คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์ / ก๊วยเจ๋ง แรกๆ ที่ผมได้รู้จักกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เต็มไปด้วยความรู้สึก “ผิดคาด” ปลายปี 2519 ที่ผมกับเพื่อนนิสิตปี 1 ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ไปกราบเรียนเชิญให้ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นองค์ปาฐกในเรื่อง “คึกฤทธิ์กับต้นไม้” เพื่อหาเงินไปปลูกป่าที่จังหวัดปราจีนบุรี ในวันที่เข้าไปพบกับท่าน ณ บ้านซอยสวนพลูนั้นพวกเราก็มีความรู้สึก “ผิดคาด” เสียแล้ว ผิดคาดจากความคิดที่สาธารณชนบางส่วนได้ “ร่ำลือ” มา ตอนที่เราประชุมกันคิดหาทุนไปปลูกป่าในนามชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติในครั้งนั้น บางคนเสนอความคิดว่าจะไปเรี่ยไรขอทุนจากพี่ๆ สิงห์ดำที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารอยู่ในบริษัทห้างร้านต่างๆ รวมถึงที่เป็นข้าราชการใหญ่ๆ บางคนด้วย โดยกำหนดวงเงินไว้ราว 8,000 บาท ส่วนหนึ่งเป็นค่ารถบัส เช้าไปเย็นกลับ และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับนิสิตราว 50 คน ส่วนกล้าไม้ที่จะปลูกทางกรมป่าไม้ได้ให้ความอนุเคราะห์จัดให้ฟรีพร้อมพื้นที่ปลูก ซึ่งได้ประสานทางอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้านไว้พร้อม มีพวกเราในชมรมคนหนึ่ง(ขออภัยที่จำไม่ได้เพราะเวลาผ่านมานานมาก)เล่าว่า ได้อ่านบทความในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ที่ไปสัมภาษณ์ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เกี่ยวกับการปลูกต้นอาฟริกันไวโอเล็ตในเรือนกระจกในห้องเย็นที่บ้านสวนพลู ซึ่งมีตอนหนึ่งท่านได้พูดว่าหากใครที่อยากได้ความรู้เกี่ยวกับต้นหมากรากไม้ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ ก็มาคุยกับท่านได้ เพื่อนคนนั้นบอกว่าพวกเราสนใจจะไปพูดคุยกับท่านไหม เพราะเผื่อบางทีอาจจะเชิญท่านมาคุยให้นิสิตฟังที่คณะรัฐศาสตร์ แล้วเก็บเงินจากผู้ฟังหรือไปขอสปอนเซอร์จากรุ่นพี่ๆ ตามที่วางแผนไว้นั้นต่อไปได้ คนหนึ่งในกลุ่มพวกเราพูดทะลุกลางปล้องขึ้นมาว่า “คึกฤทธิ์น่ะดุนะเฟ้ย นอตหลุดอาละวาดนักข่าว ด่าคนโขมงโฉงเฉง น่ากลัวนะเฟ้ย” ทำให้ทุกคนต้องชะงัก แต่เพื่อนคนที่เสนอเรื่องนี้ยังยืนยันว่า จากที่อ่านท่านให้สัมภาษณ์ ดูท่านเป็นคนอารมณ์ดีและมีเมตตาอยู่นะ และท่านก็เป็นคนที่มีชื่อเสียง แบบที่เรียกว่า “ขายได้” ยังไงก็อยากจะให้ไปกราบเรียนเชิญท่าน อย่างน้อยท่านก็เคยเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์นี้ มีลูกศิษย์ลูกหารุ่นพี่เราเป็นใหญ่เป็นโตอยู่หลายคน น่าจะลองดูเพราะมีแต่ได้มากกว่าเสีย ท่านที่เป็นนิสิตของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คงจะพอทราบประวัติของคณะรัฐศาสตร์นี้ว่า แต่เดิมคือโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน ตั้งขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2442 ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2459 ก็ให้เข้าไปอยู่ในคณะรัฐประศาสนศาสตร์ จนถึง พ.ศ. 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรก็ให้ยุบไปรวมอยู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง กระทั่งในปี 2491 ส.ส.สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ผ่านพระราชบัญญัติจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นใหม่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนิสิตที่เข้าเรียนใน พ.ศ. นั่นได้ชื่อว่า “สิงห์ดำรุ่น 1” เพราะสีประจำคณะรัฐศาสตร์นี้คือ “สีดำ” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คือ ส.ส. 1 ใน 3 คนที่ร่วมเสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ในครั้งนั้น อีก 2 ท่านก็คือ หลวงอังคณานุรักษ์ และนายใหญ่ ศวิตชาติ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสืออนุสรณ์ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่า พอพระราชบัญญัติผ่านแล้ว หลวงอังคณานุรักษ์ที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์นั้นแล้ว ได้มาชวนท่านให้ไปช่วยสอนด้วย โดยใช้คำพูดว่า “เมื่อให้ชีวิตแล้ว ก็ต้องมาช่วยให้เติบโตต่อไป” และท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้สอนอยู่ที่คณะนี้จนถึง พ.ศ. 2494 โดยมีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ที่สุดพวกเรามีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะต้องไปเชิญท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มาเป็นองค์ปาฐก แล้วผมก็เป็นผู้โทรศัพท์ไปนัดหมายกับคนที่บ้านซอยสวนพลู ทราบชื่อว่า “พี่หละ” หรือนายสละ ผดุงวรรณ ต้นห้องและพ่อบ้านของท่าน จำได้ว่าเป็นตอนบ่ายสี่โมงของวันหนึ่งกลางสัปดาห์ปลายเดือนธันวาคม 2519 ซึ่งพวกเราก็นั่งแท็กซี่ไปด้วยกัน 4 คน ครั้นถึงหน้าบ้านเลขที่ 19 ซอยพระพินิจ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ซอยสวนพลู” ก็ลงรถแล้วไปกดออดที่หน้าประตู สักครู่หนึ่งพี่หละก็พาพวกเราเข้าไปในบ้าน ผ่านเข้าไปในศาลาไทยหลังใหญ่ทางขวามือ แล้วเดินผ่านสวนน้ำพุไม้ดัด ที่เชื่อมต่อศาลาไทยหน้าบ้านเข้ากับหมู่เรือนไทยตรงกลาง ณ ใต้ถุนกลุ่มเรือนไทยนี้เองที่พวกเราได้พบกับท่านเจ้าของบ้าน ซึ่งกำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายหลายฉบับอยู่ตรงเก้าอี้หัวโต๊ะ ซึ่งเป็นโต๊ะสำหรับทานข้าวยาวสัก 3 เมตร มีเก้าอี้บุหวายตั้งรายรอบอยู่ 12 ตัว นับว่าเป็นโต๊ะกินข้าวที่ใหญ่มากในความรู้สึกของผม ซึ่งความรู้สึกแรกของพวกเราก็คือ “ท่านเจ้าของบ้านนี้คงยิ่งใหญ่จริงๆ” พวกเรายกมือไหว้ท่าน เมื่อท่านบอกให้นั่ง พวกเราคนหนึ่งก็เริ่มแนะนำตัวพวกเราทั้งสี่คน แล้วก็บอกถึงธุระที่เรามาพบท่านในวันนี้ ผมสังเกตดูหน้าเพื่อนๆ อีก 2 คนที่นั่งอยู่เฉยๆ ว่านั่งก้มหน้าตัวเกร็งเช่นเดียวกันกับผม ในขณะที่สุนัขคู่ใจของท่านตัวหนึ่งที่เป็นหมาฝรั่งตัวอ้วนๆ หูยาวๆ ตูบอยู่แนบหน้า ลำตัวสีขาวดำและน้ำตาล ที่ชื่อว่า “สามสี” หมอบอยู่ข้างเก้าอี้ที่ท่านนั่ง ส่วนอีกตัวหนึ่งเป็นหมาไทยหลังอานสีดำ ยืนเห่าอยู่หัวโต๊ะข้างๆ ท่าน จนท่านบอกให้หยุดก็หยุด แล้วท่านก็พูดขึ้นมาว่า “เดี๋ยวธุระเอาไว้ค่อยๆ พูดกัน มาเหนื่อยๆ กินน้ำกินท่ากันก่อน มีใครดื่มเหล้าบ้างไหม รุ่นพี่ๆ มาที่นี่เขาชอบกินเหล้ากันหลายคน” ซึ่งพวกเราก็ขอแค่น้ำเปล่าพร้อมคำขอบคุณ ในการพบกันวันนั้น ทำให้เราทราบว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้ “ร้ายกาจ” อย่างที่ใครๆ ร่ำลือกัน แต่กลับพบว่าท่านมีเมตตาสูงมาก ตั้งแต่ที่ท่านยิ้มต้อนรับเราตั้งแต่ที่เห็นเราไกลๆ กำลังมุดหัวเข้ามาที่ได้ถุนบ้าน (หลายท่านที่เคยไปบ้านซอยสวนพลูคงจะทราบว่าใต้ถุนบ้านนี่สูงเรี่ยๆ ศีรษะ ถ้าคนสูงเกิน 180 เซ็นติเมตร ศีรษะจะชนคานพอดี พวกเราที่สูง 170 กว่าๆ เป็นส่วนใหญ่จึงต้องก้มหัวระวังด้วยความที่ยังไม่คุ้นเคย) ทั้งยังเชิญชวนให้นั่งให้สบายและดื่มน้ำเสียก่อน รวมถึงการพูดคุยกันนานเกือบชั่วโมงที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ เช่น เรื่องของคณะรัฐศาสตร์ที่ท่านเคยสอน และเรื่องลูกศิษย์ลูกหาหลายๆคน ซึ่งเต็มไปด้วยความเป็นกันเอง และที่สำคัญก็คือ “ความเป็นมนุษย์” อย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน “ความเป็นมนุษย์” นี้ก็คือความรู้สึกที่ว่าพวกเรากับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ “ก็เป็นคนเหมือนๆ กัน”