คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น
“พระอาจารย์สมภพ สกลนคร” ที่ว่านี้ คือ พระอาจารย์สมภพ โชติปญฺโญ วัดนิพเพธพลาราม และวัดไตรสิกขาทลามลตาราม (บ้านฝาง) ตำบลบ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร ที่เคยเขียนถึงนั่นแหละครับ
ผมกำลังติดตามฟังท่านทางยูทูบอยู่ เพราะทึ่งในหลายเรื่อง เช่น ท่านจบแค่ ป.4 (เคยบวชเป็นเณร สอบตกนักธรรมตรี) ปัจจุบัน เป็นพระภิกษุ สร้างวัด 2 วัด คือ วัดนิพเพธพลาราม (เนื้อที่ประมาณ 40-60 ไร่) และวัดไตรสิกขาฯ (เนื้อที่หลายร้อยไร่) ทั้งสองวัดอยู่ที่จังหวัดสกลนคร (ห่างจากตัวจังหวัดออกไป ราว 100 กม.)
ท่านเรียนจบแค่ป.4 แต่พูดได้หลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาแขก (ตะวันออกกลาง) และภาษากรีซ เป็นต้น
ที่ผมรู้สึกทึ่งอย่างยิ่ง คือ ภาษาบาลี (ในพระไตรปิฎก) ท่านยกมาอ้างได้ทันทีในระหว่างเทศน์ (หรือบรรยายธรรม) และคำผญาเก่าๆ ของอีสาน
ผมบวชเรียนมานาน ได้เรียนบาลีและไปเรียนต่างประเทศมานาน ยังไม่เคยเห็นใครมีความสามารถอย่างนั้น ตัวเองได้เรียนบาลีถึงประโยค 8 (ป.ธ.8) สอบ ป.ธ.9 ตกปีหนึ่ง ก็ยังไม่สามารถ ที่จะยกบาลีในพระไตรปิฎกมาอ้างได้ทันทีอย่างนั้น แม้จะเขียนโน้ตขึ้นธรรมาสน์ด้วย ก็คงทำไม่ได้
พระอาจารย์สมภพ ยกบาลีกล่าว ทั้งที่เป็นบาลีในท้องเรื่องและบาลีในพระคาถา (โดยเฉพาะในบทสวดมนต์) พร้อมกับบอกเลขเล่ม เลขหน้า และเลขข้อ (เลขกำกับย่อหน้า) ในพระไตรปิฎกได้ด้วย
โดยไม่ลืมที่จะแปลด้วยทุกครั้ง
พระอาจารย์สมภพไม่เคยเรียนบาลีในหลักสูตรของคณะสงฆ์เลย เมื่ออ่านพระไตรปิฎกครั้งแรกที่ซื้อไปอ่าน ก็อ่านฉบับแปลนั่นแหละภายหลังจึงมาอ่านเทียบเคียงกับฉบับบาลี (เข้าใจว่า ท่านคงมีชุดแปลเป็นภาษาอังกฤษของประเทศอังกฤษตรวจสอบเนื้อหาเมื่อไม่เข้าใจด้วยแหละ)
ที่คิดว่า ท่านคงอ่านด้วยวิธีอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะพยายามตามฟังท่านกล่าวในโอกาสต่างๆ ด้วยอยากรู้วิธีการอ่านพระไตรปิฎกของท่าน
ท่านอ่านพระไตรปิฎก ด้วยความกระหายอยากรู้คำสอนในพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง ระหว่างที่อ่านอยู่นั้นก็ฝึกสมาธิ (ตามคำสอนในพระไตรปิฎก) ไปด้วย วิธีสมาธิภาวนาในพระไตรปิฎกที่ท่านปฏิบัติตาม ไม่ใช่วิธี “พุทโธ” ของพระอาจารย์มั่น-พระอาจารย์ชา ของไทย หรือวิธีใดๆ ของสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ทั้งสิ้นแต่เป็นวิธีที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกล้วนๆ (ระยะหลัง ก่อนจะมรณภาพ “หลวงปู่” (หลวงปู่จูม) หรือบิดาของท่านที่ไปบวชอยู่ที่วัดหนองป่าพง ก็หันมาปฏิบัติ (สมาธิภาวนา) ตามท่าน ก็พอใจว่าการเจริญสมาธิก้าวหน้าดี)
