ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “นัยแห่งความเป็นจริงของโลก ณ ปัจจุบัน อาจเคลือบแคลงไปด้วยนัยแห่งการมองเห็นและการมองไม่เห็นผ่านอุบัติการณ์แห่งสายตาของจิตสำนึก...บางขณะเราอาจบอดใบ้ด้วยแก่นสารของศรัทธาที่ไม่หลงเหลืออยู่...แต่บางขณะเรากลับลืมตาตื่นขึ้นมาด้วยแรงขับเคลื่อนของการมองเห็นจากดวงตาแห่งกิเลสตัณหาที่หลงผิด/ โลกแห่งการดำรงอยู่มักสื่อความหมายอันจริงแท้แห่งการหยั่งภาวะของโลกวันนี้ออกมาเช่นนี้..มันเต็มไปด้วยปริศนาของนัยความหมายและข้อสรุปอันแม่นตรงของสัจธรรมซึ่งนั่นคือบ่อเกิดอันสำคัญของกาลเวลาต่อการสรรค์สร้างอารยะธรรมอันสลับซับซ้อนในนามของชีวิต...เหตุนี้เราจึงต่างเป็นกันและกัน ในความหมายของใครและใครอันยากจะหยั่งรู้ถึงนิยามอันแท้จริง...จนกระทั่งข้อพิสูจน์ของกาลเวลาจะเล่นแร่แปรธาตุสัญญาณของทัศนะอันซ่อนเร้นไว้อย่างล้ำลึกนั้นออกมา..ก็เพียงนั้น...” งานเขียนเชิงวิพากษ์สังคมแห่งความหมายอันเป็นจริงของมนุษย์ ในยุคเริ่มต้นแห่งนัยศรัทธาของโลกสมัยใหม่อันหมายถึงศตวรรษที่20...ที่มุมมองการเรียนรู้ของโลกปรับเปลี่ยนจากนัยของการพาฝัน...อันเปี่ยมเต็มไปด้วยค่าความหมายของสิ่งหลอกตาหลอกใจ..เข้าสู่ยุคของการสื่อสารภาวะของโลกแห่งชีวิตด้วยความเป็นจริง อันกอปรไปด้วยเหตุผลของความน่าเชื่อถือที่เป็นไปได้/เป็นความจริงที่แท้ที่ทายท้าต่อการพิสูจน์ของมนุษย์ยุคใหม่...ในชุดความคิดแห่งการสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมที่พุ่งเป้าสู่ความสมจริงที่ปราศจากการเสแสร้งแกล้งทำ ตลอดจนเงื่อนไขสำคัญอันบังเกิดจากเหตุบังเอิญใดๆ.. “THE COUNTRY OF BLIND/ดินแดนคนตาบอด.”..คือผลงานการสร้างสรรค์ในห้วงขณะนั้น...ในปี1904..โดย “เอช. จี .เวลส์ “ (H.G.WELLS) นักเขียนแนววิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกชาวอังกฤษ...ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี1866-1946/เขาเขียนทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี บทความ ตลอดจน สารคดี..เป็นจำนวนมาก/...ความโดดเด่นแห่งการเขียนของเขาทำให้ได้รับการยกย่องในวงการวรรณกรรมให้เป็นบิดาแห่งนวนิยายวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ “จูลส์ เวิร์น” (Jules Verns)และ “ฮิวโก้ เกิร์นส์แบ็กค์” (Hugo Gernsbacher)...ผลงานด้านวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ของเขามีชื่อเสียงและรู้จักกันดี..ไม่ว่าจะเป็น “The Time Machineในปี1895/The Invisible Man” ในปี1898(ซึ่งกำลังถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในเวอร์ชั่นใหม่อีกครั้งในปีนี้/2019)/ หรือ “The War of The World” ในปี1898...ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจะถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ให้ชาวโลกได้ชมกันอยู่เนืองๆ สำหรับนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง “ดินแดนคนตาบอด” นี้..ตีพิมพ์ครั้งแรกที่นิตยสาร “The Stand Magazine”...ความพิเศษที่น่าจับตาของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่..บริบทแห่งความคิดอันเป็นภาพรวมแห่งการเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงบางช่วงบางตอนจากต้นฉบับเดิมที่เขียนไว้เมื่อปี1904/แต่ครั้นถึงปี1939...อีก 35 ปีต่อมา.. “เวลส์”..ได้ตัดสินใจแก้ไขเรื่องราวของเขาใหม่...แม้ว่านี่จะเป็นเพียงการแก้ไขนิยายขนาดสั้นเรื่องหนึ่ง แต่เขาก็เพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไปใหม่ถึง 3,000 คำ..และถูกตีพิมพ์ออกมาเพียง280ฉบับเท่านั้น...ที่สำคัญคือการแก้ไขฉากจบแบบใหม่เข้าไปถึง 2,000 คำและเพิ่มประโยคแทรกในเนื้อเรื่องอีก 13 แห่ง/เป็นการปรับคำเพื่อความกระชับและสละสลวย...ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนคำศัพท์ที่ใช้บรรยายโลกของคนตาบอด และแก้ไขรายละเอียดในบทสนทนา รวมถึงการบรรยายลักษณะของตัวละครบางตัวเพื่อให้เรื่องราวทั้งหมดสอดรับกับฉากจบแบบใหม่... “ฉันไม่เคยต้องการที่จะมองเห็น” “แต่ว่าสีสัน รูปร่าง และระยะล่ะ” “ฉันไม่เคยใช้สีสันและดวงดาวของคุณ” “แต่หลังจากที่เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้น เธอไม่อยากเห็นนูเนซ ไม่อยากเห็นว่าเขาเป็นอย่างไรหรือ?” “แต่ฉันรู้ว่าเขาเป็นเช่นไร และการเห็นเขาอาจทำให้เรามีความต่างซึ่งกันและกัน เขาอาจจะไม่เป็นอย่างฉันคิดเลยก็ได้ ...ฉันรู้ว่าความงามในโลกของคุณเป็นความงามที่ซับซ้อนและน่าหวาดกลัว แต่ความงามของฉันนั้นเรียบง่ายและชิดใกล้..ฉันปรารถนาให้นูเนซมองเห็นแทนฉัน เพราะเขาไม่รู้จักความกลัว” “แต่ว่าความงามนี้” “บางทีมันอาจสวยงาม ...แต่ถ้าเห็นแล้วมันคงน่ากลัวมาก” นั่นคือ สาระสำคัญในบทปิดท้ายอันถือเป็นข้อสรุปในเชิงคาดคะเน...ของเวลส์ ที่มีต่อหนังสือเล่มนี้และโลกที่ก่อตัวด้วยความคิดอันเปิดกว้างแต่ชวนสับสนย้อนแย้งของยุคสมัย/...ข้อคำถามต่างๆถูกตั้งโจทย์ขึ้นมาตั้งแต่ต้นจนจบ...ปรากฏการณ์ของความคลุมเครือแผ่ขจายอำนาจออกไปสู่ภาวะแห่งการตัดสินใจที่จะเป็นหรือไม่เป็นสิ่งใดอยู่ซ้ำๆ...นั่นคือปฐมบทแห่งการก้าวย่างสู่ยุคสมัยของความคลุมเครือและการพิพากษาที่กลายเป็นเงื่อนไขลึกลับต่อการตัดสินใจโดยแท้... “ด้วยความคิดแต่แรกเริ่มที่ฝังลึกอยู่ในหัวของเขาว่า..หุบเขาที่กำลังถึงวาระสุดท้ายนี้ถูกโอบล้อมด้วยภูเขา ชั่วขณะหนึ่ง “นูเนซ”ก็ไม่ได้ยินเสียงใดๆ ความสนใจทั้งหมดของเขาพุ่งรวมไปสู่สิ่งที่ตาของพวกเขามองเห็น การถล่มและแรงกระแทกที่เกือบจะทำให้สิ้นสติปะทะเข้าที่หน้าอกของเขาอย่างจัง “เมดินา –ซาโรต”ผวาเข้าหาหินผาตะกายมือเกาะกุมไว้แน่น ในเสี้ยววินาทีนั้น เขาตื่นตะลึงต่อภาพทะเลแห่งหินผา ผืนดิน เศษซากของทางเดิน กำแพง และบ้านเรือน ที่ไหลลงสู่สายน้ำเชี่ยวกราก ซึ่งกำลังมุ่งหน้ามาทางเขา กระแสลมพัดหอบเอากระแสน้ำเข้ามาจนทำให้พวกเขาเปียกปอน พวกเขาถูกกระหน่ำด้วยโคลนและเศษหินที่แตกหัก คลื่นดินและทรายกระเพื่อมตัว และย้อนกลับไปเล็กน้อยก่อนจะหยุดนิ่ง...หลังจากนั้น กลุ่มเสาที่เกิดจากหมอกควันก็พวยพุ่งขึ้นสู่เบื้องบนช้าๆและน่าเกรงขาม พวกมันลอยสูงขึ้นไปรวมตัวกันข้างบนม้วนตัวและแผ่กระจาย กลายเป็นหมอกควันเคืองตาจนมองไม่เห็นสิ่งใด...ความเงียบโรยตัวปกคลุมโลกอีกครั้ง และหุบเขาคนตาบอดก็ถูกซ่อนเร้นไปจากตัวเขาตลอดกาล” นัยแห่ง “ดินแดนคนตาบอด” ทิ่มแทงจิตสำนึกเราอยู่เสมอ มันตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างความจริง กับความลวง ที่โลกต้องเผชิญหน้า และเหล่ามวลมนุษย์ยุคใหม่ต่างสับสน อึดอัด ต่อการตีความ และดำเนินบทบาทสาระในหน้าที่รับผิดชอบแห่งภาระหน้าที่ของตัวเอง...หลายๆครั้งเราต่างถูกสอนสั่งและบังคับให้ต้องสยบยอมกับความมืดบอดที่ทั้งไร้หัวใจและความรัก...โดยไม่อาจแข็งขืนและต่อต้าน...การมองเห็นด้วยสายตาที่มองเห็นแต่พร่ามัวด้วยอคติ...เดินสวนทางอยู่กับความมืดบอดที่จำเป็นต้องเสแสร้งในบางคราว เพื่อจะลบเลือนความจริงที่เป็นจริง...ซึ่งขึงพืดความเป็นตัวตนที่น่าละอายอยู่ตรงหน้า...เงื่อนไขแห่งภาวะเหล่านี้คือจุดตายของความเป็นชีวิตของตัวละครแห่งโศกนาฏกรรมยุคใหม่ที่ดิ้นไม่หลุดจากบ่วงทับซ้อนที่โถมทับตัวเอง และพร้อมจะพังทลายลงได้ในทุกขณะจิต ด้วยโครงสร้างอัปลักษณ์แห่งการสาบศรัทธาอันขมขื่นยิ่งนี้ “ดินแดนคนตาบอด”..เชื่อมโยงถึงนัยชีวิตที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขของการกระทำโดยเกฌฑ์กำหนดของชีวิตที่ยากต่อการสรุปความ...เรื่องราวของ “นูเนซ” ผู้ซึ่งเดินทางไปยังเทือกเขาอันดิสในอเมริกาใต้ เพื่อหวังพิชิตยอดเขาสูงแต่เขาได้พลัดตกลงไปยังหุบเขาแห่งหนึ่งที่ถูกตัดขาดจากพื้นที่ชีวิตส่วนอื่นของโลกอย่างสิ้นเชิง ...ที่นั่นคือดินแดนของคนตาบอดแต่กำเนิดมารุ่นต่อรุ่น..พวกเขาล้วนต่างไม่มีประสบการณ์แห่งการมองเห็นใดๆ พวกเขาไม่สามารถเข้าใจความหมายทั้งการมองเห็นและตาบอด..นั่นหมายถึงว่าเมื่อการมองเห็นไม่มีความสำคัญอะไร...การตาบอดก็เลยไม่มีความหมายใดๆด้วย/..เหตุนี้ “นูเนซ” จึงเป็นคนเดียวในเมืองนี้ที่สามารถมองเห็น.. โลกแห่งประสบการณ์ภายนอก/เขาพยายามเล่าเรื่องโลกแห่งการมองเห็นให้คนในหุบเขาฟัง...แต่คนเหล่านั้นหาได้สนใจแต่อย่างใดไม่...เนื่องจากพวกเขาล้วนเชื่อว่าโลกแห่งการดำรงชีวิตอยู่คือพื้นที่ที่มีหินครอบอยู่แห่งนี้เท่านั้น ที่สุดนูเนซก็จำต้องใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่นั้น..และได้แต่งงานกับ “เมดินา-ซาโรต” ลูกสาวของ “จาคอบ” ผู้ที่เขาเป็นลูกจ้างทำงานด้วย..แต่ชีวิตของเขาหาได้มีความสุขอย่างราบรื่นแต่อย่างใดไม่..ทั้งพ่อตาของเขาและพลเมืองของเมืองตาบอดทั้งหลายต่างตราหน้าว่าเขาโง่เง่าและปัญญาทึบ อันเนื่องมาจากการมีดวงตา...เพราะฉะนั้นการเยียวยาแก้ไขจึงมีอยู่เพียงวิธีเดียวคือทำลายดวงตานั้นให้บอดใบ้ลงเสีย/ซึ่งนูเนซย่อมไม่ยอมและตัดสินใจที่จะหนีไปเสียจากดินแดนแห่งนี้...