เสียงดนตรีบรรเลงจาก สะล้อ ซอ ซึง เครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนา และเครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ สอดประสานกับเสียงลมจากธรรมชาติ สร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ได้รับฟังไม่น้อย และเมื่อได้เข้าไปสัมผัส หรือรับชมอย่างใกล้ชิด ยิ่งสร้างความแปลกใจ และประทับใจได้เป็นอย่างมาก กับท่วงท่า ลีลาในการบรรเลงทำนองเพลงของกลุ่มเด็กๆ เยาวชน ที่ได้ใช้เวลาว่าง ร่วมอนุรักษ์สานต่อวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา และเรียนรู้ศิลปะหลากหลายแขนงใน “สวนศิลป์เตาออนใต้” “สวนศิลป์เตาออนใต้” - โรงเรียนภูมิปัญญาของชาว ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในต้นแบบโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) หมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และบริการ เพื่อให้เกิดมูลค่าใหม่ทางเศรษฐกิจบนแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการสร้างรากฐานชุมชนให้แกร่งจาก “ข้างใน” เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน เพื่อรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 นายอนันต์ พรหมลิขิตศิลป์ หรือ “ครูอนันต์” ของเด็กๆ ในชุมชนออนใต้ ครูภูมิปัญญาที่รอบรู้ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และร้อยเรื่องเล่าของชาวออนใต้ ผู้ที่เปิดบ้านให้เด็กๆ ที่มีความสนใจในด้านศิลปะ ได้มาเรียนปั้นดิน วาดภาพ รวมถึงการแสดงดนตรีพื้นบ้านทั้ง สะล้อ ซอ ซึง กลองสะบัดชัย และฟ้อนประเภทต่างๆ วงดนตรีพื้นบ้านเยาวชนชุมชนเตาออนใต้ “การอยากตอบแทนบ้านเกิดหลังวัยเกษียณ เป็นจุดกำเนิดของ “สวนศิลป์เตาออนใต้” แห่งนี้ จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากความชอบและความถนัดในศิลปะแขนงต่างๆของตัวผม บวกกับความสนใจของเด็กๆในชุมชน ที่แวะเวียนมาเที่ยวเล่นกันอยู่เสมอ จึงชักชวนพวกเขามาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยทุกๆ กิจกรรมจะสอดแทรกภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นชุมชนลงไป เพราะการกลับไปสู่การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเยาวชน จะก่อให้เกิดความเข้าใจ ในตนเอง ชุมชน สังคม วัฒนธรรมมากขึ้น ความรักและหวงแหนในสิ่งเหล่านี้ก็จะเพิ่มมากขึ้น เริ่มต้นจากการสอนให้ขีด เขียน วาดลวดลาย แล้วจึงเพิ่มในส่วนของงานปั้น ดนตรี การแสดงพื้นเมือง สะล้อ ซอ ซึง กลองสะบัดชัย การฟ้อนดาบ ฟ้อนเล็บ รวมถึงห้องสมุดบ้านดิน ให้เด็กๆ หรือชาวบ้านทั่วไปได้แวะเวียนมาอ่านหนังสือ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฝึกสมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพวกเขา ไม่ให้ถูกดึงไปอยู่ในวงล้อมของอบายมุข เป็นการแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มเด็กๆ และชาวบ้านทีละนิดๆ ให้พวกเขาได้ตระหนักเห็นคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น มรดกล้ำค่าของชุมชนที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นบรรพบุรุษ ซึ่งพวกเขาจะต้องเป็นผู้สืบทอดมรดกเหล่านี้ต่อไป อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานสักนิด แต่ผลลัพธ์ของมันคุ้มค่าครับ” ครูอนันต์ กล่าว “สวนศิลป์เตาออนใต้” จุดนัดพบในยามว่าง บ้านหลังที่สองของเด็กๆในชุมชน ที่ถูกดัดแปลงจากบ้านพักอาศัย เป็นโรงเรียนสอนงานศิลป์ มีการจัดสรรพื้นที่เป็นโซนต่างๆอย่างลงตัว ทั้งโซนห้องสมุดบ้านดิน ลานดนตรี ลานศิลปะ มีบริเวณกว้างขวาง โอบล้อมไว้ด้วยธรรมชาติ ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้เหล่าสมาชิกตัวน้อยได้เป็นอย่างดี ก๊อต - กิจกรรมศิลปะในสวนศิลป์ ด้านสมาชิกตัวน้อย ก๊อต - ด.ช.สิทธิชัย นาระต๊ะ อายุ 11 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดบ้านโห้ง ละอ่อนน้อยผู้มีใจรักในงานศิลป์เล่าให้ฟังว่า “ผมชอบงานศิลปะทุกชนิดโดยเฉพาะดนตรี เพราะดนตรีทำให้ทุกคนยิ้มได้ และทำให้มีสมาธิมากขึ้นด้วย เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ผมเริ่มต้นเล่น คือ กลองสะบัดชัย และค่อยๆ ฝึกฝนเล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ เช่น สะล้อ ซอ แต่ที่ถนัดที่สุด คือ “ซึง” ผมชอบเล่นซึงให้แม่ ครู และเพื่อนๆ น้องๆ ฟัง เพราะในปัจจุบันหาเพลงซึงฟังได้ยากแล้ว เพื่อนๆ พี่ๆ ต่างให้ความสนใจกับเครื่องดนตรีสากลกันมากกว่า ทำให้คนเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านลดน้อยลง คนรู้จักเครื่องดนตรีเหล่านี้ก็ลดน้อยลงด้วย ครูอนันต์จึงสอนพวกผม และตั้งเป็นวงดนตรีพื้นบ้าน สวนศิลป์เตาออนใต้ ขึ้นมา เพื่อช่วยกันถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ ผ่านการแสดงโชว์ต่างๆ ให้คนทั่วไปได้รับรู้ครับ นอกจากเล่นดนตรีแล้ว ผมชอบปั้นดินหรือวาดภาพตามจินตนาการ เป็นการถ่ายทอดความคิดของผมออกมาในรูปของผลงาน สามารถเก็บไว้ดูได้ด้วย ซึ่งการเรียนรู้ในสวนศิลป์กับครูอนันต์ นอกจากจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างความสุข สนุกสนานให้กับพวกเราทุกคนแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านของชุมชนออนใต้ของพวกเราไว้ด้วยครับ- ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ : [email protected]