น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ก่อนได้มาอ่านพระไตรปิฎกนั้นพระอาจารย์สมภพไปนับถือศาสนาคริสต์ (ตามคำชักชวนของเพื่อน ได้อ่านพระคัมภีร์ไบเบิลจนเจนจบ จนกระทั่งจะได้เข้าพิธีบวชเป็นบาทหลวง ตามคำชักชวนของชาวคริสต์ จะเข้าพิธีบัพติศมา (อาบ หรือ สรงน้ำ) อยู่แล้ว
พระอาจารย์สมภพกล่าวว่า ครอบครัวพ่อแม่หรือสายเลือดของท่าน เป็นสัมมาทิฏฐิ (เป็นชาวพุทธ) มาก่อน โยมแม่ของท่านเป็นชาวญวน (เวียดนาม) ชอบนั่งสมาธิ ท่านมีใจผูกพันกับชาวลาว (ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง) อย่างแนบแน่น
ภาษาญวนและภาษาลาว (แบบภูไท หรือ “ผู้ไท”)
ท่านก็พูดได้
ครั้งหนึ่ง ท่านกล่าวว่า (เมื่อได้ฝึกสมาธิ) ได้ปรากฎคำบาลี ในพระไตรปิฎกให้เห็นขึ้นมาเอง ผมก็เลยนึกว่า สมาธิหรือฌาน คงก่อให้เกิด “ปฏิสัมภิทา” (ความรู้แตกฉานในด้านภาษา?)แต่มานึกอีกที ก็คิดว่าเป็นความอัจฉริยะทางด้านภาษาของท่านกระมัง? เพราะดูเหมือนว่า ท่านจะเรียนรู้ทางภาษาได้ง่าย ไม่ว่าจะไปอยู่กับชนชาติใด ท่านก็สามารถที่จะเรียนรู้ภาษาของชนชาตินั้นได้ไม่ยาก
พระอาจารย์สมภพเคยไปทำงานที่ประเทศในตะวันออกกลางเป็นเวลา 6 ปี จบแค่ ป.4 แต่ได้ตำแหน่งเป็นซูเปอร์ไว้เซอร์ (ผู้ควบคุมงานสร้างสนามบิน) กินเงินเดือนกว่า 35,000บาท (เมื่อก่อนพ.ศ.2528) เป็นหัวหน้าของคนเรียนจบทางเอนจิเนียร์ (วิศวกรรม) หลายชาติหลายภาษา มีคนงานในบังคับบัญชาหลายพันคน
เมื่อหันมาเป็นชาวพุทธอีกครั้งหนึ่ง ก็ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะบวชเป็นพระภิกษุ เพราะไปเห็นพระฝรั่งที่วัดหนองป่าพงที่ฉันอาหารในบาตร (อย่างพระกรรมฐาน) เอะใจว่า ทำไมฝรั่งซึ่งเป็นชาวคริสต์จึงหันมานับถือพุทธ ทุ่มเทได้อย่างนั้น
พระอาจารย์สมภพอุปสมบท เมื่อปี 2528 (อายุ 36 ปี) ที่วัดเนินพระเนา จังหวัดหนองคาย ปีนั้นท่านยังเดินเหินได้เป็นปกติ แม้ขาจะหักทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งหักตั้งแต่สมัยเป็นเด็กเล็ก อีกข้างหนึ่ง หักเมื่อประสบอุบัติเหตุทางรถ (คราวนั้นมีคนตาย 21 คน ท่านถูกตัดม้ามทิ้ง ผ่าตัดยุบยับไปหมด พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 41 วัน) มาเป็นคนพิการหลังบวชด้วยอัมพาตซีกซ้าย (เส้นโลหิตในสมองแตกขณะเทศน์อยู่บนธรรมาสน์) ต้องนั่งรถวีลแชร์ (Wheel chair) ตั้งแต่บัดนั้น เข้าใจว่าเป็นอัมพาตประมาณปี 2540 (ผมยังตามฟังท่านบอกปีที่เป็นอัมพาตอยู่แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบว่าท่านเป็นอัมพาตเมื่อไร) นับถึงปีนี้ (2562) น่าจะประมาณยี่สิบปีที่ท่านนั่งรถวีลแชร์ หรืออาจจะมาก-น้อยกว่านั้น?
