เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 พ.ย.62 ที่ห้องประชุมสำนักงานทางหลวงที่ 10 นครราชสีมา (สนง.ทล.10 นม.) นายสมชัย ชูณรงค์ ผู้อำนวยการ สนง.ทล.10 นม. เป็นประธานการดำเนินประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) โดยมีผู้แทนส่วนราชการ ผู้ประกอบการค้าและประชาชนที่มีบ้านพักและที่ทำกินในละแวกโครงการ ฯ รับฟังนายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ผู้จัดการโครงการ ฯ ชี้แจงความเป็นมาของโครงการ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอและมอบหมายให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณในเขตเมือง นครราชสีมา ระบุรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) เส้นทางสายสีเขียว มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อรถไฟทางคู่ รถไฟไทย-จีนและการฟื้นฟูสภาพตัวเมืองเก่า มีจุดเริ่มต้นตลาดเซฟวันถึงสถานีคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ รวมระยะทางประมาณ 11.17 กิโลเมตร รวมสถานีจำนวน 20 แห่ง เช่นตลาดเซฟวัน สำนักคุมประพฤติ สวนภูมิรักษ์ เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท และเพิ่ม 2 บาท ซึ่งคิดจากจำนวนสถานีปลายทาง

นายเทิดศักดิ์ ผจก.โครงการ ฯ เปิดเผยว่า ภาพรวมจากการประชุมกลุ่มย่อยและเปิดรับฟังความคิดเห็นรวม 4 ครั้ง ชาวโคราชตอบรับค่อนข้างดีมาก แต่มีส่วนหนึ่งเสนอให้ปรับเปลี่ยนเส้นทางที่ไม่สามารถตอบโจทย์การเดินทางได้ครอบคลุม ทุกเวทีเราเปิดรับทุกข้อเสนอ เพื่อนำไปปรับปรุงและพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งหลักวิชาการและงบต้องอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อมติส่วนใหญ่เห็นชอบและผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ ขั้นตอนต่อไปเป็นการคัดเลือกผู้รับจ้างในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและอนุมัติ เบื้องต้นประมาณการค่าก่อสร้างกิโลเมตรละ 752 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 8,400 ล้านบาท สามารถดำเนินโครงการช่วงปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี

อย่างไรก็ตาม หากความต้องการส่วนใหญ่ให้ปรับเปลี่ยนเส้นทาง ก็ต้องนำกลับไปทบทวนใหม่ เพื่อเสนอขอมติ คจร. พิจารณา จะทำให้ชาวโคราชเสียโอกาสได้ใช้บริการขนส่งมวลชนล่าช้าออกไปอีกพอสมควร นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของชาวโคราชมีค่อนข้างน้อย ทั้งๆที่ได้ส่งจดหมายไปทุกบ้าน ครั้งต่อไปจะต้องทำการบ้านให้เข้มข้นกว่านี้ โดยเดินเคาะประตูบ้านเป้าหมายให้มากที่สุด ผจก.โครงการ ฯ กล่าว

ด้านนายอัคคชา พรหมสูตร อดีตสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ความฝันของชาวโคราช หากโครงการเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะลดการใช้รถยนต์ที่สร้างมลพิษในอากาศ เส้นทางสีเขียว จะสมบูรณ์แบบและชาวโคราชจะได้ประโยชน์สูงสุด หากยายสถานีเริ่มจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานศึกษามัธยมชื่อดังประจำจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนนักเรียนกว่า 5 พันคันและสิ้นสุดที่ทางแยกจอหอที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากตำบลรอบนอกและอำเภอสำคัญ