิบรานเขียนขึ้นเพื่อเบิกประจานจารีตที่ย่ำยีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ผ่านสถานะของ “ทาสชีวิต” ด้วยการแต่งงานแบบจำยอม/ความตายแห่งโศกนาฏกรรมของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือบาดแผลฉกรรจ์ที่ยังไม่มีวันสูญสิ้น..มันคือทุกขเวทนาที่เกิดอย่างซ้อนซ้ำในโลกที่เต็มไปด้วยการแบ่งชั้นวรรณะและโลกแห่งความริษยาที่เต็มไปด้วยความมืดมน “...พวกท่านไม่เข้าใจอันใด ในถ้อยคำของฉันดอก เพราะความลึกนั้นมิสามารถจะได้ยินบทเพลงของดวงดาวได้ แต่ท่านจะเล่าให้ลูกหลานของท่านฟังถึงเรื่องของผู้หญิงที่ฆ่าคู่รักในคืนวิวาห์ของหล่อน พวกท่านจะจดจำฉันได้และแช่งด่าฉันด้วยริมฝีปากอันสกปรกของท่าน” ในชั่วขณะนั้นเจ้าสาวได้ชูกริชขึ้นสู่สวรรค์ และด้วยท่าทางของคนกระหายน้ำที่ยกแก้วขึ้นจรดริมฝีปาก เธอได้เสียบกริชลงสู่ทรวงอกของเธอและล้มลงข้างๆคนรักของเธอเสมือนดอกพลับพลึงที่ยอดของมันถูกตัดด้วยมีดพร้า “เจ้าสาวแนบร่างของเธอเข้ากับชายคนรัก และสัมผัสริมฝีปากอันเย็นชืดของเขาด้วยริมฝีปากของเธอ และพร้อมกับลมหายใจสุดท้ายของเธอ” นับเวลาได้ 111 ปีแล้ว/ที่ “วิญญาณขบถ”...ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก...ความเจ็บปวดหม่นเศร้าทั้งหลายคือคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากผัสสะของหัวใจอันล้ำลึก/...ในโลกนี้มันยากนักที่เราจะสัมผัสลึกถึงหัวใจแห่งวรรณกรรมด้วยรสชาติทางวรรณศิลป์ที่ทั้งหนักแน่น ลึกซึ้ง และจริงจัง/ตราบใดที่มนุษย์เราไม่ยอมหยั่งเห็นตัวตนอันถ่องแท้ของตัวเองตราบนั้น อุปสรรคอันเนื่องมาจากมิจฉาทิฐิก็จะเข้าครอบงำและครอบครองจิตวิญญาณของเราให้เอนลู่ไปสู่วัฏจักรของการสยบยอมของเรา ประหนึ่ง”พายุใหญ่”ที่โหมเข้าใส่ กล้าพันธุ์แห่งชีวิตที่ทั้งอ่อนแอและไร้รากลึก/นั่นคือแบบเรียนของชีวิตที่”ยิบราน”ได้แสดงให้เห็น “นาฏกรรมแห่งเจตจำนง” เอาไว้ “หลายครั้งหลายคราผมเฝ้าสงสัยและถามตัวเองว่าสากลโลกนี้คืออะไร และทำไมผมจึงผิดแผกแตกต่างไปจากผู้คนทั้งหลายที่กำลังมองผมอยู่?ผมรู้จักเขาเหล่านั้นได้อย่างไร? ผมเคยพบพวกเขาที่ไหนและเหตุใดผมจึงมาอยู่ท่ามกลางพวกเขา?ผมเป็นคนแปลกหน้าในหมู่พวกเขา หรือว่าเขากันแน่ที่เป็นคนแปลกหน้าในโลกนี้อันถูกสร้างขึ้นโดยชีวิตของผู้ซึ่งไว้วางใจและมอบกุญแจให้แก่ผม?...นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผม...เมื่อครั้งที่ผมละทิ้งโลก มายังสถานอันเปล่าเปลี่ยวนี้ เพื่ออยู่ท่ามกลางความสำนึกถึงชีวิตและดื่มด่ำอยู่กับความคิดอันเมตตาและความเงียบที่งดงาม” “วิญญาณขบถ” (SPIRIT REBELLIOUS)แปลเป็นภาษาไทยโดยนักแปลนามอุโฆษ.. “ดร.กิตติมา อมรทัต” ครูแห่งนักแปลผู้สร้างค่าให้แก่วงวรรณกรรมแปลของบ้านเราด้วยภาษาสำนวนที่งดงามและเปี่ยมเต็มไปด้วยความหมายของสาระเรื่องราวที่สมบูรณ์ยิ่ง/โดยส่วนตัว...ผมอ่านหนังสือเล่มนี้เมื่อวัยหนุ่ม ซาบซึ้งกับโครงสร้างแห่งจิตวิญญาณที่ “ยิบราน” ได้ส่องสะท้อนออกมาเป็นเรื่องราวและถ้อยคำ...ยิ่งเมื่อเวลาล่วงผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด ผมก็ยิ่งเชื่อว่าสำนึกขบถในหัวใจของผู้คนนั้นสำคัญยิ่งต่อความแข็งแกร่งในทางจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์/มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมีชีวิตอยู่อย่างจำยอมและหดหัวอยู่กับความขลาดกลัวใดๆ/เว้นเสียแต่ว่า...เมื่อไฟแห่งจิตวิญญาณของเราต่างลุกโชนขึ้น เมื่อนั้นชีวิตของเราก็จะเป็นปึกแผ่น ปราศจากเสียงคร่ำครวญร้องไห้ และเติบโตสู่ อิสรภาพ เสรีภาพ ตลอดจนความยุติธรรมได้.. “เมื่อผู้คนเข้าใจภาษาแห่งความเงียบ...เขาก็ย่อมเข้าไปใกล้วิถีทางของพระเจ้า มากกว่าใกล้ทางของสัตว์ป่าในพงไพร”