นั่นหมายรวมโดยข้อสรุปอันสำคัญที่ว่าการมองเห็นกลับเป็นโทษทัณฑ์...ทั้งหมดทั้งสิ้นในสาระเรื่องราวนี้...เหมือนหนึ่งว่าเวลส์ ปรารถนาจะคัดง้างกับอำนาจมืดที่ไม่ยอมมองเห็นแสงสว่างใดๆในนามของชีวิต..มันคือโครงสร้างของการหลอมรวมและเหลาความคิดผู้คนให้คิดแต่ในวิถีของการจมปลักอยู่กับภาวะเดิมๆที่ห่มคลุมด้วยการมองเห็นอยู่ภายใต้ความมืดมนที่ได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างซ้ำๆมาชั่วนาตาปี/ซึ่งนั่นคือแบบจำลองแห่งทรรศนะทางการเมืองของโลกในทุกยุค ทุกสมัย...ในทุกๆเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติที่เลือกจะควักดวงตาแห่งความสัตย์ซื่อยุติธรรมออกจากเบ้าตาอันเป็นนัยชีวิตของตนเอง และพร้อมที่จะเลือกจ่อมจมและตายไปกับหายนะทางจิตวิญญาณที่แม้จะตกอยู่กับความมืดบอดและไร้เกียรติยศเพียงใด..แต่การรุกคืบเชิงผลประโยชน์ในผลลัพธ์ที่สนองตัณหาชีวิตกลับเป็นวิสัยทัศน์สำคัญต่อการตัดสินใจที่จะดำรงอยู่ในสถานะและบทบาทอันสมประโยชน์นั้นอย่างมืดมนและลืมตัวลืมตน.. “ในดินแดนคนตาบอด...คนตาเดียวคือพระราชา/..คนตาบอดถามว่า เขายังคิดว่าตนเอง...มองเห็นอยู่อีกหรือไม่ “ไม่แล้ว”เขาบอก...เรื่องนั้นมันงี่เง่า...คำนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย...ยิ่งกว่าไม่มีเสียอีก..” ที่สุดแล้วสิ่งที่เราพบและได้รับเป็นเครื่องตอบแทนจากหนังสือเล่มนี้ก็คือ”ภาวะในภาวะ”แห่งข้อคำถามที่ว่า...แท้จริงเราต่างเป็นคนในลักษณะไหนกันแน่ในวันนี้.?/...หากเราตอบได้อย่างจริงใจแท้จริงหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง...เรื่องราวทั้งหมด..ย่อมมีแรงกระตุ้นอันสำคัญต่อการรับรู้ทางปัญญาญาณอย่างแท้จริง..ความหลุดลอยจากเงื่อนไขของตรรกะคือ...บทเรียนของการเรียนรู้อันเจ็บปวดที่สื่อถึงทั้งความไม่เข้าใจ รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกซึ่งขุ่นมัวที่เป็นเสียยิ่งกว่าความมืดบอดอันงกๆเงิ่นๆและน่าสะพรึงกลัว....มันไร้ซึ่งความรัก ความยินดีปรีดา และความจริงใจจากหัวใจดวงใดๆในโลกนี้อย่างแท้จริง..ไม่ว่าจะเป็น ณ เมื่อใดก็ตาม.. “มโนราห์”ผู้แปลหนังสือเล่มนี้...เต็มไปด้วยจังหวะจะโคนในทางความคิด และภาษาสื่อสารที่ได้แปลความออกมาก็ล้วนเต็มไปด้วยความมุ่งหมายที่เปี่ยมไปด้วยพลังทางปัญญา ...ซึ่งก็ได้มีส่วนส่งผลให้หนังสือเล่มนี้และขบวนความคิดโดยรวมของ “เอช.จี.เวลส์.”กลายเป็นดั่งสมบัติของกาลเวลาที่ยังคอยปลุกเร้าและเตือนสติของเราอยู่เสมอ/ ยิ่งในขณะที่สังคมแห่งบ้านเกิดเมืองนอนของเรา/...ต่างเหมือนตกอยู่ตรง..ระหว่างเขาของกระบือบ้าบางตัว...ซึ่งไม่เคยมองเห็นสติปัญญาทั้งของตนเองและคนรอบข้างเลยแม้เพียงนิด.. “ฉันบอกว่าภูเขากำลังถล่มลงมา มันกำลังร่วงลงมาทับพวกคุณ...แม้แต่ในตอนนี้ ขณะที่พวกคุณจับฉันอยู่ตรงนี้/..แต่ปัญญาเบื้องบนของพวกเรา ซึ่งรักและคุ้มครองพวกเรา...ไม่มีทางล่มสลายลงได้”