ถามนร.ได้อะไร ขณะมีแต่ทำลายขวัญกำลังใจครู เดินหน้าเรียกร้องแก้ไขพ.ร.บ.ศึกษาชาติ คืนใบประกอบวิชาชีพครู ลั่นต้องคงแท่ง “สพฐ.” จี้ยกเลิกคำสั่งคสช. เตรียมยื่นหนังสือถึงทุกพรรคในแต่ละจังหวัด ขับเคลื่อนจนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้อง ดร.สมพงษ์ ปานเกล้า รองประธานที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูภาคใต้กล่าวว่า แกนนำสมาพันธ์ครูภาคใต้ได้ประชุมรวมตัวพิทักษ์สิทธิ์ดูแลครูคู่นักเรียน เพื่อปรึกษาหารือกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) จะปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และได้ศึกษาข้อมูลในการปรับปรุงแล้วไม่ส่งผลว่า นักเรียนและเยาวชนได้อะไรจากการปรับปรุงดังกล่าว มีแต่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเสียขวัญกำลังใจ และขอให้เดินหน้าเรียกร้อง ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องการขอคืนใบประกอบวิชาชีพครู ไม่เอาใบรับรองความเป็นครู ขอตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษากลับมาคืนมา ไม่เอาตำแหน่งครูใหญ่ ขอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ และขอให้มีการปรับโครงสร้างของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค รวมถึงขอแยกงานบุคคลออกจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และขอให้รัฐสภา และนายกฯ ยกเลิกคำสั่งที่ 19/2560และที่ 16/2560ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยขอเสียงโหวดจากสมาชิกตัวแทนสมาพันธ์ครูภาคใต้ กว่า150ชีวิตที่มารวมตัวกัน ซึ่งมติโหวต100 % ด้านนายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวว่า องค์กรครูที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ มองว่าโดยรวม ศธ.มีธงจะยุบ สพท.แน่นอน เพียงแต่เห็นองค์กรครูออกมาเคลื่อนไหวจึงชะลอไว้ และถ้าพลังองค์กรครูอ่อนแอหรือหลงกลเมื่อใด เชื่อแน่ว่า กระทรวงจะเดินหน้าปรับโครงสร้างยุบสพท.ทันที เพื่อให้กลุ่มองค์กรครูมีการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ จะล่ารายชื่อครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำแบบสำรวจเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากครูและบุคลการทางการศึกษา กว่า4แสนคนทั่วประเทศ ฟังเสียงส่วนใหญ่ ประกอบกับการจัดทำข้อเสนอต่างๆ ว่าโครงสร้างควรจะเป็นอย่างไร เชื่อมั่นว่าครูจะเห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช. และขอให้ประชาสัมพันธ์แบบสอบถามเพื่อให้ครูได้ตอบแบบสอบถามกันอย่างทั่วถึงและจะนำข้อมูลจากแบบสอบถามเพื่อนำเสนอต่อไป นายประทุมกล่าวว่า สำหรับโครงสร้างกระทรวงนั้น ยืนยันว่า จะขอเป็นโครงสร้างเดิม คือคงแท่ง สพฐ.ไว้เหมือนเดิม และได้นำเสนอยกเลิกกฎหมาย2ฉบับแล้ว คือ พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ตามคำสั่งที่ 16/2560ยกเลิกทั้งฉบับ ส่วนคำสั่งที่ 19/2560 ปรับปรุง ยกเลิกเฉพาะ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 โดยจะขอแก้ไขเป็นรายมาตรา ที่เน้นแก้ไขงานซ้ำซ้อนกับ กศจ. ที่เกี่ยวกับงานบุคคล หลังจากนั้นจะมอบหมายผู้รับผิดชอบประสานงานกับแกนนำพรรคการเมืองทุกพรรค นายอุกฤษ  สิทธิฤทธิ์ กรรมการสภามนตรีสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวว่า หากมีการปรับปรุงโครงสร้าง การพัฒนา สถานศึกษา ไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และการได้รับความร่วมมือจะน้อยลง รวมทั้งประเทศต้องลงทุนกับสิ่งปลูกสร้าง ครุภัณฑ์ใหม่อีกหลายพันล้าน จากการสอบถามครูในสมาพันธ์ครูภาคใต้ มีความเห็นว่าให้คงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไว้ เนื่องจากไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป ผู้บริหารสถานศึกษา ครูสะดวกในการติดต่อประสานงานได้ ดูแลนักเรียนเต็มศักยภาพ และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถดูแลบุคลากรในสถานศึกษา นักเรียนได้อย่างทั่วถึง หลักสำคัญในการปรับโครงสร้างแต่ละหน่วยงานจะต้องมีกรอบแนวคิดที่ตรงกัน วิเคราะห์พิจารณาภารกิจความจำเป็นก่อนโดยยึดหลัก3ประการ คือ1.ประโยชน์ของผู้เรียนและผู้รับบริการเป็นหลัก มีเงื่อนไขในการปฏิบัติงานได้ดี นักเรียนมีคุณภาพ ประชาชนที่รับการบริการมีความพึงพอใจ 2.ประโยชน์ของทางราชการ มุ่งเน้นปฏิบัติภารกิจของกระทรวง เรื่อง การจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย ตัดทอนส่วนที่เป็นงานซ้ำซ้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 3.ประโยชน์ของข้าราชการในเรื่องขวัญ กำลังใจ สวัสดิภาพ ซึ่งจากการที่จะปรับปรุงโครงสร้าง จะยุบ เขตพื้นที่ ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และหลังจากการประชุมพบปะหารือในครั้งนี้ จะยื่นหนังสือกับตัวแทนพรรคกับทุกพรรคในแต่ละจังหวัดและจะมีการขับเคลื่อนต่อไปจนมีการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว