ช่างสิบหมู่โชว์แบบพระโกศพระบรมอัฐิ ร.9 จะนำไปประดิษฐานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นครั้งแรกสร้างพระโกศทองคำลงยา9เหลี่ยม ประดับเพชรเจียระไนสีขาวอลังการ 5,368 เม็ด ยาสี 3 สี เหลือง แดง เขียว ส่วนยอดเป็นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น
ความคืบหน้าการจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่จะนำไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
นายอำพล สัมมาวุฒิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม)) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนของพระโกศทรงพระบรมอัฐิที่จะนำไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ออกแบบพระโกศทองคำองค์นี้ โดยพระโกศพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 9 ได้ออกแบบเป็นพระโกศเก้าเหลี่ยมตลอดองค์เป็นครั้งแรก เพื่อให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ 9 ยอด ซึ่งแตกต่างจากแบบของพระโกศพระบรมอัฐิที่นิยมสร้างกันมาเป็นพระโกศแปดเหลี่ยม นอกจากนี้ แนวคิดยังสื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระบรมราโชวาทของพระองค์ หรือ 9 คำพ่อสอน อาทิ ความเพียร ความซื่อสัตย์ ความดี คุณธรรม ความรู้ตัว ความพอดี โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระราชทานแก่คนไทย ถือเป็นประโยชน์น้อมนำมาปฏิบัติในการดำรงชีวิต
นายอำพล กล่าวลักษณะโดยรวมของพระโกศองค์นี้ว่า เป็นตามแบบอย่างพระราชประเพณี องค์พระโกศประกอบด้วยส่วนต่างๆ 5 ส่วน ดังนี้
ส่วนฐานประกอบด้วยฐานสิงห์ ถัดขึ้นมาเป็นหน้ากระดานล่างประดับด้วยลายประจำยามก้ามปู เหนือขึ้นมาเป็นลายแข้งสิงห์ ประดับด้วยกาบแข้งสิงห์ ปากสิงห์ พื้นลายลงยาสีแดงทำเป็นลายก้านขดใบเทศ ทั้ง 9 ด้าน เหนือลายแข้งสิงห์เป็นลายบัวหลังสิงห์ เหนือจากฐานสิงห์ประกอบด้วยฐานบัวเชิงบาตรซ้อน 2 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นลายบัวหงายรับหน้ากระดาน ส่วนฐานยังประกอบด้วยลายท้องไม้ลายกลับบัวหงาย ลายเกสรบัว ประดับรัตนชาติ ลวดลายส่วนฐานตามแบบพระราชประเพณี แสดงโครงสร้างใช้สำหรับตั้งสิ่งที่สำคัญ ควรเคารพ และบ่งบอกฐานานุศักดิ์พระมหากษัตริย์
ส่วนองค์พระโกศเป็นลายกลีบบัวจงกลซ้อนขึ้นไปหาปากพระโกศ จำนวน 4 ชั้น ตรงกลางทำเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. เมื่อนำไปประดิษฐานบนพระวิมานพระบรมอัฐิในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจะหันด้านนี้ออก โดยพระนามาภิไธยย่อวางบนรัตนชาติ ส่วนฝาพระโกศทำเป็นยอดทรงมงกุฎเกี้ยวมาลัยทองเรียงลำดับขึ้นไปตั้งแต่ชั้นที่ 1,2,3 และ 4 ช่างศิลปะไทยโบราณเรียก “ทรงจอมแห” ส่วนยอดพระโกศสร้างสองแบบ ได้แก่ แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ประดับเพชร และแบบสุวรรณฉัตร ฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ในส่วนเครื่องประดับพระโกศ ทำด้วยเงินประดับด้วยเพชร อย่างดอกไม้เอว ดอกไม้ไหวหรือดอกไม้เพชร เฟื่องอุบะ และดอกไม้ทิศ จะมีขนาดลดหลั่นกันตามความเหมาะสม
“ยอดพระโกศที่เป็นสุวรรณฉัตรของพระโกศพระบรมอัฐิที่ผ่านมา ทำฉัตร 5 ชั้น 7 ชั้น แต่พระโกศองค์นี้สร้างเป็นพระนพปฏลมหาเศวตฉัตร ฉัตร 9 ชั้น เป็นฉัตรทองประดับลวดลายกรวยเชิงประดับเพชรที่มีกระจังเข็มขัดล้อม ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศเข้าพระบรมมหาราชวัง กระทั่งเก็บรักษาไว้บนพระวิมานพระบรมอัฐิจะถอดเปลี่ยนเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ นอกจากพระโกศทองลงยาแล้ว ยังมีพระโกศศิลา และฐานไม้กลึงแกะสลักลงรักปิดทองสำหรับรองรับยอดพระโกศเมื่อถอดผลัดเปลี่ยนในงานราชพิธี”
นายอำพล นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ กล่าวพระโกศทองคำลงยาสีองค์นี้อีกว่า ประดับเพชรอย่างอลังการเพื่อให้สมพระเกียรติ ขนาดฐานกว้าง 20 เซนติเมตร วัดจากฐานถึงยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ สูง 80 เซนติเมตร วัดจากฐานถึงยอดฉัตร สูง 99 เซนติเมตร รัตนชาติที่ใช้ประดับพระโกศเป็นเพชรเจียระไนสีขาว มีตั้งแต่ขนาดเล็กและใหญ่ตามความเหมาะสม รวมทั้งสิ้น 5,368 เม็ด ส่วนยาสีที่ใช้ตกแต่งพระโกศ มี 3 สี ได้แก่ สีเหลือง สีประจำวันพระราชสมภพ สีแดง สีแห่งความเข้มแข็งการหลอมรวมดวงใจของคนในชาติ และสีเขียว สีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของประเทศด้วยพระเมตตาบารมีแด่ประชาชนทุกภาค
“ระหว่างการปรับแบบของพระโกศองค์นี้ คณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศฯ ได้เห็นชอบให้มีการสร้างหุ่นจำลองปูนปลาสเตอร์ควบคู่ไปด้วย ได้จัดทำเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปกลุ่มงานช่างบุ กลุ่มประณีตศิลป์จะนำหุ่นปูนไปหล่อไฟเบอร์กลาส เมื่อเบิกทองได้แล้วจะรีดทองให้เป็นแผ่น แล้วขึ้นหุ่นทองคำ โดยนำแผ่นทองมาล้อมบุเป็นทรงกระบอกประกอบเข้าเป็นชั้นๆ จับเหลี่ยมทั้ง 9 ให้คมชัด แล้วสลักดุนลวดลายจนสำเร็จระหว่างนั้นช่างบุจะตอกช่องใส่เพชรลงไปด้วย โดยทุกขั้นตอนพิถีพิถันมาก ต้องใช้ช่างบุที่มีทักษะฝีมือสูง ซึ่งตนและผู้เชี่ยวชาญศิลปะไทยจะควบคุมการจัดสร้างและใส่ลวดลาย สามารถปรับลดได้เพื่อความสมบูรณ์ ซึ่งตนภูมิใจที่สุดได้ออกแบบพระโกศองค์นี้ถวายในหลวง ร.9 พระองค์อยู่ในดวงใจและสร้างความร่มเย็นให้บ้านเมืองด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นายอำพล กล่าว