กรมชลประทานชี้แจง กรณีกลุ่มฮักแม่น้ำเลยและผู้คัดค้านโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก เรียกร้องให้ชะลอการดำเนินโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนกว่าจะมีการสรุปหลังการจัดเวทีสาธารณะ ที่แต่ละฝ่ายจะต้องนำเสนอข้อมูลที่มีข้อดีและผลกระทบอื่นๆ ตามที่จะมีการออกแบบร่วมกันก่อน พร้อมทำบันทึกข้อตกลงตามข้อเสนอของชาวบ้าน 7 ข้อ ระหว่างกรมชลประทาน กลุ่มฮักน้ำเลย และส่วนราชการ นั้น เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นว่า โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลย เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการโครงการฯ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 6 ปี (ปีงบประมาณ 2561-2566) ก่อนได้รับอนุมัติโครงการข้างต้น กรมชลประทานได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาวางโครงการและสำรวจออกแบบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ในระหว่างการศึกษาได้มีการประชุมประชาสัมพันธ์กับผู้นำท้องถิ่นและราษฎรในพื้นที่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ รวมทั้งการตัดสินใจ โดยมีการประชุมย่อย 10 ครั้ง ประชุมใหญ่ 1 ครั้ง ผลสรุปราษฎรส่วนใหญ่เห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯร้อยละ 70 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 10 และไม่แน่ใจร้อยละ 20 ต่อมาในช่วงปี 2558-2559 ยังได้มีการประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจอีกมากกว่า 10 ครั้ง ซึ่งได้ข้อสรุปเห็นชอบให้ขับเคลื่อนโครงการฯ โดยให้มีการชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และผลกระทบให้ราษฎรได้รับทราบ รวมทั้งรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของราษฎร เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินโครงการฯอย่างต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ ซึ่งเมื่อดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในช่วงฤดูฝนได้ถึง 72,500 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 18,100 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 44 หมู่บ้าน 7 ตำบล คือ เชียงคาน นาซ่าว ปากตม หาดทรายขาว เขาแก้ว จอมศรี และธาตุ อำเภอเชียงคาน รวม 9,287 ครอบครัว ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอตลอด ทั้งปีได้อีกด้วย สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้น เนื่องจากโครงการมีพื้นที่ชลประทานไม่ถึง 80,000 ไร่ ประกอบกับการก่อสร้างประตูระบายน้ำไม่ได้อยู่ในแม่น้ำสายหลัก และไม่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 รวมทั้งไม่ได้เป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก จึงไม่เข้าข่ายตามประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม คุณภาพชีวิต การสืบสานประเพณี วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ ได้กำหนดแผนงานอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม รวม 19 แผนงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ หากมีการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้ทำหนังสือแจ้งคณะกรรมการบริหารจัดการร่วมโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้มีการแต่งตั้งไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ให้เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง ส่วนข้อกังวลเรื่องการทำความเข้าใจกับเจ้าของพื้นที่ก่อนการเข้าไปดำเนินการใดๆ เช่น การปักธง การฝังหมุดในพื้นที่นั้นกรมชลประทาน โดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้มีหนังสือขออนุญาต และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปประสานงานชี้แจงหน่วยงานส่วนท้องถิ่น รวมทั้งราษฎรในพื้นที่บ้านกลาง เพื่อให้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังได้แต่งตั้งผู้ประสานงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ คณะทำงานบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฝ่ายจังหวัดเลย และกรมชลประทาน เพื่อเป็นผู้แทนในการประสานงานร่วมกันดำเนินโครงการฯให้เดินหน้าลุล่วงด้วยดีต่อไป “กรมชลประทาน ขอยืนยันว่า ในการดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกโครงการทั่วประเทศ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบ กฎหมาย รวมไปถึงการสำรวจผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม การขออนุญาตใช้พื้นที่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นในระยะต่อไปอย่างยั่งยืน”รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว