ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: กดชัตเตอร์ไปตั้งคำถามในใจ เพราะเหตุใดปราสาทขอมหลังนี้ตั้งโดดเดี่ยวบริเวณริมแม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี น่าจะเป็นปราสาทขอมเพียงแห่งเดียวในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ออกไปเที่ยวทริปนี้ เป็นทริปสั้นๆ เที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ช่วงต้นฤดูหนาวกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถืออัพเดทภาพถ่ายปราสาทไปในตัวจากที่ห่างเหินไปนานหลายปี กดชัตเตอร์ไปตั้งคำถามในใจ เพราะเหตุใดปราสาทขอมหลังนี้ตั้งโดดเดี่ยวบริเวณริมแม่น้ำแควน้อยแถบนี้ แล้วได้คำตอบจากข้อมูลอุทยานฯ พอสังเขปได้ว่า บริเวณนี้เคยเป็นเมืองโบราที่เรียกว่า “เมืองสิงห์” แต่ก่อนหน้าจะเป็นเมืองสิงห์นั้น นักโบราณคดีมีการขุดค้นพบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย เป็นหลุมฝังศพมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ฝังร่วมกับศพ อาทิ ภาชนะดินเผา แวดินเผา ภาชนะสำริด (ขวาน ทัพพี กำไล) ลูกปัดหินอะเกตและคาร์นีเลียน กำไลหิน ลูกปัดแก้ว กำไลเปลือกหอย ฯลฯ กำหนดอายุอยู่ในราวปลายยุคโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้มีคนเข้ามาทำกิจกรรมก่อนหน้าที่จะมีการสร้างเมืองเป็นเวลานานนับพันปี แต่น่าเสียดายไม่ปรากฏหลักฐานแสดงความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมของบริเวณนี้จากสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาสู่ยุคที่มีการสร้างเมือง ลุมาถึงสมัยเมืองสิงห์ ช่วงเวลาที่มีการสร้างเมือง ปรากฏหลักฐานอยู่จำนวนมาก ผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร มีคูเมือง คันดิน และกำแพงเมืองศิลาแลงล้อมรอบ กลางเมืองมีโบราณสถานทรงปราสาทสร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะขอมแบบบายน โบราณวัตถุที่เป็นประติมากรรมตามลักษณะศิลปะขอมแบบเดียวกัน จากลักษณะศิลปกรรมสามารถกำหนดอายุปราสาทหลังนี้ น่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 หรือในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1720 ถึง 1780) กษัตริย์นักสร้างปราสาทขอม นอกจากนี้ในศิลาจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ทำขึ้นโดยเจ้าชายวีรกุมาร โอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีข้อความสรรเสริญและตอนหนึ่งกล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ 23 หัวเมือง ที่พระราชบิดาประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถ อันเป็นรูปฉลองพระองค์ ได้ระบุชื่อเมือง 6 เมือง สันนิษฐานว่าอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่ ลโวทยะปุระ (เมืองละโว้หรือลพบุรี พระปรางค์สามยอด) สุวรรณปุระ (เมืองโบราณที่เนินทางพระ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี) ศัมพูกปัฏฏนะ (เมืองโบราณที่สระโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี) ชัยราชบุรี (วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ราชบุรี) ศรีชยวัชรบุรี (วัดกำแพงแลง อ.เมือง จ.เพชรบุรี) และ ศรีชัยสิงหบุรี เชื่อกันว่าคือเมืองสิงห์ ที่ตั้งปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี อย่างไรก็ดี นักวิชาการบางท่านได้เห็นต่างออกไป เนื่องจากพบความแตกต่างในรูปแบบของกลุ่มปราสาทขอมพื้นที่แถบตะวันออก และภาคอีสานของไทยกับกลุ่มปราสาทขอมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หลักฐานทั้งหมดมิได้ปฏิเสธความสัมพันธ์ทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างละโว้กับเมืองพระนครในกัมพูชา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี นางปรัชญาปารมิตา ส่วนการสร้างปราสาทขอมเมืองสิงห์ สันนิษฐานกันว่าคอยควบคุมดูแลเส้นทางการค้าที่เชื่อมระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่อาณาจักรขอมล่มสลายในพุทธศตวรรษที่ 19 ปราสาทถูกทิ้งร้างผุพังไปตามกาลเวลา จนกระทั่ง พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเมืองสิงห์เป็นโบราณสถานของชาติ และ พ.ศ. 2517 เริ่มดำเนินบูรณะโบราณสถาน พัฒนาพื้นที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์ และดำเนินการบริหารจัดการในรูปอุทยานประวัติศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย สำหรับข้อมูลชมปราสาทขอมเมืองสิงห์ ทางอุทยานฯ มีคู่มือหรือแผ่นพับนำชมไว้บริการ อธิบายแต่ละจุดของพื้นที่และตัวปราสาทได้ดีทีเดียว หนาวนี้ไปเที่ยวกาญจนบุรี นอกเหนือจากล่องแพ ชมน้ำตกไทรโยค และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ แล้ว ควรบรรจุโปรแกรมเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์เข้าไปด้วยก็ดี ชมคลิป https://www.youtube.com/watch?v=aYiCx9u2jl0&t=18s