วันที่ 16 พ.ย.62 ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งข้อสังเกตโครงการ'ชิม ช้อป ใช้'ว่า...“ชิมช้อปใช้” อาจเป็นผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจไทย​ในระยะยาว 1) โครงการ "ชิมช้อปใช้" เป็นการใช้เงินที่รวมในรายจ่ายงบประมาณรัฐบาล​ ​3.2 ล้านๆบาท ​อยู่แล้ว โดยรัฐบาลจะเก็บภาษี (ดูดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ) จำนวน 2.73 ล้านๆบาท และไปกู้มาสมทบการขาดดุล​ 4.69 ​แสนล้านบาท​ ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโต 2.8% เงินที่ใช้ในโครงการ ชิมช้อปใช้​ (3 เฟส)​ ประมาณ 22,000 ล้านบาท​ จึงไปลดโครงการการลงทุน​อื่นๆ ของรัฐบาล​ ซึ่งอาจมีประโยชน์มากกว่า​การใช้จ่ายในโครงการนี้​ แล้วหมดไป 2) เป็นความเข้าใจผิดของรัฐบาล ที่คิดว่าเงินชิมช้อปใช้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้​ เพราะการคิดเรื่องกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ เราต้องคิดถึงขนาดรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด​ หักด้วยเงินภาษีที่รัฐบาลเอาออกจากระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเงินกระตุ้นก็คือ 4.69 แสนล้านบาท​ ว่าจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งมีขนาด 17.8 ล้านๆบาท​ เท่าไร และหากนับเฉพาะเงินโครงการ ชิมช้อปใช้​ จะคิดเป็น​เพียง 0.12% ของ GDP​ เท่านั้น ซึ่งเปรียบเสมือนหยิบเม็ดทรายขว้างลงไปในทะเล แล้วหวังว่าน้ำทะเลจะกระเพื่อม 3) เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลในโครงการ ชิมช้อปใช้​ ทั้ง​ 3 เฟส​ ดูเหมือนเป็นการแจกเงินเพื่อหาเสียงล่วงหน้า​ เพื่อให้คน​ 15 ล้านคน​ รู้สึกดี​ ได้เงินฟรีๆ​ จากรัฐบาล (แต่ความจริงเป็นเงินที่รัฐบาลไปกู้มา​ เพราะงบประมาณขาดดุลฯ ต้องเก็บภาษีจากประชาชนคืนในอนาคต)​ รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาล​ แต่จะทำให้นิสัยแย่ลง อาจทำงานน้อยลง​ รอเงินแจกจากรัฐบาลมากขึ้น​เรื่อยๆ​ หากทำเช่นนี้​ไปนานๆ​ วันหนึ่งประเทศไทยอาจเหมือน​ เวเนซุเอลา ที่เคยร่ำรวยส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 2 ของโลก ปัจจุบันล่มจมไม่มีจะกิน...แม้​ องค์กร​ IMF​ ก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วย​ กับโครงการ​ชิมช้อปใช้​ ของรัฐบาลไทย 4) รัฐบาลควรส่งเสริมให้ประชาชนทำงานมากๆ​ (มีวันหยุดไม่มากเกินไป​ เพราะเรายังยากจน)​ คนไทยจึงจะมีผลผลิต​มากๆ​ มีรายได้มากขึ้น​ โดยใช้จ่ายบริโภคน้อยลง​ แต่ออมเงินมากขึ้น​ เพื่อนำไปฝากไปลงทุน ประเทศไทยจึงจะเจริญเติบโต​ในอัตราสูงขึ้น ประชาชนไทยจึงจะมีอนาคต​ มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น​ การส่งเสริมให้ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น​ เพื่อนำไปใช้จ่ายแล้วหมดไป​ จึงเป็นเรื่องที่ผิด​ ไม่ถูกต้อง​ รัฐบาลไม่ควรทำ ครัวเรือนไทยโดยรวม​เป็นหนี้กว่า 13​ ล้านๆบาท​​ คิดเป็น​ 78.7% ของ​ GDP​ ซึ่งสูงมาก​ นับเป็นที่​ 2 ในเอเชีย การเพิ่มหนี้ครัวเรือนขึ้นอีก​ จะทำให้ประเทศไม่เจริญเติบโต​ และอาจล้มละลายได้​ในอนาคต