รถวีลแชร์ที่ท่านใช้นั่งนั้น ฝรั่งชาวฝรั่งเศศซื้อถวายเมื่อเดินทางมากราบท่านขณะที่ท่านอยู่เจริญสมาธิป่าคอนสาน จ.ชัยภูมิ (ถ้าจำคลาดเคลื่อนต้องขออภัย เพราะปะติดปะต่อที่ได้ฟังท่านเล่าทางยูทูบ) ทุกวันนี้ ท่านก็ยังนั่งรถวีลแชร์เหมือนคนพิการ แต่ก็ทำงานหนัก (ไปเทศน์และบรรยายธรรม) ยิ่งกว่าคน (และพระ) ปกติ เฉลี่ยวันละ 4-5 แห่ง เดินทางโดยรถปีละกว่าแสน กม. (ไม่รวมการเดินทางโดยเครื่องบิน)ครั้งหนึ่ง (เมื่อปี 2537?) ท่านรับนิมนต์ไปบรรยายธรรมที่สหรัฐอเมริกา (โดยเฉพาะวอชิงตัน) และที่ประเทศแคนาดา ประมาณ 30 กว่าแห่ง
เท่าที่ได้ติดตามฟัง เงินที่เขาถวายในการไปเทศน์และบรรยายธรรม ท่านรับมาใช้จ่ายดูแลผู้ปฏิบัติธรรมที่วัดของท่าน (พระอาจารย์ไม่ยอมให้มีตู้รับบริจาคและการเรี่ยไรใดๆ ทั้งสิ้น) วัดนิพเพธพลารามนั้น ท่านสร้างด้วยเงินที่ท่านเก็บสะสมสมัยทำงานก่อนบวช ไม่เคยบอกบุญใคร งานพัฒนาวัด มุ่งปลูกป่าและฟื้นฟูป่า สร้างสรรค์แหล่งน้ำเป็นด้านหลัก มีการสร้างศาลาโล่ง และกุฏิที่พักเท่าที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติธรรม ซึ่งมีพระและญาติโยมไปอยู่ปฏิบัติธรรมครั้งละเป็นพันคน เฉพาะค่าอาหาร (วันละ 1 มื้อ) ตกวันละประมาณ 5-6 หมื่นบาท การปฏิบัติธรรมที่นั่น ค่อนข้างจะเข้มงวด เริ่มตั้งแต่ ตี 2 มีการทำวัตรและนั่งสมาธิ จบลงด้วยการเทศน์อบรมของท่านทุกวัน
ผมติดตามฟังพระอาจารย์สมภพ เพราะรู้สึกว่า ท่านมีความจำเป็นเลิศในเรื่องคำสอนในพระไตรปิฎก ท่านสามารถยกบาลีอ้างอิงอยู่ตลอดเวลา ศัพท์บาลีบางคำ ท่านแยกแยะให้เข้าใจความหมายได้ชัดขึ้น บางคำก็เป็นความหมายใหม่ ถ้ายังเข้าใจยากสำหรับคนอีสานทั่วไป ท่านก็มักจะใช้ภาษาอีสานหรือภาษาลาวช่วยอธิบายซ้ำอีก เช่น คำว่า รู้กายในกาย หรือ กายานุปัสสนาในสติปัฏฐาน 4 ตรงกับภาษาอีสานว่า “ฮู้เมือคิง” เป็นต้น (“คิง” คือกาย “ฮู้เมือ” คือรู้สึกตัว)
บางเรื่องที่ได้ฟังพระอาจารย์สมภพพูด ทำให้ต้องกลับไปหาอ่านพระไตรปิฎกอีกครั้ง ได้รับคำตอบดีๆ ครับ เช่นเรื่องกัปป์ (หรือกัลป์) ที่กล่าวถึงอายุของโลกว่า ในที่สุดโลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ก็จะถึงวาระหมดอายุ คือจะต้องดับสลายไปด้วยเหตุต่างๆ
กว่าจะมีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ ก็กินเวลาหลายหมื่นหลายแสนกัปป์ (คือหลายโลกที่เราอยู่อาศัยอย่างทุกวันนี้นั่นแหละ)
