ในยุคดิสรัปชั่นที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว ศาสตร์ด้านสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics: STEM Education) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เมื่อเร็วๆ นี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล หรือศูนย์ MUSC-STEM EDUCATION ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ Euro-Asia Collaboration for Enhancing STEM Education (EASTEM) โดยได้รับทุนสนับสนุนงบจากErusmus+ Programme ประกอบด้วย เครือข่ายความร่วมมือจาก 15 สถาบันที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านสะเต็มศึกษา ทั้งในยุโรป (สวีเดน ลิทัวเนีย ฝรั่งเศส) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย) โดยมีมหาวิทยาลัย Uppsalaประเทศสวีเดน เป็นสถาบันหลักของเครือข่าย ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศ MUSC-STEM EDUCATION ตั้งอยู่ ณ ชั้น1อาคารวิทยาศาสตร์ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา รศ.ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ์ ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศ MUSC-STEM EDUCATION เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาศูนย์ฯมีบทบาทสนับสนุนการเรียนการสอน และการจัดฝึกอบรมด้านสะเต็มศึกษา โดยมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในทุกระดับ ตั้งแต่ชั้นประถมฯไปจนถึงอุดมศึกษา รวมถึงบุคลากรที่อยู่ในสายอาชีพต่างๆ เพื่อให้สามารถบูรณาการความรู้ และเข้าถึงศาสตร์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง สามารถเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต "3 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันการศึกษาในระดับชั้นต่างๆ มาจัดค่ายที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กว่า 200 ครั้ง โดยมีเครือข่ายรวมทั้งสิ้น 72 โรงเรียน ซึ่งเราสามารถจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาโดยออกแบบตามความต้องการของแต่ละโรงเรียนในหลากหลายรูปแบบทั้งในและนอกคณะวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ศูนย์ความเป็นเลิศ MUSC-STEM EDUCATION ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับทั้งความเป็นสากลและบริบท ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมแบบ DIYการทดลอง การสำรวจ Project-based learning ตลอดจนการจัดกิจกรรมแบบ Challenge หรือการแข่งขัน เป้าประสงค์หลักไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าหรือทำตามกระแส แต่อยู่ที่การสร้างคุณค่าของการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการเรียนรู้และสามารถออกแบบการเรียนรู้ตามศักยภาพของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมของของเราเป็นที่รู้จักและยอมรับเป็นอย่างมาก ดังนั้น เป้าหมายต่อมาคือ มุ่งสู่ระดับนานาชาติเพื่อยกระดับมาตรฐานกิจกรรมและสร้างเครือข่ายแชร์ทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่การยอมรับแล้ว จะทำให้ผลงานที่เราทำ สามารถส่งผลกระทบในวงกว้างขึ้นต่อไป โดยหลังจากที่เปิดตัวศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการ เราได้ประเดิมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการด้านสะเต็มศึกษาระดับนานาชาติของโครงการ EASTEMในการต่อยอดกระบวนการจัดการศึกษาผ่านการบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์" รศ.ดร.วรรณพงษ์ว่า หลักการสะเต็มศึกษาเป็นการเรียนรู้ที่เน้นปฏิบัติ เชื่อมโยงศาสตร์ การยึดโยงกับการนำไปใช้ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถร่วมกันวิเคราะห์และเข้าใจปัญหา ออกแบบคำตอบของปัญหา และได้มีโอกาสลงมือทำตลอดจนสื่อสารออกมาให้เข้าใจได้ จากผลสำรวจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่านายจ้างต้องการลูกจ้างที่ถึงพร้อมทั้งในด้านสมรรถนะ และความสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ ซึ่งเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สังคมต้องการ และด้วย platforms ของสะเต็มศึกษาที่ศูนย์ความเป็นเลิศ MUSC-STEM EDUCATION ได้ถูกเริ่มขึ้นนี้ น่าจะส่งผลต่อการยกระดับการเรียนรู้และการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะที่มหาวิทยาลัยมหิดล แต่จะขยายวงกว้างสู่ระดับประเทศ และโลกใบนี้ต่อไป ฐิติรัตน์ เดชพรหม  นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)  งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป  สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา