นายจาตุรันต์ สมิทธ์ภินันท์ สหกรณ์จังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 เพิ่มเติมรวม 1.9 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ พัมนาเสรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็งและส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น จังหวัดนครพนมจึงได้เสนอ “กิจกรรมสร้างความเข้มแข็งข้าวหอมมะลิอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเพื่อพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ในกลุ่มจังหวัดผ่านระบบสหกรณ์ของกลุ่มจังหวัดเพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพของโรงสีสหกรณ์” บรรจุใน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของกลุ่มจังหวัด”งบเพิ่มเติมปี 2560 งบประมาณจำนวน 110,654,000 บาท ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณสนับสนุนเงินลงทุนก่อสร้างโรงสีข้าวอินทรีย์ขนาด 80 ตัน พร้อมอุปกรณ์การตลาดได้แก่โรงสีขนาด 80 ตันต่อวันพร้อมโรงคลุม รั้วขนาด 260 คูณ2.5 เมตร รถตักขนาด 2 ตัน ลานตาก ขนาด 2,000 ตารางเมตร โกดังขนาด 2,000 ตัน เครื่องอบลดความชื้นขนาด 250 ตันต่อวัน รวมเป็นงบประมาณจำนวน 109,600,000 บาท ที่เหลืออีก 1,054,000 บาท เป็นงบจ้างเหมาตรวจรับรองมาตรฐานโรงสีข้าวอินทรีย์ ศึกษาดูงาน และการประชุม ซึ่งงบประมาณดังกล่าวได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา จึงจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560นี้ นายจาตุรันต์ สมิทธ์ภินันท์ สหกรณ์จังหวัดนครพนม สหกรณ์จังหวัดนครพนม กล่าวว่า สำหรับสถานที่ก่อสร้างโรงสีข้าวอินทรีย์จะใช้พื้นที่ของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.นครพนม จำกัด บ้านโคกทรายคำ ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.นครพนม จำกัด จะเป็นผู้รับดำเนินการสีข้าวอินทรีย์จากสหกรณ์ชุมชนเกษตรอินทรีย์นครพนม จำกัด เพราะมีบุคลากรพร้อมในการดำเนินงาน ส่วนในด้านการบริหารจัดการในภาพรวมตามโครงการฯ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพื่อกำหนดกรอบ แนวทาง แนะนำ วางแผนการดำเนินงานโครงการฯ โดยที่โรงสีและอุปกรณ์ยังคงเป็นของทางราชการ สหกรณ์จึงมิได้แบกรับต้นทุนในส่วนนี้แต่อย่างใด แต่จะต้องใช้งานดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ นายจาตุรันต์ สมิทธ์ภินันท์ กล่าวอีกว่า ส่วนการผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อป้อนโรงสีดังกล่าวนั้น เกษตรกรเครือข่ายผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร จะเป็นผู้ผลิต โดยมีสหกรณ์ชุมชนเกษตรอินทรีย์นครพนม จำกัด เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้าวเพื่อส่งโรงสีสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.นครพนม จำกัด เป้าหมายข้าวเปลือก 15,000 ตันต่อปี เป็นข้าวสารหรือต้นข้าว 8,000 ตันต่อปี ซึ่งหากได้ปริมาณข้าวตามเป้าหมายดังกล่าว จะสามารถยกระดับราคาข้าวเปลือกอินทรีย์ ได้ราคากิโลกรัมละ 25 บาท ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรจะสามารถขายข้าวได้ราคากิโลกรัมละ 25 บาททันที แต่ราคาดังกล่าวจะแฝงมาในรูปของการแปรรูปและจำหน่ายเป็นข้าวสารแล้ว หรือการใช้ประโยชน์จากโรงสีข้าวอินทรีย์ที่ได้รับ โดยการเพิ่มราคาข้าวเปลือกดังกล่าวจะมาจากการที่ลดต้นทุนในการขนส่งข้าวเปลือกที่เคยส่งไปสีที่ต่างจังหวัดลดลง ค่าใช้จ่ายคงที่ในการแปรรูปลดลง รวมทั้งส่วนเหลือจากการแปรรูป เช่น ปลายข้าว รำ แกลบ ซึ่งเป็นอินทรีย์ทั้งสิ้นสามารถจำหน่ายนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ เป็นปศุสัตว์อินทรีย์และประมงอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี เหล่านี้จึงนำมาคำนวณกลับเป็นราคาที่สามารถเพิ่มราคาข้าวเปลือกเป็นกิโลกรัมละ 25 บาทขึ้นได้