เมื่อกลับไปอ่าน “พรหมนิมันตนสูตร” ในพระไตรปิฎกก็ได้พบว่า “พระพรหม” หรือเทวดาชั้นพรหม 16 ชั้นนั้น แม้แต่พรหมชั้นต่ำสุดก็มีอายุนานแสนนาน ได้เห็นพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาตรัสรู้องค์แล้วองค์เล่า จนคิดว่าตัวเองมีชีวิตนิรันดร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ เทวดาชั้นพรหมก็ยังเป็นแค่ “สัตว์โลก” (ในภพระดับ “กามาวจร”) คือยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในจักรวาลต่างๆ ยังไม่พ้นไปจากโลก
ได้คำตอบว่า “สังสารวัฏฏ์” หรือ วัฏฏสงสาร” ( การเวียนตายเวียนเกิดในภพต่างๆ) มีความสัมพันธ์กับเรื่อง “กรรม”อย่างแนบแน่นอย่างไร ทำให้เห็นว่า จิตนั้นเป็นกระแสพลังงานอย่างหนึ่ง กระแสพลังงานนั้นมีลักษณะเป็น “แสง” (อาภัสสรํ” หรือ ปภสสรํ”) ซึ่งจะเห็นได้ด้วยฌานเท่านั้น
ฌานนั้น เกิดมีได้กับคนทุกชาติทุกศาสนา ได้พบว่ามีฝรั่งหลายคนมาบวชทำสมาธิกับพระอาจารย์กรรมฐาน มีฝรั่งหลายคณะมาปฏิบัตธรรม (สมาธิภาวนา) กับพระอาจารย์สมภพ ได้ทราบว่า เมื่อจะมาตั้งสมาคมบาลีปกรณ์” (PTS) แปลพระไตรปิฎกในภาษาบาลีนั้น ศาสตราจารย์ริส เดวิส (และภรรยา) ได้หันมานับถือพุทธศาสนา เป็นชาวพุทธแล้ว นักแปลบางท่านมาบวชเป็นพระภิกษุในศรีลังกาจนตลอดชีวิต
ได้ทราบจากคำบอกเล่าของพระอาจารย์สมภพว่า ฝรั่งที่ท่านไปบรรยายธรรมให้ฟังนั้น มีอาการ “เงี่ยหู” ฟัง เหมือนกลัวจะฟังไม่ชัดหรือกลัวว่า เรื่องที่ฟังจะหล่นหายไป อาการเงี่ยหูฟังนั้นภาษาอีสานใช้คำว่ “เหงี่ยงหูฟัง” (คือตะแคงหูข้างหนึ่งฟังอย่างตั้งใจ) นั่นเอง
นึกถึง ร.4 (พระวชิรญาณเถระ) ที่เรียนบาลีเพราะอยากจะอ่าน (แปล) พระไตรปิฎกโดยตรง ไม่ใช่เพื่อสอบเอาชั้นเอาภูมิ ท่านจึงเรียนบาลีอย่างจริงจัง สามารถอ่านพระไตรปิฎกได้และแต่งบาลีได้
นึกถึงอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ที่ได้เห็นแต่ร่องรอยความแตกฉานในธรรมและมีความจำเป็นเลิศ ลักษณะความจำของท่านเป็นอย่างที่ฝรั่งใช้คำว่า Photographic Mind (มีความจำเหมือนการถ่ายรูป)
แต่ผมก็ยังไม่เคยเห็นผู้ที่มีความจำได้มากมายอย่างพระอาจารย์สมภพ ยังไม่เคยเห็นนักเทศน์และนักบาลีท่านใดจำคำบาลีในพระไตรปิฎกได้มากมายอย่างพระอาจารย์สมภพ อย่างมากที่เรียกว่า “พระไตรปิฎกเคลื่อนที่” ก็เห็นมีแต่จำคำสอนในพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ซึ่งอาจจะอ้างเล่ม อ้างข้อ อ้างหน้า ได้เท่านั้น
ยอมรับว่า พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ ที่จังหวัดสกลนคร เป็นบุคคลพิเศษที่หาได้ยากอย่างยิ่ง