สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เผยภาพ ทางช้างเผือกสีแดงจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ โดยระบุ “ศูนย์กลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราซ่อนอยู่ในกลุ่มเมฆฝุ่นและแก๊ส ไม่สามารถสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น แต่จากมุมมองของ "กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์" ที่ศึกษาในช่วงคลื่นอินฟราเรดสามารถส่องผ่านฝุ่นจำนวนมาก เผยให้เห็นดวงดาวที่อยู่กันอย่างหนาแน่นบริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ และกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ที่กำลังจะส่งขึ้นสู่อวกาศ ในอนาคตอันใกล้นี้
ศูนย์กลางกาแล็กซีของเราเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยดาวฤกษ์ที่กระจุกตัวกันอย่างหนาแน่น มีหลุมดำที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 4 ล้านเท่า ล้อมรอบด้วยดาวนับล้านดวงที่เคลื่อนที่ไปรอบๆ ด้วยความเร็วสูง สภาพแวดล้อมที่รุนแรงนี้ตลบอบอวลไปด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตและรังสีเอ็กซ์
ปัจจุบันองค์การนาซากำลังเตรียมการที่จะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ เพื่อใช้สังเกตการณ์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด จะกลายเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทันสมัยที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงยิ่งกว่ากล้องสปิตเซอร์ หลังจากเริ่มใช้งาน กล้องเจมส์เวบบ์จะรวบรวมภาพถ่ายในช่วงคลื่นอินฟราเรดซึ่งเผยให้เห็นรายละเอียดของศูนย์กลางกาแล็กซีทางช้างเผือกที่ยังไม่เคยมีกล้องโทรทรรศน์ตัวใดทำได้มาก่อน
เรียบเรียง : วทัญญู แพทย์วงษ์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง
https://www.nasa.gov/image…/revealing-the-milky-way-s-center”
ภาพจาก https://www.nasa.gov/image…/revealing-the-milky-way-s-center”