สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สกสว.หนุนทีมวิจัย ม.ศิลปากร เดินหน้าใช้กระบวนการวิจัยงานศิลปะพลิกโฉมเมืองกรุง หลังประสบความสำเร็จจากการออกแบบประติมากรรมฝาท่อระบายน้ำริมคลองโอ่งอ่าง พร้อมเดินหน้าพัฒนาทุนทางศิลปวัฒนธรรมย่านเยาวราชโดยใช้งานวิจัยอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสมกับชุมชน สกสว.นำทีมนักวิจัยและสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพมหานคร ชมงานศิลปะบนฝาท่อระบายน้ำ 5 จุด ในโครงการวิจัย "การออกแบบประติมากรรมบนพื้นที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน" ซึ่งล่าสุดทาง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร เริ่มนำไปใช้ปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง รศ.ดร.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บอกว่า สกสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้งานวิจัยพัฒนาสังคม โดยฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ สกสว. ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยโครงการ "การออกแบบประติมากรรมบนพื้นที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน" แก่ รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา วิถีชีวิต และการค้าของชุมชน รวมถึงลักษณะทางศิลปกรรมของสถานที่สำคัญในอดีตและโบราณสถานที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง เพื่อค้นหาแนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยใช้งานศิลปะเป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราว ทางด้าน รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ทำงานวิจัยทำให้พบข้อมูลว่า ปัจจุบันสภาพความเป็นเมืองเริ่มส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบริเวณเกาะรัตนโกรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะย่านเยาวราช พบว่านอกจากจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวจำนวนมากแล้ว จากการสำรวจยังพบว่าเริ่มมีผู้ค้าชาวจีนในย่านเยาวราชมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งการเข้ามานั้น เริ่มส่งผลกับวิถีชีวิตและวัฒธรรมของคนพื้นถิ่น ทำให้ย่านเยาวราชเสี่ยงที่จะสูญเสียอัตลักษณ์วัฒนธรรม จากนั้นจึงริเริ่มงานวิจัยโดยพิจารณาสภาพแวดล้อม และเริ่มลงพื้นที่สำรวจโดยจุดแรกคือทางเดินริมคลองโอ่งอ่าง ศึกษาถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ทำให้เห็นว่าในแต่ละช่วงทางเดินริมคลองสามารถติดตั้งงานศิลปะได้หลากหลายลักษณะ จึงเสนอแนวทางการออกแบบงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ทั้งงานประติมากรรมและงานออกแบบศิลปะ 3 มิติ โดยเสนอให้ใช้รูปแบบงานศิลปะหลากหลายร่วมกัน เพื่อช่วยให้ทางเดินนี้มีองค์ประกอบทางศิลปะที่เป็นเอกภาพและเกิดทัศนียภาพที่งดงาม และเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดทางเดินริมน้ำสายวัฒนธรรม จึงแบ่งรูปแบบการออกแบบงานศิลปะออกเป็น 6 รูปแบบ ประกอบด้วย ประติมากรรมลอยตัว ประติมากรรมนูนต่ำ ม้านั่ง ฝาท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภค ศิลปะกราฟฟิตี้ และรั้วกันทางเดินริมน้ำ ส่วนฝาท่อนั้นได้ออกแบบไว้ 5 แบบ คือลายสวัสดี ลายพาหุรัด ลายพระนคร ลายคลองโอ่งอ่าง ลายสัมพันธวงศ์ โดยที่มาของลวลายนั้นล้วนมาจากกระบวนการวิจัยที่ให้ชุมชนเข้ามาสะท้อนอัตลักษณ์ ดึงจุดเด่นของแต่ละชุมชนถ่ายทอดผ่านงานศิลปะ รศ.ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า การพัฒนาย่านเยาวราชในอนาคตจำเป็นต้องศึกษาเพื่อวางแผนและปรับปรุงทิศทางให้เกิดความยั่งยืน โดยปัจจุบันชุมชนเก่าแก่ที่ยังเกาะตัวอยู่รวมกัน และคงความเป็นตัวตนของชุมชนจึงมีไม่มากนัก โดยชุมชนที่มีศักยภาพและความต้องการในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับสูง ได้แก่ ชุมชนเจริญไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระดาษไหว้เจ้า ชุมชนนานา แหล่งขายยาสมุนไพรจีนที่ปัจจุบันเป็นแหล่งรวมนักกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม และชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและถูกไล่รื้อถอน แต่รวมตัวกันเป็นชุมชนเข้มแข็งที่อนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์