นับเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ชุมชนในพื้นที่ เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน          (19พ.ย.62) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมประสานความร่วมมือในการปรับปรุงและพัฒนาเมืองระหว่างกรุงเทพมหานคร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และกลุ่ม WE PARK เรื่อง “แนวทางการพัฒนาสะพานเขียวเชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินี - สวนเบญจกิติ” และ “การพัฒนาย่านกะดีจีน” ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า)          นางจินดารัตน์ ชโยธิน และ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุม ในส่วนของการพัฒนาสะพานเขียวเชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินี - สวนเบญจกิติ ระยะทาง 1,300 เมตร ในพื้นที่เขตคลองเตยและปทุมวัน เบื้องต้นจะปรับปรุงตัวสะพาน พื้นผิว ทางเดิน-จักรยาน เพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง ให้มีความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการใช้เส้นทาง ทั้งนี้ มีสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการที่ปักหมุด “สะพานเขียว” เป็นหนึ่งในจุดอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งผู้ว่าฯให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยมาก ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้เข้าไปแก้ไขแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ จึงได้มีโครงการพัฒนาฯ ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดยนำแบบการพัฒนาจาก The High Line นิวยอร์ก ที่พัฒนาทางรถไฟเก่าเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า เป็นหนึ่งในสถานที่สวยงามที่สุดในโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแบบจะได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และเริ่มดำเนินการ ใช้เวลา 150 วัน งบประมาณปรับปรุงเบื้องต้น 39 ล้านบาท ระยะต่อไปจะพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องให้ชุมชมโดยรอบมีส่วนร่วม ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ช่วยเพิ่มเศรษฐกิจชุมชน         สำหรับการพัฒนาย่านกะดีจีน จะปรับปรุงทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน ความยาว 650 เมตร รูปแบบจะทำซุ้มต้นไม้ ทำระเบียงทางเดินใหม่ และเพิ่มทางขึ้น-ลง อยู่ระหว่างกระบวนการหาผู้รับจ้าง คาดจะเริ่มดำเนินการได้เดือนมีนาคม 2563 ใช้เวลา 360 วัน ใช้งบประมาณ 133 ล้านบาท จะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2564 ทางเดินนี้จะเชื่อมต่อกับโครงการพระปกเกล้าสกายปาร์ค (สะพานด้วน) ที่จะดำเนินการเสร็จเดือนมีนาคม 2563 เป็นทางเดินส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ โดย UDDC เสนอโครงการ "ระเบียงธรรม 3 ศาสนา" ชมมรดกวัฒนธรรมของย่าน ทั้งวัด โบสถ์ และมัสยิด ระยะต่อไปจะพัฒนาตรอกดิลกจันทร์ ซึ่งมีบ้านพักสมเด็จย่าฯ และอุทยานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พื้นที่สีเขียวประวัติศาสตร์ แผนอนาคตจะพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อไปยังคลองโอ่งอ่าง และคลองบางลำพู อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้เดินหน้าทุกโครงการด้วยความโปร่งใส เหมาะสมและเกิดความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เดินได้ น่าอยู่ น่าชม และน่าอยู่อาศัย และเป็นเมืองที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง ทั้งนี้การร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชน จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม อันจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากเพจ Urban Design and Development Center